ล่องแพแม่น้ำกก เดินป่าศึกษาธรรมชาติ เรียนรู้ในวัฒนธรรมไทลื้อ “โฮมสเตย์บ้านวังไผ่ไทลื้อ”

การเดินทาง การเรียนรู้ ในการท่องเที่ยวชุมชนไทลื้อบ้านวังไผ่ ใน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ นำเราไปร่วมเรียนรู้วิถีวัฒนธรรม ธรรมชาติ อีกบทเรียนที่เราสัมผัสได้ “โฮมสเตย์บ้านวังไผ่ ไทลื้อ”กิจกรรม “ล่องแพไม้ไผ่” แพลำหนึ่งนั่งได้ 5-6 คน จะมีผู้ควบคุมแพ 2 คน คนแรก ปั๋น เจริญพร หัวเรือ และท้ายแพ นายเงิน สละจิต นักดนตรี ด.ช.ยุทธศาสตร์ ศรีโสภา พร้อมขันโตกอาหารกลางวัน ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง จะเริ่มต้นล่องแพที่ “ที่ท่าเรือท่าตอน” สล้อบรรเลงเพลงล่องแม่ปิง แพล่องไปตามสายแม่น้ำกก
น้ำแม่กก มีต้นกำเนิดจากทิวเขาแดนลาว และทิวเขาผีปันน้ำตอนเหนือของเมืองกก จ.เชียงตุง ภายในอาณาเขตของรัฐฉานในสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ไหลเข้าสู่ประเทศไทยที่ช่องน้ำแม่กก อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ไหลมาเรื่อยๆ จนผ่านตัว อ.เมืองเชียงราย หลังจากนั้นก็ไหลลงแม่น้ำโขง ที่บริเวณสบกก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย มีความยาว 285 กม. ในประเทศไทย ยาว 130 กม. น้ำแม่กกยังอุดมสมบูรณ์ ด้วยปลามากมาย อาทิ ปลาแกง ปลาบัวส่อ ปลาซิว ปลามี ปลาสร้อย ปลากด ปลาปีกเหลือง ชาวบ้านยังใช้วิธีการจับปลา โดยวิธีการทอดแห ดักไซ ลากข่าย บนฟ้าครามมี นกนาง แอ่น ร่อนไปมา นกกระแต นกเป็ด และนกจาบคา กำลังทำรังที่ปลายกิ่งไม้ริมน้ำ ผ่าน”พระธาตุสบฝาง” ที่บรรจุพระนลาฏธาตุ(กระดูกในส่วนหน้าผาก)ของพระพุทธเจ้า พระธาตุสบฝาง ตั้งอยู่บนดอยสบฝาง บนฝั่งแม่น้ำกก ของ อ.แม่อาย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.923 ก็ 1600 กว่าปีมาแล้ว โดยพระเจ้าพรหมมหาราช เจ้าเมืองไชยปราการ ที่ได้สร้างเจดีย์เอาไว้บนยอดเขาดอยสบฝาง เพื่อบรรจุพระนลาฏธาตุของพระพุทธ เจ้า(กระดูกในส่วนหน้าผาก) ที่แบ่งมาจากการบรรจุพระธาตุ ลงในพระธาตุจอมกิตติ ของ จ.เชียงราย ในปัจจุบัน
ถัดมาที่ยอดเขา “พระธาตุเชียงรุ้ง” วัดพระธาตุแสงรุ้ง ต.แม่นาวาง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เดิมมีชื่อว่า “วัดป่าดอยกองมู” ซึ่งเป็นวัดร้างเก่าแก่อายุมากกว่า 1,400 ปี ผ่านท่าทรายหาดชมพู หาดทรายขาวทอดยาว ผ่านชุมชนหมู่บ้านใหม่หมอกจ๋าม “บ้านใหม่หมอกจ๋าม” เป็นหมู่บ้านที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินถึง 5 ครั้ง ภายใน 5 ปี ติดต่อกัน “บ้านใหม่หมอกจ๋าม” ปัจจุบันนี้ เดิมเป็น เมืองเก่า ได้ชื่อว่า “เมืองหมอกจ๋าม” ซึ่งแปลว่า “เวียงดอกจำปา” หรือ จำปี ในสมัย พระเจ้าพรหมมหาราช ปรากฏว่ามีซากปรักหักพัง และ ลักษณะของนครเมืองเก่าๆ ให้เห็นอยู่เมื่อปี พ.ศ. 2330 พม่าได้ยกกองทัพ มา ปราบปรามหัวเมืองไทลื้อ ไทเขินและ ในแว่น แคว้นล้านนา
โดยมี จ่อข่องหน่อรธา คุมพล มีจำนวน 5,000 คน ลงมาตีเมืองฝาง ซึ่งอยู่ตอนเหนือเมืองเชียงใหม่ ในคราวเดียวกัน เวียงหมอกจ๋ามก็ได้ถูกโจมตี จนสิ้นสภาพเดิมไป ต่อมาพม่าได้ยกพลเข้าตีเมืองป่าซาง และนครลำปาง ได้เข้าตีหลายครั้งแต่ตีเมืองไม่แตก จึงตั้งค่ายล้อมไว้ ครั้งนั้นความได้ทราบถึงสมเด็จพระพุธทยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดให้ กรมพระราชวังบวรฯ ยกกองทัพหลวง มีจำนวนคน 60, 000 ขึ้นไปช่วยเมืองนครลำปาง และ เมืองป่าซาง ฝ่ายพระเจ้ากาวิละ เห็นกองทัพหลวงยกมาช่วย ก็ยกออกตี พม่าจนได้ ชัยชนะ ต่อมาอาณาเขตในแคว้นล้านนา ก็อยู่ในความปกครองของไทยทั้งหมด และ อยู่กันเป็นสุขด้วยดีตลอดมา
ตะวันคล้อยลงต่ำ แพค่อยๆรอด “สะพานบ้านแม่สลัก” สะพานที่เชื่อมระหว่างเชียงใหม่-เชียงราย อีกฝั่งเป็น จ.เชียงราย ป่ารอบๆเป็นไผ่สีเขียวสด เป็นสัญญลักษณ์บอกว่าเราได้เข้าสู่ “ชุมชนไทลื้อบ้านวังไผ่” แล้ว แพมาสิ้นสุดท่าเรือบ้านวังไผ่ มีชาวบ้านมารอต้อนรับสู่บ้านวังไผ่ ไทลื้อบ้านวังไผ่ หมู่ที่ 8 ต.ท่าตอน อ.แม่อาย ที่ได้อพยพมาจากสิบสองปันนา ทางตอนใต้ของประเทศจีน ต่อมาได้ย้ายตั้งถิ่นฐานที่เมืองยอง หลังจากนั้นได้ย้ายมาอยู่บริเวณบ้านวังไผ่ที่ปัจจุบัน
คำว่า”วังไผ่” มาจากภาษาไทลื้อ มีแม่น้ำกกไหลผ่านหมู่บ้าน “วัง”แปลว่า น้ำไผ่ และมีต้นไผ่ที่ล้อมรอบหมู่บ้าน ด้วยมีสภาพป่าที่เต็มไปด้วยป่าไผ่ และแม่น้ำกกไหลผ่าน หลังจากนั้นได้อพยพเข้ามาก่อตั้งหมู่บ้าน ได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านวังไผ่ “ เมื่อปี พ.ศ.2527 โดยมี นายแสงเปา เจริญพร เป็นผู้นำชุมชนคนแรก
คณะเดินทางมาถึงที่บ้านวังไผ่แล้ว มากราบสักการะ เจ้าบ้าน “เจ้าหาญหล้า” เพื่อสักการะบอกกล่าวเจ้าที่ผู้ปกปักษ์ดูแลรักษาหมู่บ้านวังไผ่ ที่ใจกลางหมู่บ้านวังไผ่ เจ้าบ้านโฮมสเตย์ทั้ง 5 หลัง มาต้อนรับเข้าที่ พัก การบายศรีสู่ขวัญผูกข้อมือจากผู้อาวุโส คนเฒ่าคนแก่ของหมู่บ้าน ร่วมรับประทานชมการแสดงของเยาวชน ชมการรำดาบ
เช้าวันใหม่ไปชมสายหมอกที่บ้านเนินเขา ที่เป็นที่ตั้งของ “วัดพระธาตุสบงาม” “พระบรมธาตุเจดีย์ศรีภูมิรัตนหิรัญ” (พระบรมธาตุเจ้าสบงาม) ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง มองเห็นทิวทัศน์แม่น้ำกก หมู่บ้านได้อย่างสวยงาม เติมพลังแล้วเดินป่าโดยขึ้นรถไปส่งที่จุดเริ่มต้น เดินเท้าลัดเลาะไป เส้นทางป่าระยะทาง 3 กม. ป่าต้นน้ำบนความสูงจากระดับน้ำทะเล 500 เมตร ที่ตามหา ”บุก” และการยังชีพในป่าเรียนรู้พืชผักในป่า
ส่วนหัวบุก ต้นใต้ดิน หรือ หัว (corm) บุกเป็นที่สะสมอาหารมีลักษณะ เป็นหัวขนาดใหญ่ มีรูปร่างพิเศษหลายแบบแตกต่างกันอย่างเด่นชัด นอกจากนี้ ผิวของเปลือกก็มีลักษณะสีแตกต่างกันมากด้วย เรียน รู้ศาสตร์ป้องกันตัว “กงฟูไทลื้อ” ศิลปะการต่อสู้ของไทลื้อ ที่รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น มาเรียนรู้ภูมิปัญญาของชุมชนไทลื้อของ นายดี วงศ์ใหญ่ ที่ทำบุกมานานกว่า 10 ปี โดยการแปรรูปเป็น บุกก้อน บุกเส้น บุกผง กระบวนการทำบุก และสุดท้ายก็ได้ชิมยำบุกกันอย่างอิ่มหนําสําราญใต้ร่มต้นจามจุรีใหญ่ริมน้ำกก เป็นบริเวณเรียนรู้การทำอาหารว่าง ข้าวต่องก่อง หรือ ข้าวขนมวง แต่เราเรียกกันว่าโดนัทไทลื้อ นักท่องเที่ยวได้ลองปั้นแป้ง ทอดกันเอง จะทานเปล่าๆหรือทานกับน้ำเชื่อม ถัดมาชิม “ข้าวซอยน้อย” งานนี้อิ่มเอมกันทั่วหน้า จนน้ำหนักขึ้นเลย
“ก่อนที่เราต้องจากลา เดินทางกลับด้วยความประทับใจ อบอุ่น ด้วยมิตรไมตรีที่ไม่รู้ลืม”
ติดต่อสอบถาม / โฮมสเตย์บ้านวังไผ่ไทลื้อ ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ โทร. 088-2608426, 085-4401926 Facebook : ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทลื้อ โฮมสเตย์ไทลื้อ บ้านวังไผ่

ร่วมแสดงความคิดเห็น