เร่งรับมือลำไยเหนือ 1.2 ล้านตัน ไฟเขียวเยียวยาชาวสวน

นายชาตรี บุนนาค ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งรับผิดชอบศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าภาคเหนือ เพื่อประสานการทำงานกับคณะกรรมการ เพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานเปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ซึ่งนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ มอบหมายให้เร่งติดตามผลดำเนินงานในด้านต่างๆ คณะทำงานฟรุ้ทบอร์ทพอใจผลการส่งออกผลไม้ครึ่งปีแรกปีนี้ เกิน 1 ล้านตัน มากกว่าปีที่แล้วกว่า 120,000 ตัน สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ประกอบการ และประเทศกว่า 8 หมื่นล้าน

อีกทั้งมอบหมายฟรุ้ทบอร์ดให้ยกระดับนโยบาย คุณภาพมาตรฐานผลไม้ เร่งเดินหน้าแผน 5 ปี ทั้งแผนปฏิบัติการพัฒนาผลไม้ปี 2565-2570 เพื่อเพิ่มศักยภาพสู่เป้าหมายเกษตรมูลค่าสูง เน้นการพัฒนาพันธุ์ การใช้เทคโนโลยีในการผลิต การเพิ่มการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม การสร้างแบรนด์ผลไม้ การใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ การขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ การปฏิรูปการบริหารจัดการผลไม้ฟรุ้ทบอร์ดอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของผลไม้ไทย ตลอดห่วงโซ่การผลิต การแปรรูป จนถึงการตลาด และรับมือกับการเพิ่มขึ้นของพื้นที่การปลูกทุเรียน ตลอดจนการแข่งขันที่จะเพิ่มขึ้นในตลาดส่งออกในจีนและทั่วโลก ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ครั้งที่ 3/2565 ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบรายงานการศึกษาเสถียรภาพกลุ่มสินค้าลำไย ต่อคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการและคณะทำงาน ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำข้อมูลรายงานการศึกษาฯ เพื่อประกอบการขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาและบริหารจัดการลำไยทั้งระบบต่อไป แผนบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือ (ลำไย) ปี 2565 จำนวน 764,777 ตัน

โครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2564/2565 ความคืบหน้าล่าสุด มีการมอบหมายฝ่ายเลขานุการจัดทำข้อเสนอเพื่อการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรชาวลำไย ปี 2564/65 เสนอ รมว.กระทรวงเกษตรฯ เพื่อพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี ภายใต้สถานการณ์คลัง ตามเงื่อนไขกรอบแนวทางช่วยเหลือที่กำหนดไว้ ดังนี้ ขนาดพื้นที่ปลูกรายละ ไม่เกิน 25 ไร่ ในอัตรา 2,000 ต่อไร่หรือ 1,500 ต่อไร่ หรือ 1,000 ต่อไร่ หรือ ขนาดพื้นที่ปลูกรายละ ไม่เกิน 15 ไร่ ในอัตรา 2,000 ต่อไร่ หรือ 1,500 ต่อไร่ หรือ 1,000 ต่อไร่ มาตรการช่วยเหลือเยียวยาด้านอื่นๆ เช่น มาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อ ด้านหนี้สินและดอกเบี้ยโดย ธกส.เป็นต้น เป็นเกษตรกรชาวสวนลำไยที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ปี 2564 กับกรมส่งเสริมการเกษตรเรียบร้อยแล้ว ตัดยอดข้อมูล (31 พ.ค. 65) ซึ่งปลูกลำไยที่ให้ผลผลิต โดยใช้เกณฑ์อายุต้น 5 ปีขึ้นไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น