วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) วัดโบราณเมืองเชียงใหม่

วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) เป็นวัดวิปัสสนากรรมฐานทางภาคเหนือที่ทำการอบรมพระกรรมฐานในแนวสติปัฎฐาน 4 ปัจจุบันมีชาวไทยและชาวต่างประเทศ เข้ารับการอบรมปฏิบัติต่อเนื่อกันตลอดปีไม่ขาดสายเป็นวัดแห่งแรกที่มีพระไตรปิฏกฉบับล้านนา และได้ชื่อว่าเป็นวัดที่มีพระไตรปิฏกฉบับภาษาต่าง ๆ มากที่สุดวัดหนึ่งในประเทศไทยในสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์วงศ์มังราย ครองเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 12 จ.ศ.804 มีพระราชโอรสอันประสูติจากพระมเหสีเพียงพระองค์เดียว คือ ท้าวศรีบุญเรือง เมื่อท้าวศรีบุญเรืองพระชนม์ได้ 20 พรรษามีคนเพ็ดทูลพระเจ้าติโลกราชว่า ท้าวศรีบุญเรืองเตรียมการจะคิดกบฏ ทำให้ทรงคลางแคลงพระทัยจึงทรงโปรดให้ไปครองเมืองเชียงแสนและเชียงราย ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านในขณะนั้น ณ เมืองเชียงรายนี้เอง ได้เป็นที่ประสูติของพระเจ้ายอดเชียงราย และโดยเหตุที่ประสูติ บนยอดเขาสูงในเชียงราย (ยอดดอกบัว ) ท้าวศรีบุญเรือง จึงประทานนามพระโอรสว่า “ยอดเชียงราย” ต่อมาพระเจ้าติโลกราช ถูกเพ็ดทูลจากนางหอมุขพระสนมเอกว่าท้าวศรีบุญเรืองเตรียมการก่อกบฏอีก จึงมีพระกระแสรับสั่งให้ปลงพระชนม์พระราชโอรสเสีย และหลังจากนั้นทรงโปรดให้ราชนัดดา คือ พระเจ้ายอดเชียงราย ครองเมืองเชียงรายสืบต่อมาครั้นถึง พ.ศ.2030 พระเจ้าติโลกราชเสด็จสวรรคต ราษฎรได้พร้อมใจกันอัญเชิญพระเจ้ายอดเชียงรายขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ หลังจากที่จัดการบ้านเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทรงดำเนินการสอบสวนหาผู้ที่เป็นต้นเหตุยุแหย่ให้ท้าวศรีบุญเรือง พระราชบิดาต้องสิ้นพระชนม์ จนทำให้พระมารดาของพระองค์ตรอมพระทัย ถึงกับเสียพระสติ พระองค์ทรงกำหนดโทษให้ประหารชีวิตแก่ผู้ที่เป็นต้นเหตุ แต่โดยที่พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ภายหลังที่ได้สั่งให้สำเร็จโทษผู้กระทำผิดได้แล้ว ทรงเกรงจะเป็นเวรกรรมจึงทรงดำริที่จะหาทางผ่อนคลายมิให้เป็นบาปกรรมต่อกันสืบต่อไป

ครั้งนั้นได้มีพระธุดงค์ได้ไปปักกลดอยู่เชิงดอยสุเทพ ได้กราบทูลว่า ณ ต้นมะเดื่อซึ่งไม่ไกลจากที่ตนปักกลดนัก ได้มีรัศมีพวยพุ่งขึ้นในยามราตรี สงสัยว่าจะมีพระธาตุประดิษฐานอยู่ พระองค์จึงได้อธิษฐานเสี่ยงทายว่าหากมีพระบรมธาตุอยู่จริงขอให้ช้างพระที่นั่งไปหยุด ณ ที่ตรงนั้น ช้างนั้นได้พาพระองค์ไปหยุดอยู่ใต้ต้นมะเดื่อ จึงได้สั่งให้ขุดรอบ ๆ ต้นไม้ ได้พบพระเขี้ยวแก้วบรรจุในผอบดินแบบเชียงแสน แล้วจึงสร้างเจดีย์และบรรจุพระบรมธาตุไว้ในเจดีย์นี้เอง พระองค์ได้จารึกประวัติการสร้างวัดนี้ลงในศิจารึก ซึ่งเรียกว่า ศิลาฝักขาม (ตัวหนังสือฝักขาม) ดังมีใจความว่า “สองพันสามสิบห้าปีจุลศักราชได้แปดร้อยห้าสิบสี่ตัวในปีเต๋าใจ๋ (เหนือ) เดือนวิสาขะไทยว่าเดือนเจ็ดออก (ขึ้น) สามค่ำวันศุกไทย ได้ฤกษ์อันถ้วนสอง ได้โยคชื่ออายูสมะ ยามกลองงายแล้วสองลูกนาที” ซึ่งแปลเป็นภาษาปัจจุบันว่า “วันศุกร์ขึ้นสามค่ำเดือนเจ็ด ปีชวด พุทธศักราช สองพันสามสิบห้าปี เวลา 08.20 น. ได้ฤกษ์ภรณี (ดาวงอนไถ) ได้โยค มหาอุจจ์” คือการก่อสร้างวัดได้ส่วนกันทั้งทางฝ่ายพุทธจักรและอาณาจักร โดยพระองค์ได้ทรงมีพระราชบัญชาให้พระมเหสีชื่อ พระนางอะตะปาเทวี เป็นผู้ดำเนินการสร้าง ในประวัติไม่ได้บอกชัดว่าใช้เวลาสร้างนานเท่าใด กล่าวแต่ว่าสำเร็จแล้วทุกประการ พร้อมทั้งสร้างพระพุทธรูปเป็นประธาน และพระพุทธรูปตามซุ้มที่พระธาตุเจดีย์กับได้สร้างพระไตรปิฏกและพระราชทานทรัพย์ (นา) เงิน (เบี้ย) ดังปรากฏในศิลาจารึกว่า “มีราชเขตทั้งหลายอันกฎหมายไว้กับอารามนี้ นาสามล้านห้าหมื่นพันไว้กับเจดีย์สี่ด้าน สี่แสนเบี้ยไว้กับพระเจ้า(พระประธาน)ในวิหาร ห้าแสนเบี้ยไว้กับอุโบสถ สี่แสนเบี้ยไว้เป็นจังหัน(ค่าภัตตาหาร) ล้านห้าแสนห้าหมื่นพันเบี้ยไว้ให้ผู้รักษากิน สองแสนเบี้ยให้ชาวบ้านยี่สิบครัวเรือนไว้เป็นผู้ดูแลและอุปัฏฐากรักษาวัด”เนื่องจากประวัติการสร้างวัดร่ำเปิงหรือวัดตโปทารามนี้ รวบรวมมาจากหลายทางด้วยกัน ทำให้เข้าใจสับสนไปได้ในทัศนะแตกต่างกันโดยเฉพาะเกี่ยวกับชื่อ วัดร่ำเปิง วัดตโปทาราม และพระนามมเหสีของพระเจ้ายอดเชียงราย คือในศิลาจารึกปรากฏพระนามว่า พระนางอะตะปาเทวี แต่ไม่ปรากฏพระนามว่า พระนางโปร่งน้อยซึ่งในหนังสือพงศาวดารโยนกของพระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) ปรากฏพระนามว่า พระนางโปร่งน้อยไม่ปรากฎพระนาม อะตะปาเทวี นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างกันเกี่ยวกับบุคคลผู้ร่วมในการสร้างวัด ดังมีข้อความตอนหนึ่งว่า “จุลศักราช 854 (พ.ศ.2035) ปีชวดจัตวาสก พระเจ้ายอดเชียงราย เจ้านครพิงค์เชียงใหม่ ให้สถาปนาพระอารามแห่งหนึ่งชื่อว่า ตะโปทาราม ให้ขุดรื้อนิมิตสีมาของเก่าที่พระญาณมงคลเถรผูกไว้นั้นขึ้นชำระผูกพัทธสีมาใหม่ มีพระ มหาเวฬุวันมหาเถระ พระสัทธรรมสัณฐิเถระ พระญาณโพธิเถระ พระสุริสิงห็เถระ พระนารถเถระ พระสัทธรรมสัณฐิเถระ กับภิกษุหลายรูปจัดการผุกพัทธสีมาใหม่ให้ถูกต้องตามพุทธบัญญัติจากการพิจารณาข้อความที่ปรากฏในศิลาจารึกและจากหนังสือประวัติวัดร่ำเปิง ซึ่งพิมพ์แจกในงานกฐินสามัคคีทอด ณ วัดร่ำเปิง วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2509 โดยมีผู้เขียน 2 ท่าน คือ ท่านอาจารย์มุกดา อัยยเสน ที่อ้างว่าเขียนจาก คำบอกเล่าของพระยาประชากิจกรจักร์กับหนังประวัติวัดร่ำเปิง พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2514 ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2517 และพิมพ์ครั้งทื่ 3 พ.ศ. 2519 เรียบเรียงโดย นายปวงคำ ตุ้ยเขียว ซึ่งอ้างว่าอาศัยหลักศิลาจารึก และหนังสือคัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์ พงศาวดารโยนก และหนังสือตำนานเมืองเหนือ สำหรับชื่อวัดร่ำเปิงนั้น ตามข้อความของอาจารย์มุกดา อัยยเสนที่อ้างถึงคำปรากฏของพระเจ้ายอดเชียงราย ว่า “ ในขณะที่สร้างวัดพระองค์ทรงรำพึงถึงพระราชบิดา และพระราชมารดาอยากจะให้ทั้งสองพระองค์มีพระชนม์อยู่จะได้ร่วมทำบุญในครั้งนี้ด้วย และเพื่อให้เป็นที่บูชาคุณของทั้งสองพระองค์พระเจ้ายอดเชียงราย จึงทรงตกลงพระทัยให้ชื่อวัดที่สถาปนาขึ้นใหม่นี้ว้า “วัดร่ำเปิง” ซึ่งเป็นภาษาพื้นเมืองเหนือ และตรงกับคำว่า”รำพึง ในภาษากลางอันมีความหมายว่า “คร่ำคราญ ระลึกถึง คนึงหา”

วัดร่ำเปิงหรือวัดตโปทาราม ได้อยู่ในสภาพวัดร้างมาหลายยุคหลายสมัยและเมื่อสงครามโลกครั้งที่สอง กองทหารญี่ปุ่นได้เข้ามาครอบครองใช้เป็นที่ ปฏิบัติการ ปรากฏว่าได้มีผู้ลักลอบขุดพระธาตุเจดีย์ได้นำเอาพระพุทธรูปและวัตถุโบราณต่าง ๆ ไป ส่วนวิหารซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระประธานนั้นไม่อยู่ในสภาพที่จะใช้ประโยชน์ได้ต่อไป และมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วไป แผ่นศิลาจารึกได้จมดินอยู่ใน วิหาร ครั้งต่อมาในปี พ.ศ.2484 คณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้ประชุมตกลงกันให้อัญเชิญพระประธานไปประดิษฐานไว้ ณ ด้านหลังพระวิหารวัดพระสิงห์ในตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงแล้ว พวกชาวบ้านที่อพยพหลภัยไปอยู่ที่อื่น ก็ทยอยกันกลับมา สภาพวัดก็ก็ยังขาดการบำรุงรักษาบางครั้งขาดพระจำพรรษา หรือถ้ามีก็เพียงรูปเดียว ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 เริ่มมีการก่อสร้างพระวิหารขึ้นใหม่แล้ว จึงได้อาราธนาพระภิกณษุชาวบ้านร่ำเปิงรูปหนึ่งชื่อ หลวงปู่จันทร์สม หรือ ครูบาสม มาปกครองดูแลวัดได้ระยะหนึ่งทำให้วิหารแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2516 ต่อมา ท่านถึงแก่มรณภาพ วัดก็ขาดพระจำพรรษาไปจนถึงปลายปี 2517 พระครูพิพัฒน์คณาภิบาล (ทอง สิริมงฺคโล) เป็นเจ้าอาวาสวัดเมืองมาง และเป็นจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ได้ปฏิบัติธุดงควัตรมาถึงวัดร่ำเปิง พิจารณาเห็นว่าเป็นสถานที่สัปปายะเหมาะแก่การเจริญวิปัสสนา จึงได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดร่ำเปิง แล้วชักชวนชาวบ้านในท้องถิ่น ตลอดถึงผู้ในบุญทั้งหลาย ช่วยกันบรณะปฏิสังขรณ์ฟื้นฟูขึ้น

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น