ตามรอยวิถีวัฒนธรรม “ไทลื้อ” บ้านเมืองลวงเหนือ

แค่เพียงไม่กี่นาทีจากตัวเมืองเชียงใหม่ มาเส้นทางหลวงหมายเลข 118 สายเชียงใหม่-เชียงราย สู่ อ. ดอยสะเก็ด ภาพทุ่งนาบ้านเรือนให้เราได้เห็นวิถีความเป็นชนบทที่ใกล้ตัวเมือง ที่ให้เราได้สัมผัสแล้ว
“หนองบัวพระเจ้าหลวง แม่กวงเขื่อนใหญ่ ห้วยฮ่องไคร้ศูนย์ศึกษา ล้านนานหัตถกรรม”
พื้นกว่า 757 ตร.กม.อันโอบล้อมด้วยผืนป่า ที่ราบลุ่ม ขุนเขาสายน้ำแม่กวง ที่หล่อหลอมกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้ง ลัวะ ไทโยนก ไทลื้อ ไทเขิน ไทใหญ่ อินเดีย จีนฮ่อ ปะกากะญอ และขมุ ที่ยังธำรงรักษาวิถีทางวัฒนธรรมประเพณีอย่างดีงาม ให้เราได้เปิดประตูท่องเที่ยวมิติใหม่สู่ดินแดน…อ.ดอยสะเก็ด
วัดศรีมุ่งเมือง คือจุดนัดพบแรกที่มีชาวไทลื้อบ้านลวงเหนือ รอคอยต้อนรับคณะสื่อมวลชน ด้วยการฟ้อนต้อนรับแขกแก้ว ผู้มาเยือนบ้านลวงเหนือ ชาวไทลื้อบ้านเมืองลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เล่าขานสืบต่อกันมาว่า “บรรพบุรุษของเรา ได้อพยพลี้หนีภัยสงคราม มาจากสิบสองปันนา” จากหลักฐานที่พบเสื้อบ้าน(หลักใจกลางหมู่บ้าน)ได้จารึก วันเดือนปีที่สร้างหมู่บ้านนั้นไว้เมื่อ วันเสาร์ที่ 3 เม.ย. พ.ศ. 1932 ถือว่าเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้
จนได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพันนาฝั่งแกน และสร้างบ้านสานเมืองจนเป็นปึกแผ่นเรียบร้อยแล้ว จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านเมืองลวงเหนือ” ซึ่งแต่เดิมบางคนเรียกว่า “บ้านลวงเหนือ” สันนิษฐานว่าคงได้ตั้งชื่อตามชื่อถิ่นฐานเดิมที่เคยได้อาศัยในสิบสองปันนา และยังพบว่าในสิบสองปันนาก็มีชื่อ “เมืองลวง” คนไตลื้ออาศัยที่นั่นเช่นกัน มีอีกคำว่า “ลวง”หากเราได้ฟังแล้วอาจจะเข้าใจว่าหลอกหลวงอะไรประมาณนั้น แต่ถ้าเป็นทางภาษาไทลื้อ คำว่าลวงนั้นหมายถึง สัตว์ประเสริฐที่มีรูปร่างคล้ายมังกร และนาค มีเขา หนวด เท้า และเกล็ดที่สง่างาม มักจะปรากฏตัวเล่นบนท้องฟ้าในเวลาที่ฟ้าแลบ ซึ่งคนไทลื้อมักจะพูดกันว่าในเวลาที่ฟ้าแลบว่า “ลวงเล่นฝ้า”
ศูนย์รวมจิตใจของชาวไทลื้อเมืองลวงเหนือก็คือ วัดศรีมุงเมือง เป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่ พ.ศ.1954 ซึ่งพระเจ้าสามฝั่งแกนเป็นผู้สร้าง และทำนุบำรุงโดยให้ค่ากัลปนาจากวัดต่างๆทั้ง 4 วัดรายรอบมาให้แก่วัดนี้ ปัจจุบันได้อยู่ในการบูรณะปรับภูมิทัศน์บริหารปกครองโดย พระครูปลัดอรรถสิทธิ์ ชินว์โส ได้สร้างสรรค์พุทธสถานแห่งนี้ขึ้นได้บูรณะพระเจดีย์ใหม่ชื่อว่า พระเจดีย์นพีสีพิศาลมงคล และบูรณะพระวิหารให้เป็นเอกลักษณ์ของไทลื้อมีชื่อว่า พระมหาวิหารไทลื้อ ปุญมากโร ที่ต้องรวบรวมศาสตร์และศิลปะ หลายหลากผสมสานกันจนเป็นอัตลักษณะแบบเฉพาะไทลื้อ
นางพรรษา บัวมะลิ หรือ ครูปุก ประธานกลุ่มไทลื้อเมืองลวงเหนือ นำคณะเดินเที่ยวชมภายในหมู่บ้านมายังที่ตั้งของ เสื้อบ้าน หรือเรียกว่า เสาหลักบ้าน ได้ใช้ปูนปั้นพอกหุ้มเสาหลักไว้มีลักษณะคล้ายๆเจดีย์ พร้อมทั้งจัดทำฐาน และทำรั้วล้อมสูง 60 นิ้ว เมื่อถึงเดือน เม.ย. วันที่ 16 เม.ย.ของทุกปี ชาวบ้านจะประ กอบพิธีทำบุญเสื้อบ้าน ให้เทวดาปกปักษ์รักษาร่มรื่น ชุมชนอยู่เย็นเป็นสุข
บ้านเรือนที่ปลูกติดกัน แล้วเดินมาที่ “บ้านข้าวแคบ” บ้านของ นางปิยวรรณ สุวรรณชื่น บัวมะลิ(ป้าผัน) และนายวิโรจน์ สุวรรณชื่น บัวมะลิ(ลุงโรจน์) แต่ก่อนนั้นจะนิยมทำข้าวแคบทานกันในช่วงฤดูหนาว จะใช้ข้าวสารแช่น้ำ 1 คืน นำมาโม่จนละเอียดเหลวเป็นน้ำแป้ง ผสม น้ำ เกลือและงาดำ ตักนำหยดลงบนผ้าขาวที่ปิดกระทะต้มน้ำร้อนไว้ พอแป้งที่เทสุกขาวก็ใช้ไม้ตักขึ้นตากลงบนแผ่นตับหญ้าคาเรียงแถวให้สวยงามนำตากแดด เวลาทานจะปิ้ง หรือทอดทานก็ได้ คนไทลื้อสมัยก่อนว่าใช้ข้าวแคบแอนไฟ( ปิ้งหรือ ย่าง) ทานกับข้าวนึ้งร้อนๆเลยได้รสอร่อยทีเดียว
เดินกันต่อมาที่ บ้านตุ๊กตาบ้านลวงเหนือ ของ นายพีรพงค์ บุญจันทร์ต๊ะ หรือ นายโถ จบจากคณะวิจิตรศิลป์ มช. ด้วยความเป็นคนช่างคิดช่างประดิดประดอยสร้างสรรค์ ได้นำความน่ารักของเหล่าสัตว์ต่างๆ มาทำเป็นตุ๊กตาตัวเล็กๆ โดยใช้ไม้เนื้ออ่อนในท้องถิ่น แต่งสีใส่ลวดลายให้ตุ๊กตาดูมีชีวิตชีวา น่าเอ็นดู อาทิ ลูกแกะ,กระต่าย,ไก่,กบ,ยีราฟ ,เสือ,เม่น,นกยูง เมื่อใครๆได้เห็นก็อดใจในความน่ารักเสียมิได้

ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยไตลื้อบ้านใบบุญ บ้านใบบุญคือเรือนในรูปแบบสถาปัตย์ไทลื้อ และหลองข้าวอุ้ยติ๊บ เราถอดรองเท้าก้าวขึ้นบันไดสู่ชั้นบนมี แม่อุ้ยขจร พ่ออุ้ยอินศร ผูกข้อมือด้วยเส้นฝ้ายขาวอวยพรชัยให้เป็นสิริมงคลเป็นภาษาไทลื้อฟังออกบ้างไม่ออกบ้าง ดูมีศักดิ์สิทธิ์พลังอบอุ่นดี มาที่บริเวณเรือนมุ่งคาข้างล่าง นางไผทอง บัวชม ช่างแกะสลักลวดลายพันธุ์พฤกษาบรรจงลงน้ำหนักตอก สลักเสลา แกะส่วนไม่สำคัญออกเน้นลวดลาย สิวแต่ละตัวขนาดต่างๆบ่งบอกถึงการทำงาน ให้เราได้เห็นคุณค่าจากแผ่นไม้ธรรมดา จนกลายเป็นผลงานหัตถกรรมที่ทรงคุณค่า

การทอผ้า นางอุสาหะ บุญชุ่มใจ จากแต่ก่อนผู้หญิงชาวไทลื้อจะทอผ้าไว้ใช้กันเองในครอบครัว จะใช้ฝ้ายที่ปลูกมาปั่นเป็นเส้นด้าย แล้วจึงนำไปทักทอ ปัจจุบันผ้าทอไทลื้อยังคงใช้ในเทศกาลงานประเพณีที่สำคัญและจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวไว้เป็นของฝากของที่ระลึก
ทางด้านภูมิปัญญา ด้านอาหารการกินคนลื้อ “ส้มตำไทลื้อ” นางสาวสุพิศ บุตรกุมาร จากช่างฟ้อนคนงามมาเป็นมือตำส้มลื้อมีความพิเศษตรงที่ตำใส่กระเทียม พริก มะขาม โขลกให้เข้ากันใส่น้ำปู๋ใส่มะละกอตำพอตำเสร็จ สีจะออกดำๆก็เนื่องจากที่ใสน้ำปู๋ “ข้าวจี่” โดยนำข้าวเหนียวปันๆทาด้วยไข่เสียบไม้มาปิ้งบนไฟอ่อนๆจนเหลืองหอมๆ จะสังเกตได้ว่าคนลื้อจะไม่ใช้น้ำมัน “ไข่ป่าม” เป็นวิธีที่นำไข่ใส่เครื่องปรุงรสแล้วใส่ลงในกระทงนำไปปิ้งบนไฟอ่อนจนสุกเหลืองหอมกลิ่นของใบตองอีกด้วย
ผักที่ปลูกหลังบ้านริมรั้วนำมาแปรรูปเป็น “น้ำผัก” เอาไว้ตำน้ำพริก เรียกว่า “น้ำพริกน้ำผัก” เมนูอร่อยสุด ท้ายถือว่าเด่นสุดในงานนี้ก็คือ “ผัดไท”ที่เป็นพระเอกของงานนี้ แม่ครัวผ่องศรี เทพมาลา มือผัดไทยขั้นเทพผัดกันหลายครั้งหลายรอบและก็อร่อยทุกครั้ง ชนิดแบบลงตัวที่เข้ากันจนไม่ต้องปรุงเลย พร้อมกับการบรรเลงกีต้าโฟร์คซองคำเมืองอันไพเราะราวๆ เหมือนเปิดจากแผ่นอย่างไรอย่างนั้น แล้วถึงเวลาที่ต้องล่ำลาเรามาร่วมถ่ายภาพหมู่ไว้เป็นที่ระลึก แล้วออกเดินทางกันต่อ
ข้อมูลจาก : สืบสานวัฒนธรรมวิถี 4 ไท ลื้อ วัดศรีมุงเมือง บ้านเมืองลวงเหนือ ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยไตลื้อบ้านใบบุญ 142 หมู่ 4 ทต.ลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ 50220 โทร.053-496264, 081-9519320,www.baanbaioon.com

ร่วมแสดงความคิดเห็น