“คนเมืองเชียงใหม่” ในวันที่เปลี่ยนไป

เราเคยรับรู้ว่า ผู้คนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในแถบภาคเหนือตอนบนนั้นมีเชื้อชาติมาจากชาวไทยวน หรือ ไทยโยน กลุ่มชนขนาดใหญ่ที่เคยอาศัยอยู่ในดินแดนที่ลุ่มแม่น้ำปิงมาตั้งแต่อดีตกาล
พื้นที่ใน 8 จังหวัดภาคเหนือของไทย ในอดีตเคยเป็นอาณาจักรล้านนาที่ยิ่งใหญ่ไพบูลย์ รุ่งเรืองด้วยศิลปะและวัฒนธรรม มีเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการค้า การเมืองการปกครอง แม้ภายหลังอาณาจักรล้านนาจะถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย แต่ผู้คนพลเมืองในพื้นที่ดังกล่าวก็ยังเรียกตัวเองอย่างภูมิใจว่า “คนเมือง”

มีผู้รู้สันนิษฐานถึงที่มาของคำว่า “คนเมือง” ไว้หลายประการด้วยกัน บ้างก็ว่าเพื่อประกาศว่าตนเป็นผู้มีอารยธรรม มิได้อาศัยอยู่ในป่าในดง ข้อสันนิษฐานนี้ถูกโต้งแย้งอยู่มากด้วยว่าคนเมืองนั้นเรียก “เมือง” (บ้านเมือง) ว่า “เวียง” ถ้าเป็นดังนั้นก็ต้องเรียกว่า “คนเวียง” จึงจะถูก บ้างก็ว่าในยุคที่พม่าเข้าครอบครองนครเชียงใหม่ มีชาวพม่าเดินปะปนอยู่มากจนไม่รู้ว่าใครเป็นใคร จึงต้องเรียกตนเองว่า “คนเมือง” เพื่อจำแนกให้รู้พวกรู้เหล่า บางท่านก็ว่าคำว่า “เมือง” มาจากชื่อเรียกภาษาเขียนว่า “ตัวเมือง” เรียกภาษาพูดว่า “คำเมือง” ดังนั้นเจ้าของที่ใช้ภาษาจึงเรียกว่า “คนเมือง” อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเรื่องนี้ยังหาข้อสรุปแน่ชัดไม่ได้

คนเมืองที่อาศัยอยู่ในเชียงใหม่นั้น มาจากหลายเผ่าพันธุ์ ทั้งลัวะ มอญ ยวน ม่าน(พม่า) เงี้ยว(ไทยใหญ่) ยอง เขิน และกลุ่มอื่น ๆ โดยเฉพาะในยุคที่พระเจ้ากาวิละทรงกวาดต้อนผู้คนจากหัวเมืองใกล้เคียง จากเมืองยอง เมืองลื้อ เมืองวะ เมืองสาด เชียงตุง ขึ้นไปจนถึงสิบสองปันนาของจีนเพื่อมาสร้างเมืองใหม่เมื่อเกือบ 200 ปี (พ.ศ.2348) หรือที่รู้จักกันว่า “ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ด้วยเหตุนี้ทำให้ชาวเมืองเชียงใหม่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูง อย่างไรก็ตามแม้ว่าคนพวกนี้จะเดินทางมาจากดินแดนที่อยู่ห่างไกลเช่นสิบสองปันนาในจีน รัฐเชียงตุงในพม่า แต่ก็มีลักษณะทางภูมิศาสตร์คล้ายคลึงกัน ทำให้มีวัฒนธรรมพื้นฐานที่ไม่แตกต่างกันนักทั้งในเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิตรวมถึงภาษาพูด
ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ในอดีตที่เป็นเทือกเขาใหญ่น้อย มีเพียงแอ่งที่ราบหุบเขาซึ่งมีลำน้ำไหลผ่านเท่านั้นที่เหมาะสมต่อการสร้างบ้านเมือง การเดินทางติดต่อระหว่างชุมชนที่อยู่ในแอ่งต่าง ๆ นั้น เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะต้องข้ามขุนเขาและป่าดงยาวไกลกว่าจะถึง หากไม่ใช่พ่อค้านักเดินทางที่นิยมใช้วัวต่างม้าต่างเป็นพาหนะ ก็ไม่ใคร่มีใครได้ติดต่อกับโลกภายนอกมากนัก สภาพดังกล่าวบังคับให้คนเมืองต้องอยู่กับธรรมชาติตลอดชีวิต การเรียนรู้ว่าควรปฏิบัติอย่างไรจึงจะดึงเอาทรัพยากรมาใช้ประโยชน์ได้ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว จึงถือเป็นภูมิปัญญาเฉพาะของคนเมืองเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้สมุนไพร ด้านอาหารการกิน หรือ วิธีการดึงน้ำจากลำธารมาใช้ในการเกษตรกรรมที่เรียกว่า “ระบบเหมืองฝาย”
แต่ที่น่าสนใจเห็นจะได้แก่ การนับถือผี ถือเป็นแกนของวิถีชีวิตคนเมืองก็ว่าได้ เคยมีนักวิชาการบางท่านกล่าวว่า การสรุปว่าเมืองไทยมีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน อาจไม่ใช่คำกล่าวที่ถูกต้องทีเดียว เพราะชุมชนทางภาคเหนือของไทยมีการนับถือผีมาก่อน ดังนั้นศูนย์กลางน่าจะอยู่ที่ศาลผีหรือระบบผีในหมู่บ้านมากกว่า อย่างไรก็ตามขณะที่คนนับถือผีอย่างเข้มข้น อีกส่วนหนึ่งของชีวิตก็มีการนับถือพุทธศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ โดยนำมาผสมผสานกับความเชื่อเดิมได้อย่างกลมกลืน ทั้งพุทธและผีได้ก่อร่างวิถีที่เรียบง่ายให้แก่ชีวิตคนเมือง สันโดษและมีไมตรี รักที่จะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

คนเมืองล้านนากับการเลี้ยงผีดูเหมือนจะแยกจากกันไม่ออก เพราะนับตั้งแต่เกิดมาคนเมืองจะเกี่ยวพันกับผีมาตลอด เช่น เมื่อมีเด็กเกิดขึ้นในบ้านจะต้องทำพิธีเรียกขวัญ หรือที่คนเมืองเรียกว่า “ฮ้องขวัญ” เมื่อเวลาที่เด็กเกิดความไม่สบายร้องไห้ก็มักจะเชื่อว่า มีวิญญาณของผีตายโหงมารบกวนเด็ก คนเมืองยังเชื่อว่าขวัญของเด็กเป็นขวัญที่อ่อนภูตผีวิญญาณต่าง ๆ มักจะมารบกวนได้ง่าย ดังนั้นเมื่อเด็กไม่สบายก็จะต้องทำพิธีเลี้ยงผี หรือหาเครื่องลางมาผูกที่ข้อมือของเด็ก ปัจจุบันในแถบทางชนบทเรายังสามารถพบเห็นการกระทำแบบนี้อยู่

ที่บอกว่าคนเมืองมีความผูกพันเกี่ยวเนื่องอยู่กับการนับถือผีนั้น เราสามารถพบเห็นได้จากการดำเนินชีวิตประจำวันของคนเมืองเอง เช่น เมื่อเวลาที่ต้องเข้าป่าไปหาอาหารหรือต้องค้างพักแรมอยู่ในป่า คนเมืองมักจะต้องบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางเสมอ และเมื่อเวลาที่กินข้าวในป่าก็มักจะแบ่งอาหารให้เจ้าที่ด้วยเช่นกัน แต่สิ่งที่ดูเหมือนว่าคนเมืองเมื่อเวลาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือในป่า เมื่อเวลาที่ต้องถ่ายปัสสวะก็มักจะต้องขออนุญาตจากเจ้าที่ก่อนอยู่เสมอ เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าวิถีชีวิตของคนเมืองผูกผันอยู่กับการนับถือผี

ปัจจุบันดูเหมือนว่ารูปรอยและสภาพความเป็นคนเมืองจะลดน้อยถอยลงเรื่อย ๆ การเข้ามาของคนต่างถิ่นทั้งจีน แขก ฝรั่ง ที่มีบทบาทด้านการค้าทำให้ “คนเมือง” ในฐานะเจ้าของพื้นที่ดูไม่แตกต่างจากพลเมืองชั้นสอง ที่กล่าวเช่นนี้มีตัวอยางให้เห็นจากที่พ่ออุ้ย แม่อุ้ยเดินทางเข้ามาซื้อของในเมืองมักจะถูกมองว่าเป็นคนบ้านนอก ไม่รู้ภาษีภาษาและพานจะถูกหลอกได้ง่าย ๆ

ขณะที่การมาของเทคโนโลยีอันทันสมัยและสังคมเมืองที่เปลี่ยนไปจากเดิม ทำให้คนเมืองสมัยใหม่หันไปนิยมแฟชั่นจากกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็เห็นเด็กเชียงใหม่เห่อตามกระแส เด็กวัยรุ่นของเชียงใหม่คนไหน “อู้กำเมือง” ไม่เป็น หรือไม่เคยรู้เลยว่า “ถือผี” เป็นอย่างไร ก็ไม่ใช่เรื่องยิ่งใหญ่และสำคัญอะไรอีกต่อไป

ดังนั้นในระยะหลังเราจึงเห็นเด็กในเชียงใหม่แห่กันไปพูดภาษาไทยกลาง เล่นFacebookและส่ง Line กันมากขึ้น

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น