เที่ยว “นครวัด” ตามรอยศิลปะขอม

ภาพเงาสะท้อนน้ำของมหาปราสาทหินที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในรอบพันปีปรากฏขมึงอยู่เบื้องหน้าในวันเวลาแห่งปลายฤดูฝน สะกดความสนใจคนจากทั่วทุกมุมโลกให้เพ่งพินิจถึงความอลังการขององค์ปราสาทนครวัด ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “โคตรปราสาท” ของกัมพูชา จนกระทั่งนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษอาร์โนลด์ ทอยบี กล่าวว่า …see Angkor and die… (…อย่าเพิ่งด่วนตาย ถ้ายังไม่ได้ไปดูนครวัด…)
มหาปราสาทยังโอฬารตระการฟ้า เหมือนเมื่อกว่า 1,000 ปีก่อนที่พระราชอาณาจักรขอมแห่งสุริยวรมันที่ 2 ยังเกริกไกร ขณะที่ใครต่อใครใฝ่ฝันจะได้มายลนครวัดสักครั้งหนึ่งในชีวิต
ปราสาทนครวัดสร้างขึ้นโดยบรรพชนชาวเขมรตั้งแต่ครั้งยังเป็นอาณาจักรขอม ในสมัยพระเจ้ายโสวรมันที่ 1 (ครองราชย์ พ.ศ.1432) ต่อเนื่องถึงสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (พ.ศ.1545) จนถึงยุคพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (พ.ศ.1656) อาณาจักรขอมรุ่งเรืองถึงขีดสุดในสมัยพระ
เจ้าชัยวรมันที่ 7 ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ก่อนหน้าการก่อกำเนิดของอาณาจักรสุโขทัยหลังจากนั้นก็อ่อนแอลงจนในที่สุดก็ถึงกาลล่มสลาย

ดินแดนกัมพูชาหรืออาณาจักรขอมโบราณนั้น ได้รับอิทธิพลทางศาสนาและวัฒนธรรมมาจากอินเดีย โดยเฉพาะความเชื่อตามคติในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ซึ่งเข้ามามีอิทธิพลก่อนพุทธศาสนาเนิ่นนานนัก ศาสนานี้ยกย่องกษัตริย์เสมอดั่งเทพเจ้า เรียกว่า “ลัทธิเทวราชา” หมายความว่ากษัตริย์คือตัวแทนของเทพเจ้าที่อยู่บนโลกมนุษย์ ดังนั้นการสร้างเทวสถานหรือเทวาลัย จึงเป็นพระราชภารกิจของกษัตริย์ขอมทุกพระองค์ ที่จะต้องสร้างปราสาทหินเป็นเทวาสถานถวายแด่บรรพบุรุษหรือถวายแด่พระองค์เอง ปราสาทจึงเปรียบเสมือนศาสนสถานอันถือเป็นที่ประทับของเทพเจ้าบนโลกมนุษย์ มีการขุดคูน้ำ ชาวเขมรเรียกว่า “บาราย” อยู่ล้อมรอบ มีลวดลายสลักหินเป็นรูปพญานาคซึ่งเป็นสัญลักษณ์น้ำและความอุดมสมบูรณ์ เปรียบเทียบได้กับเขาพระสุเมรุที่ล้อมรอบด้วยมหาสมุทร อันเป็นสัญลักษณ์ของระบบสุริยจักรวาลตามคติฮินดู ปราสาทหินที่กษัตริย์ขอมสร้างขึ้นก็คือศูนย์กลางของโลกและจักรวาลอันยิ่งใหญ่นั่นเอง
นี่จึงเป็นพลังที่ทรงอานุภาพเพียงพอที่จะขับเคลื่อนแรงงานเป็นหมื่นเป็นแสน ไปเคลื่อนย้ายก้อนหินขนาดมหึมานับเป็นหมื่นๆ ตัน มารังสรรค์จนกลายเป็นเสมือนทิพยวิมานของเทพยดาบนโลกมนุษย์ขึ้นมาเช่นนี้เอง

พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 สถาปนาปราสาทนครวัดขึ้นเป็นศูนย์กลางของโลกและจักรวาลเมื่อราว 1,000 ปีมาแล้ว โดยสร้างขึ้นภายในกำแพงล้อมรอบมีความยาวถึง 1,000 เมตร กว้าง 850 เมตร นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าจะต้องใช้หินในการก่อสร้างรวมกว่า 6 แสนลูกบาศก์เมตร ใช้ช้างกว่า 4 หมื่นเชือกและใช้แรงงานคนอีกนับแสนในการขนหินจากภูเขาพนมกุเลน ซึ่งอยู่ห่างออกไปนอกเมืองราว 50 กิโลเมตร
ปราสาทนครวัดมีเสาหินตั้งเรียงรายถึง 1,800 ต้น รอบระเบียงปราสาทมีภาพแกะสลักหินเป็นเรื่องราวตามคติฮินดู เช่น รามายณะ มหาภารตยุทธ์ ปรากฏอยู่ทั่วไม่เว้นกระทั่งกรอบประตูและช่องหน้าต่าง สันนิษฐานว่าต้องใช้ช่างฝีมือจำหลักภาพหินกว่า 5,000 คน แกะ
สลักอยู่นาน 40 ปี ปราสาทนครวัดจึงงดงามอลังการได้ ในจำนวนภาพแกะสลักทั้งหมด มีอยู่ภาพหนึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพที่ยิ่งใหญ่ตระการตา คือภาพที่ระเบียงทิศตะวันออกฝั่งใต้ เล่าเรื่องมหกรรมการกวนเกษียรสมุทร เพื่อให้ได้น้ำอมฤตสำหรับดื่มกินแล้วจะมีชีวิตเป็นอม
ตะนิรันดร์ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าภาพกูรมาวตาร

ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1724) ยังคงสืบทอดลัทธิเทวราชาจากบรรพบุรุษอย่างเหนียวแน่นนับเป็นยุครุ่งเรืองของสถาปัตยกรรมขอมอีกสมัยหนึ่ง พระองค์ได้โปรดให้สร้างเมืองยโสธรปุระ หรือเมืองพระนครหลวง (นครธม) ขึ้นเป็นเทวสถานและศูนย์กลางของโลกและจักรวาล แต่เทพเจ้าของพระองค์ไม่ใช่พระนารายณ์ตามคติพราหมณ์อีกต่อไป พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หันมาเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ดังนั้นปราสาทของพระองค์จึงเต็มไปด้วยใบหน้าของคน ซึ่งก็คือ พระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ภาคหนึ่งของพระพุทธเจ้า ซึ่งแปลว่า ผู้ที่มองลงมาจากเบื้องบนด้วยความเมตตากรุณา ซึ่งปรากฏอยู่บนยอดปรางค์ปราสาท 54 ปรางค์ แต่ละปรางค์มีพระพักตร์จำหลักอยู่ทั้ง 4 ทิศ รวมได้ถึง 216 หน้า เรียกได้ว่ามองไปทางไหนก็เห็นแต่ใบหน้าคนเต็มไปหมด พูดง่ายๆก็คือ ไม่ว่าประชาชนขอมจะทำอะไรก็เสมือนมีดวงตาของกษัตริย์ชัยวรมันมองดูอยู่ทุกทิศทาง
ภาพเงาสะท้อนน้ำของมหาปราสาทหินที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในรอบพันปีปรากฏขมึงอยู่เบื้องหน้าในวันเวลาแห่งปลายฤดูฝน สะกดความสนใจคนจากทั่วทุกมุมโลกให้เพ่งพินิจถึงความอลังการขององค์ปราสาทนครวัด เฉกเช่นเดียวกับบรรพชนชาวขอมกว่า 1,000 ปีที่ได้รังสรรค์มหาปราสาทแห่งนี้ไว้เป็นมรดกให้ชนชาวกัมพูชา

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น