depa จับมือญี่ปุ่น ลุยพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ดึงจุดแข็งสองประเทศขยายผล ปั้นสมาร์ทซิตี้ทั่วประเทศ

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ร่วมกับ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นหรือ เจโทร (ประเทศไทย) JICA, UNDP กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน จัดงานสัมมนา “Thailand-Japan Collaboration Seminar: Towards ASEAN Smart City Network Development” เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่เป็นรูปธรรม ระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการสัมมนา

ในช่วงแรก ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวรายงานว่า ปัจจุบันหลายประเทศรวมไปถึงประเทศไทย ได้เล็งเห็นความสำคัญ และกำลังพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั้งการพัฒนาในประเทศของตนเอง และการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 32 ที่ผ่านมา ผู้นำอาเซียนได้ตกลงที่จะจัดตั้งเครือข่ายเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities Network: ASCN) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้ เทคโนโลยี ตลอดจนสร้างความร่วมมือในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะร่วมกัน
ด้วยเหตุนี้ เจโทรจึงเล็งเห็นถึงโอกาส ในการสร้างความร่วมมือ ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่เป็นรูปธรรมระหว่างไทยกับญี่ปุ่น รวมไปถึงเชื่อมโยงการดำเนินงานร่วมกัน กับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและควรให้การสนับสนุน เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน

การจะพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้ประสบความสำเร็จได้นั้น ปัจจัยหลักอยู่ 3 ประการคือ ประการแรกธุรกิจและประชาชนในท้องถิ่น จะต้องเกิดความต้องการและเรียกร้องให้เกิดเมืองอัจฉริยะขึ้น โดยจะอัจฉริยะในด้านไหนนั้น ขึ้นอยู่กับบริบทของท้องถิ่นอย่างแท้จริง ประการที่ 2 รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน และประการสุดท้ายคือความร่วมมือกันของภาครัฐทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ในรูปแบบ PPP ตามแนวทางประชารัฐ ทั้งนี้ ความร่วมมือในครั้งนี้ จะขยายไปถึงความร่วมมือในระดับนานาชาติ ทั้งในเวทีพหุภาคี หรือความร่วมมือแบบทวิภาคี ที่ไทยมีกับประเทศต่าง ๆ ด้วย

ด้าน พล.อ.อ.ประจิน กล่าวเปิดงานว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยในปีนี้จะดำเนินการเร่งด่วนใน 7 จังหวัด คือ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น กทม.ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ทั้งนี้ ยังมีแผนขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ภายในระยะเวลา 5 ปี
นอกจากนี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เพื่อดำเนินงานรายสาขาตามความจำเป็นในแต่ละพื้นที่ ภายใต้องค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งใน 6 อัตลักษณ์ คือ ชุมชนอัจฉริยะ สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ คมนาคมขนส่งอัจฉริยะ พลังงานอัจฉริยะ เศรษฐกิจอัจฉริยะ และการบริหารจัดการอัจฉริยะ

“การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตี้ เป็นเมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการ และการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากร โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชน ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองอยู่ดี มีสุข อย่างยั่งยืน ซึ่งการสัมมนาในครั้งนี้ จึงเป็นการจุดประกายความร่วมมือและจะเป็นต้นแบบในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในอนาคต เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นเมืองแห่งโลกดิจิทัลและนวัตกรรมต่าง ๆ รวมถึงการแก้ปัญหาอย่างชาญฉลาด ด้านพลังงานและการลดมลพิษในอา กาศ” พล.อ.อ.ประจิน กล่าว
ด้าน ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผอ.สนง.ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ในฐานะเลขานุการร่วมกับผอ.สนง.นโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (ผอ. สนข.) และผอ.สนง.นโยบายและแผนพลังงาน (ผอ.สนพ.) คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ กล่าวว่า ในการประชุมร่วมกันที่ผ่านมาทางคณะกรรมการฯได้เร่งดำเนินการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะตามพื้นที่ดูแลของแต่ละฝ่าย ได้แก่ depa ดำเนินการพัฒนาโครงการภูเก็ต สมาร์ทซิตี้ (Phuket Smart City) “ต้นแบบเมืองอัจฉริยะ” ภายใต้โครงการความร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และส่วนราชการท้องถิ่นใน จ.ภูเก็ต

โดยภูเก็ตได้มีการขับเคลื่อนต่อยอดโครงการไปแล้ว 4 ด้าน คือ ด้านการท่องเที่ยว (Smart Tourism) ด้านความปลอดภัย (Smart Safety) ด้านสิ่งแวดล้อม (Smart Environment) และ ด้านเศรษฐกิจ (Smart Economy) ล่าสุด depa ร่วมกับกลุ่ม Smart City Alliance ลงพื้นที่เทศบาลนครแหลมฉบัง และเมืองพัทยา เพื่อศึกษาถึงปัญหาและความต้องการของพื้นที่ ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนและหน่วยงานท้องถิ่น โดยเทศบาลนครแหลมฉบัง ให้ความสนใจเรื่องการเพิ่มความปลอดภัยให้รถโรงเรียน กวดขันวินัยจราจร บริหารจัดการสิ่งแวดล้อม น้ำท่วม และ ระบบ automated call centre
ด้าน สนข. ผลักดันให้ให้เกิดความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน Smart City พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ในมิติของโครงข่ายการให้บริการภาครัฐ การคมนาคมขนส่ง ความปลอดภัย การศึกษา พลังงานสะอาด การสื่อสารข้อมูล และสิ่งแวดล้อมที่ปราศจากมลภาวะ ส่วน สนพ.นั้น ได้ดำเนินการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ด้วยการขับเคลื่อนแผนด้านพลังงานของประเทศ ลดการใช้พลังงานสูงสุด ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมด้านพลังงานและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้การดำเนินการของคณะทำงานฯ ดังกล่าวได้พยายามดำเนินการโดยการบูรณาการทำงานกับทุกภาคส่วน เพื่อครอบคลุมการทำงานในทุกมิติ

ร่วมแสดงความคิดเห็น