ขับเคลื่อนพลังประชารัฐ จับมือภาครัฐ-เอกชน-ปชช.

b5-w9h6-12พ่อเมืองเชียงใหม่นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการประสานและขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐ จ.เชียงใหม่ เพื่อบูรณาการการทำงานระหว่างภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาครัฐ รวมทั้งประสานและขับเคลื่อนนโยบายและกิจกรรมที่เกิดขึ้นในระดับพื้นที่ให้เกิดการเชื่อมโยงในทุกๆด้าน ลุยหารือโครงการของคณะทำงานทั้ง 12 คณะ มุ่งเน้นให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาครัฐ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs และสร้างผู้ประกอบการใหม่ ในภาคเหนือ

เมื่อวันที่ผ่านมา นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการประสานและขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐ จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 1/2559 ซึ่งจัดขึ้นตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.58 รับทราบการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมรัฐ เอกชน ประชาชน (ประชารัฐ) จำนวน 12 คณะ ณ ห้องประชุม 3 อาคารอำนวยกลาง ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่

โดยนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การประชุมดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อดำเนินการตามนโยบายสานพลังประชารัฐของรัฐบาลและจากการติดตามผลการดำเนินงานของกระทรวงมหาดไทย ทำให้ทราบว่าการขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐในระดับพื้นที่ มีข้อจำกัดและปัญหาอุปสรรคในการขับเคลื่อนงานในลักษณะที่ขาดการบูรณาการและประสานการดำเนินงานอย่างมีเอกภาพ นายกรัฐมนตรีจึงได้มีคำสั่งสำนักงานนายกรัฐมนตรี ที่ 106/2559 ลงวันที่ 4 พ.ค.59 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการประสานและขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐประจำจังหวัด เพื่อบูรณาการการทำงานระหว่างภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาครัฐ รวมทั้งประสานและขับเคลื่อนนโยบายและกิจกรรมที่เกิดขึ้นในระดับพื้นที่ด้วย โดยกรรมการที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ กระทรวงมหาดไทยให้จังหวัดจัดส่งรายชื่อเพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงนามแต่งตั้ง ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้แต่งตั้งกรรมการในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 626/2559 ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2559

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีโครงการของคณะทำงานทั้ง 12 คณะ อาทิ โครงการ NTFV’s Innovation Campaign มุ่งเน้นให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาครัฐ (Triple Helix) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ในอุตสาหกรรมอาหารในภาคเหนืออย่างน้อย 200 ราย วงเงินอุดหนุนสูงสุดไม่เกิน 800,000 บาท/โครงการ ส่วนโครงการพัฒนาความสามารถทางนวัตกรรมของผู้ประกอบการใหม่ ภาคเหนือ(Northern Innovative Startup Thailand : NIST) เป็นการดำเนินการตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเกี่ยวกับผู้ประกอบการใหม่ (Startup) ในเขตภาคเหนือ เพื่อที่จะสร้างผู้ประกอบการใหม่ (Startup) ในการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการโดยเน้นธุรกิจเป้าหมายจำนวน 4 ประเภท ได้แก่ IT Software and Digital content/ Medical spa and Wellness/ smart tourism/ ธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะก่อให้เกิดผู้ประกอบการนวัตกรรมใหม่ที่มีศักยภาพสูงในภาคเหนือรวมอย่างน้อย 240 ราย งบประมาณรายละ 940,000 บาท ซึ่งแต่ละรายจะสร้างมูลค่าธุรกิจเฉลี่ยอย่างน้อยรายละ 5 ล้านบาทขึ้นไป โครงการนำร่องสร้างเครือข่ายประชารัฐภาคเกษตร และโครงการ CONNEXT ED ผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน (Leadership Program for Sustainable Education) เป็นโครงการที่ก่อตั้งขึ้นโดยบริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศไทย 12 บริษัทโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและสร้างเครือข่ายผู้นำรุ่นใหม่ต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น