วงจรอัจฉริยะส่วนประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์ยุคใหม่ แนะมุ่งผลิตสินค้าขั้นสุดท้ายและร่วมทุนกับต่างชาติ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเร่งวิจัยและพัฒนาเป็นโจทย์ที่สำคัญของผู้ประกอบการไทย แต่การวิจัยและพัฒนานั้นควรพิจารณาประเด็นเชิงพาณิชย์เพิ่มเติม กล่าวคือ ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการผลิตวงจรอัจฉริยะ เพียงแต่ยังไม่สามารถนำวงจรอัจฉริยะของตนมาประกอบขึ้นเป็นสินค้าขั้นสุดท้าย (Final Goods) ภายใต้แบรนด์ของตนเองที่สามารถแข่งขันกับสินค้าแบรนด์ต่างชาติได้ ซึ่งมีสาเหตุประการหนึ่งมาจากความจำกัดของเงินลงทุนของผู้ประกอบการไทย ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถที่จะทุ่มเททั้งเงินทุนและเวลาให้กับการวิจัยและพัฒนาวงจรอัจฉริยะ และต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์ได้ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน มีผู้ประกอบการบางส่วนได้อาศัยความรู้และความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับวงจรอัจฉริยะของสถาบันการศึกษาและหน่วยงานรัฐ โดยการสร้างความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนา รวมถึงสนับสนุนการสร้างห้องทดลองวงจรอัจฉริยะให้แก่มหาวิทยาลัยชั้นนำ เพื่อเป็นการสร้างเส้นทางลัดในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ และเป็นการส่งเสริมความเข้มแข็งทางวิชาการให้แก่สถาบันการศึกษาอีกทางหนึ่ง และที่สำคัญผู้ประกอบการสามารถผลิตวงจรอัจฉริยะที่มีความสามารถในการทำงานที่ซับซ้อนหรือฉลาดมากขึ้น และนำไปสู่การพัฒนาในการออกสินค้าขั้นสุดท้ายภายใต้ตราสินค้าของตนเองได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยรายเดิมหรือรายใหม่ที่สนใจเข้าสู่ตลาดวงจรอัจฉริยะ ควรอาศัยช่องทางเครือข่าย พันธมิตร และความร่วมมือตามที่กล่าวมาข้างต้น เป็นตัวช่วยในการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตวงจรอัจฉริยะที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น จนสามารถนำเสนอสินค้าขั้นสุดท้ายและแข่งขันในตลาดของแต่ละอุตสาหกรรมได้

วงจรอัจฉริยะหรือสมองกลฝังตัวคือระบบที่สามารถตัดสินใจและทำงานได้ด้วยตนเองเพื่อประโยชน์ด้านความสะดวกสบาย ความปลอดภัยและความประหยัดต่อผู้บริโภค โดยในปัจจุบัน วงจรอัจฉริยะถูกนำไปฝังในชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รอบตัวเราอย่างแพร่หลาย จนถือเป็นส่วนประกอบพื้นฐานที่มีอยู่ในเกือบทุกผลิตภัณฑ์ เพียงแค่ผู้บริโภคมองไม่เห็นหรือไม่ทราบว่ามีวงจรอัจฉริยะอยู่ เช่น วงจรอัจฉริยะที่อยู่ในหม้อหุงข้าวซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการหุงข้าวให้มีรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวสวย ข้าวเหนียว และโจ๊ก วงจรอัจฉริยะที่อยู่ในระบบเบรคของรถยนต์ที่ทำหน้าที่ควบคุมการเบรค ไม่ให้รถยนต์ไถลและสามารถควบคุมทิศทางได้เมื่อเกิดการเหยียบเบรคกะทันหัน และวงจรอัจฉริยะที่อยู่ในเครื่องยนต์ของรถยนต์ ซึ่งจะควบคุมจังหวะการปล่อยเชื้อเพลิงให้มีประสิทธิภาพเพื่อการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลง เป็นต้น โดยผู้บริโภคให้การตอบรับและต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นอัจฉริยะ (Smart Devices) ซึ่งสามารถคิดและตัดสินใจเพื่อตอบสนองการทำงานที่ซับซ้อนมากขึ้น ผนวกกับกระแสการใช้ชีวิตที่ง่ายและสะดวกสบายของผู้บริโภคโดยมุ่งหวังให้เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เข้ามาช่วยจัดการสิ่งต่างๆ รอบตัวให้ลงตัวมากขึ้น (Smart Life) ส่งผลให้วงจรอัจฉริยะกลายมาเป็นส่วนประกอบสำคัญที่เข้ามามีบทบาทในการเพิ่มความฉลาดและความสามารถในการทำงานให้แก่ชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สะท้อนผ่านปริมาณการผลิตวงจรอัจฉริยะในช่วงปี 2554-2558 ที่มีการเติบโตโดยเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 5.9 และในปี 2558 มีวงจรอัจฉริยะออกสู่ตลาดไม่น้อยกว่า 200 ล้านชิ้น ซึ่งคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท
เมื่อพิจารณาบริบทของประเทศไทย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น การแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดความต้องการนำวงจรอัจฉริยะมาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคให้มากขึ้นดังที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากนี้ นโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ยังเป็นอีกแรงกระตุ้นหนึ่งที่ก่อให้เกิดความต้องการใช้งานวงจรอัจฉริยะ ดังนั้น ภายใต้บริบทดังกล่าว ย่อมเป็นโอกาสทางธุรกิจอันดีของผู้ประกอบการผลิตวงจรอัจฉริยะที่จะเร่งวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตน เพื่อรองรับแนวโน้มการเติบโตของตลาดวงจรอัจฉริยะ

วงจรอัจฉริยะมีการใช้งานหลากหลาย แต่ดำเนินธุรกิจโดยคนต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ผู้ประกอบการไทยควรเร่งวิจัยและพัฒนาเพื่อเข้าสู่ตลาดได้มากขึ้น
ปัจจุบัน ผู้ประกอบการในตลาดสามารถผลิตวงจรอัจฉริยะรองรับการใช้งานในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเป็นผู้ประกอบการผลิตเพื่อประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์มากที่สุดถึงร้อยละ 30.4 ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด รองลงมาคือ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อยู่ที่ร้อยละ 25.3 ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด ซึ่งสอดรับกับการที่ไทยเป็นฐานการผลิตของทั้งสองอุตสาหกรรม และการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงในการนำเสนอผลิตภัณฑ์อัจฉริยะใหม่ๆ ออกสู่ตลาดของผู้ประกอบการในแต่ละอุตสาหกรรม นอกจากนี้ วงจรอัจฉริยะยังถูกนำไปใช้เพื่อให้ทำหน้าที่ควบคุมเครื่องจักรกลและหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในโรงงาน โดยมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ประมาณร้อยละ 20.3 ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด ซึ่งปัจจัยหนุนที่สำคัญคือ ลักษณะเฉพาะของการผลิตสินค้าที่ต้องอาศัยเครื่องจักรมาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น ต้องการความละเอียดสูง การทำซ้ำๆ และมีความเสี่ยงต่อสุขภาพแรงงานคน เป็นต้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวโน้มการผลิตวงจรอัจฉริยะของผู้ประกอบการในระยะต่อไป จะยังคงกระจุกตัวอยู่ที่ 3 อุตสาหกรรมเดิม ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และระบบควบคุมเครื่องจักรกลและหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในโรงงาน ด้วยปัจจัยผลักดันที่สำคัญมาจากกระแสการใช้ชีวิตสมัยใหม่ของผู้บริโภคที่กำลังได้รับความนิยม และภาวะการแข่งขันในตลาดเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคดังกล่าว อีกทั้งได้รับปัจจัยหนุนด้านความพร้อมของการที่ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าข้างต้น การสนับสนุนจากภาครัฐทั้งการส่งเสริมการลงทุนในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต (Super Cluster) และนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งหวังขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วยนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและความได้เปรียบในการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมในประเทศ
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการผลิตวงจรอัจฉริยะตามที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนใหญ่จะลงทุนโดยบริษัทต่างชาติและบริษัทร่วมทุน สำหรับผู้ประกอบการไทยมักจะดำเนินธุรกิจในรูปแบบการรับจ้างผลิต (OEM) โดยมีรายละเอียดของห่วงโซ่การผลิตและลักษณะการดำเนินธุรกิจ ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น 3 ลำดับ (Tier) ดังนี้
ลำดับที่ 1: ผลิตชิ้นส่วนที่เป็นเทคโนโลยีแกน (Core Technology) หรือมีมูลค่าสูง (High Margin) เพื่อป้อนการผลิตสินค้าหลักของบริษัทแม่ ซึ่งมักเป็นบริษัทต่างชาติและส่วนใหญ่เป็นสัญชาติญี่ปุ่นมากกว่าครึ่ง โดยคิดเป็นประมาณร้อยละ 52.6 ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด สาเหตุที่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติเนื่องมาจากบริษัทเหล่านี้มีบริษัทแม่มาตั้งฐานการผลิตสินค้าหลักในไทยอยู่ก่อน และส่วนมากจะอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยทำการตั้งบริษัทลูกเพื่อวิจัยและพัฒนาวงจรอัจฉริยะในชิ้นส่วนที่เป็นเทคโนโลยีแกน (Core Technology) หรือมีมูลค่าสูง (High Margin) เพื่อป้อนบริษัทแม่ เช่น การพัฒนากล่องควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ (ECU: Electronic Control Unit) เป็นต้น และมีลักษณะการดำเนินธุรกิจเป็นแบบ ODM และ OBM โดยมีรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายวงจรอัจฉริยะไม่ต่ำกว่า 3.4 หมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า โอกาสในการเข้าร่วมทำธุรกิจของผู้ประกอบการไทยในกลุ่มนี้อาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากบริษัทใหญ่มักให้บริษัทลูกผลิตวงจรอัจฉริยะแทนการจ้างบริษัทอื่น เพราะเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าและป้องกันประโยชน์ทางการค้าจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาทำธุรกิจร่วมกับผู้ประกอบการที่ต้องการใช้งานวงจรอัจฉริยะในกลุ่มอื่นมากกว่า
ลำดับที่ 2: ผลิตชิ้นส่วนย่อยเพื่อป้อนห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมหลัก โดยเป็นผู้ประกอบการที่ผลิตชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีวงจรอัจฉริยะที่เป็นชิ้นส่วนย่อยของสินค้าหลัก เพื่อป้อนห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมหลัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น การผลิตระบบป้องกันหน้าอกและศีรษะของผู้ใช้รถยนต์เมื่อเกิดการกระแทกอย่างแรง (Airbag) เป็นต้น และมักเป็นบริษัทต่างชาติที่มีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 26.3 ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด ขณะที่บริษัทในกลุ่มนี้จะทำการผลิตวงจรอัจฉริยะแบบใช้งานเฉพาะอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนห่วงโซ่การผลิตทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายวงจรอัจฉริยะไม่ต่ำกว่า 2.4 หมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า โอกาสของผู้ประกอบการไทยน่าจะเป็นไปในรูปแบบการรับจ้างผลิตต่ออีกทอดจากผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ และควรเร่งพัฒนาตนเองให้สามารถผลิตวงจรอัจฉริยะที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการในแต่ละอุตสาหกรรม
ลำดับที่ 3: ผลิตชิ้นส่วนพื้นฐานเพื่อป้อนห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมหลัก โดยบริษัทในกลุ่มนี้เป็นคนไทยและมักเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งคิดประมาณร้อยละ 21.1 ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด ผู้ประกอบการในลำดับนี้เริ่มต้นธุรกิจจากการรับจ้างผลิตวงจรอัจฉริยะที่เป็นชิ้นส่วนพื้นฐาน (ความซับซ้อนน้อยและไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต) ของสินค้าหลักของบริษัทต่างชาติและบริษัทร่วมทุน จึงทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายหรือพันธมิตรการผลิตและการค้าระหว่างกัน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมหลัก อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันผู้ประกอบการไทยบางรายสามารถพัฒนาตนเองจนขยับขึ้นเป็นผู้ผลิตแบบ ODM และ OBM ทั้งนี้ การผลิตวงจรอัจฉริยะของกลุ่มนี้มีทั้งแบบทั่วไปที่สามารถประยุกต์ใช้ได้หลายอุตสาหกรรม เช่น การผลิตระบบประมวลผลลายนิ้วมือ และแบบเฉพาะอุตสาหกรรม เช่น การผลิตระบบติดตามพฤติกรรมและเฝ้าระวังโรคของสัตว์ในฟาร์ม เป็นต้น โดยมีรายได้จากการจำหน่ายวงจรอัจฉริยะไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาทต่อปี โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ประกอบการไทยรายใหม่ที่สนใจควรอาศัยช่องทางเครือข่ายหรือพันธมิตรทางการผลิตและการค้าในการเข้าสู่ตลาดวงจรอัจฉริยะ โดยเป็นไปในรูปแบบการรับจ้างผลิตและพัฒนาจนสามารถต่อยอดไปสู่การมีผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของตนเอง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความต้องการนำวงจรอัจฉริยะมาเพิ่มความฉลาดและความสามารถให้แก่ชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้มากกว่าที่เคยได้รับในปัจจุบัน โดยมีการคาดการณ์กันว่าในปี 2568 ประชากรทั่วโลกจะมีความต้องการใช้งานผลิตภัณฑ์อัจฉริยะประมาณ 8 หมื่นล้านเครื่อง[6]ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรเร่งวิจัยและพัฒนาวงจรอัจฉริยะ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของตนสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตในแต่ละอุตสาหกรรมได้
+++มุ่งสู่การผลิตสินค้าขั้นสุดท้าย…ควบคู่กับการหาลู่ทางในการร่วมทุนกับต่างชาติเพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่การดำเนินธุรกิจ++++
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเร่งวิจัยและพัฒนาเป็นโจทย์ที่สำคัญของผู้ประกอบการไทย แต่การวิจัยและพัฒนานั้นควรพิจารณาประเด็นเชิงพาณิชย์เพิ่มเติม กล่าวคือ ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการผลิตวงจรอัจฉริยะ เพียงแต่ยังไม่สามารถนำวงจรอัจฉริยะของตนมาประกอบขึ้นเป็นสินค้าขั้นสุดท้าย (Final Goods) ภายใต้แบรนด์ของตนเองที่สามารถแข่งขันกับสินค้าแบรนด์ต่างชาติได้ ซึ่งมีสาเหตุประการหนึ่งมาจากความจำกัดของเงินลงทุนของผู้ประกอบการไทย ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถที่จะทุ่มเททั้งเงินทุนและเวลาให้กับการวิจัยและพัฒนาวงจรอัจฉริยะ และต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์ได้ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน มีผู้ประกอบการบางส่วนได้อาศัยความรู้และความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับวงจรอัจฉริยะของสถาบันการศึกษาและหน่วยงานรัฐ โดยการสร้างความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนา รวมถึงสนับสนุนการสร้างห้องทดลองวงจรอัจฉริยะให้แก่มหาวิทยาลัยชั้นนำ เพื่อเป็นการสร้างเส้นทางลัดในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ และเป็นการส่งเสริมความเข้มแข็งทางวิชาการให้แก่สถาบันการศึกษาอีกทางหนึ่ง และที่สำคัญผู้ประกอบการสามารถผลิตวงจรอัจฉริยะที่มีความสามารถในการทำงานที่ซับซ้อนหรือฉลาดมากขึ้น และนำไปสู่การพัฒนาในการออกสินค้าขั้นสุดท้ายภายใต้ตราสินค้าของตนเองได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยรายเดิมหรือรายใหม่ที่สนใจเข้าสู่ตลาดวงจรอัจฉริยะ ควรอาศัยช่องทางเครือข่าย พันธมิตร และความร่วมมือตามที่กล่าวมาข้างต้น เป็นตัวช่วยในการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตวงจรอัจฉริยะที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น จนสามารถนำเสนอสินค้าขั้นสุดท้ายและแข่งขันในตลาดของแต่ละอุตสาหกรรมได้
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยควรหาลู่ทางในการร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติหรือบริษัทร่วมทุน เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านเงินทุนในการวิจัยและพัฒนา และโอกาสในการได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวงจรอัจฉริยะขั้นสูง เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตวงจรอัจฉริยะที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น และเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตในการผลิตชิ้นส่วนย่อยหรือหลักป้อนบริษัทต่างชาติหรือบริษัทร่วมทุนที่เป็นผู้ผลิตสินค้าขั้นสุดท้ายในอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งทำให้ในที่สุดผู้ประกอบการไทยอาจพัฒนาตนเองจนสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีวงจรอัจฉริยะภายใต้แบรนด์ของตนเองได้
นอกจากประเด็นการวิจัยและพัฒนาที่ผู้ประกอบการไทยควรเร่งดำเนินการแล้ว ผู้ประกอบการไทยก็ยังมีความท้าทายที่ต้องเผชิญ คือ การขาดแคลนนักพัฒนาวงจรอัจฉริยะ โดยปัจจุบันไทยมีนักพัฒนาวงจรอัจฉริยะเพียง 868 คนเท่านั้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หน่วยงานรัฐและเอกชนควรมีกระบวนการติดตามและประเมินผลความร่วมมือทางการศึกษาและการวิจัยเกี่ยวกับวงจรอัจฉริยะที่มีอยู่ ว่าสามารถกระตุ้นให้นักเรียนนักศึกษาเกิดความสนใจในสายงานนี้หรือไม่ เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจว่าแนวทางดังกล่าว จะสามารถจูงใจนักพัฒนาวงจรอัจฉริยะเข้าสู่ตลาดวงจรอัจฉริยะเพิ่มขึ้น ตลอดจนหาแนวทางพัฒนาศักยภาพของนักพัฒนาวงจรอัจฉริยะให้รองรับความต้องการใช้งานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

ร่วมแสดงความคิดเห็น