พิพิธภัณฑ์ตำนานการทำฝิ่น ที่หอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ

ดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ คือ จุดที่ประเทศไทย ลาว และพม่ามาบรรจบกัน เป็นที่ ๆ แม่น้ำสบรวกไหลมารวมกับแม่น้ำโขง และยังหมายถึงพื้นทีบริเวณกว้างครอบคลุมสามประเทศ และในพื้นที่นี้เองที่มีการปลูกฝิ่นผลิตเฮโลอีน ลักลอบนำออกไปขายอันเป็นที่มาของตำนานการค้าฝิ่นที่ดังกระฉ่อนไปทั่วโลก เมื่อได้ยินคำว่า “สามเหลี่ยมทองคำ” คนส่วนมากมักจะนึกถึง ดอกฝิ่น ชาวไทยภูเขา รวมถึงเทือกเขาที่ปกคลุมไปด้วยเมฆหมอกและแม่น้ำโขง แต่ภาพที่มักนึกถึงกันมากที่สุดคงเป็นภาพของฝิ่นและเฮโลอีน ภาพความลึกลับ ดินแดนน่าสะพรึงกลัวของการปลูกฝิ่นและกลอบค้าฝิ่น ขณะที่ภาพของสงครามกลางเมือง กองทหารและการสู้รบก็ยังคงอยู่ในห้วงมโนของผู้คนมานานกว่าครึ่งศตวรรษ การกวาดล้างโรงงานผลิตเฮโลอีน คาราวานขนฝิ่นไปตามเส้นทางในป่าปรากฏเป็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ด้วยความที่เป็นดินแดนแห่งปริศนานี่เอง ทำให้ชื่อ “สามเหลี่ยมทองคำ” เป็นแหล่งผลิตเฮโลอีนกว่าครึ่งของจำนวนที่มีอยู่ทั้งหมดในโลก

สามเหลี่ยมทองคำ จึงถือเป็นรากเหง้าของอาชญากรรมและการกระทำอันทุจริตที่เกิดขึ้นในทวีปเอเชีย จนแพร่ไปสู่แอฟริกา ยุโรปและอเมริกา ทุกปีมีนักท่องเที่ยวนับแสนคนจากทั่วโลกเดินทางมาเยือนดินแดนแห่งการปลูกฝิ่น ที่ชื่อ “สามเหลี่ยมทองคำ” กระทั่งปี พ.ศ. 2531 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงริเริ่มโครงการพัฒนาดอยตุงขึ้นในจังหวัดเชียงราย โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายในการคืนผืนป่าและฟื้นฟูสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เทือกเขานางนอน รวมถึงหยุดการปลูกฝิ่นในดินแดนแห่งนี้ หลายปีผ่านไปสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงริเริ่มโครงการที่จะช่วยให้การศึกษาแก่ประชาชนในเรื่องประวัติศาสตร์ของฝิ่นในดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ เพื่อเป็นการปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนร่วมกันต่อต้านยาเสพติด ให้คนเข้าใจว่า ยาเสพติดประเภทต่าง ๆ ไม่เฉพาะจะก่อให้เกิดปัญหากับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้เท่านั้น แต่ยังสร้างปัญหาให้กับประชากรและสังคมโลก

SV-AS10 ImageData

การริเริ่มโครงการในครั้งนั้น ส่งผลสืบเนื่องให้เกิด “หอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ” ภายในพื้นที่กว่า 250 ไร่ แวดล้อมด้วยพรรณไม้อันร่มรื่น ทำให้หอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ เป็นศูนย์นิทรรศการแสดงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของฝิ่น เมื่อสมัยที่การสูบฝิ่นยังเป็นเรื่องที่ถูกกฏหมายอยู่ นอกจากนั้น หอฝิ่น อุทยานสามหลี่ยมทองคำยังทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลเพื่อการค้นคว้าวิจัยและการศึกษาเรื่องฝิ่น สารสกัดจากฝิ่นในรูปแบบต่าง ๆ อีกด้วย ภายใน หอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ มีการแบ่งห้องนิทรรศการออกเป็นส่วนต่าง ๆ ดังนี้ เริ่มตั้งแต่ห้องโถง สามารถมองเห็นทุ่งดอกฝิ่นจำลองและศึกษาเรื่องราวความรู้เบื้อต้นเกี่ยวกับพันธุ์ต่าง ๆ ของป๊อปปี้ รวมทั้งกระเปาะแห้งของต้นป๊อปปี้ที่ใช้ประโยชน์ในการตกแต่งจัดดอกไม้แห้ง ถัดจากห้องโถงเป็นห้องประชุม มีการจัดฉาย VTR เล่าถึงที่มา เรื่องราวในการจัดหอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ ห้องปัญจสหัสวรรษแรก ผู้ชมจะเดินทางเข้าสู่การแกะรอยประวัติศาสตร์อันยาวนานและมนต์เสน่ห์ของพืชพิเศษประเภทนี้ การแกะรอยประวัติศาสตร์ของฝิ่นโดยเริ่มต้นจากถิ่นกำเนิดของฝิ่น บริเวณชายฝั่งทะลเมดิเตอร์เรเนียน มีหลักฐานการค้นพบครั้งแรกที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ตลอดจนหลักฐานที่มีการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรชิ้นแรกในตำราทางการแพทย์ (Sumerian) รวมถึงการใช้ฝิ่นในทางการแพทย์และการศาสนาของกรีกโบราณ บริเวณผนังทั้งสองด้านของทางเดินในช่วงนี้ถูกออกแบบให้สะท้อนถึงด้านดีและด้านร้ายที่ได้จากการใช้ฝิ่น ด้านดีเป็นด้านที่สว่างสามารถมองเห็นภาพของการใช้ยาที่สกัดจากฝิ่นเพื่อประโยชน์ของการรักษาและบรรเทาอาการเจ็บปวด ขณะที่ด้านร้ายของพืชชนิดนี้จะเห็นอาการทุกข์ทรมานจากการเสพติด ภาพการใช้เข็มฉีดยาและสภาพร่างกายที่เสื่อมโทรมของผู้เสพ

SV-AS10 ImageData

ต่อจากนั้น ผู้ชมจะก้าวเข้าสู่ยุคของการค้าระหว่างจักรวรรดิยุโรปกับเอเชีย เพื่อที่จะได้เรียนรู้ว่าฝิ่นเป็นสินค้าสำคัญในเชิงพาณิชย์อย่างไรและฝิ่นได้กลายเป็นสารเสพติดที่แพร่หลายไปทั่วโลกอย่างไรบ้าง โดยห้องนี้มีการจำลองท่าเรือพาณิชย์อังกฤษ ผู้ชมสามารถเดินทางผ่านห่อใบชา ผ้าไหม เครื่องลายครามและเครื่องเทศอันเป็นสินค้าของตะวันออก ผสมผสานกับวัฒนธรรมการดื่มชาของชาวอังกฤษ และเป็นสาเหตุของการขาดดุลยการค้าอย่างมหาศาลจนเกือบทำให้ประเทศนี้ล่มสลาย จากนั้นเดินทางสู่เรือสินค้าของยุโรปที่ออกเดินทางจากอังกฤษมาอินเดียพร้อมกับชมการจำลองโรงงานผลิตฝิ่นในอินเดีย เรือบรรทุกสินค้าจะหยุดพักที่เมืองสิงคโปร์เพื่อเติมเสบียง และขนถ่ายสินค้าบางส่วนลงเรือขนาดเล็กสู่ท่าเรือท้องถิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น สงขลา จันทบุรี สิงคโปร์ จึงเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างอินเดียกับจีน ในยุคนี้ถือว่าฝิ่นเริ่มแพร่หลายเข้าสู่จีนแผ่นดินใหญ่ กระทั่งนำมาซึ่งความขัดแย้งใน “สงครามฝิ่น” เมื่อชาวอังกฤษบังคับให้จีนเปิดประตูการค้าเสรี ในราวต้นศตวรรษที่ 19 มีคนจีนกว่า 13 ล้านคนติดฝิ่น ส่งผลให้เศรษฐกิจของจีนถูกทำลายลงอย่างย่อยยับ จากการที่จีนต้องนำเข้าฝิ่นเป็นจำนวนมหาศาล และราชวงศ์แมนจู ก็ตกอยู่ในภาวะแห่งการล่มสลายภายในห้องนี้จะเล่าถึงเหตุการณ์สำคัญ รวมทั้งสงครามที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของจีน

โดยมีการแสดงหุ่นจำลองของบุคคลสำคัญสามคนของจีน และบุคคลสำคัญสามคนของอังกฤษที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามฝิ่น ห้องถัดมาเป็นห้องจัดแสดงเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ได้แก่ การทำลายฝิ่นที่หู่เหมินโดยข้าหลวงหลินเจ๋อสวี การเผาทำลายหยวนหมิง – หยวนซึ่งเป็นพระราชวังฤดูร้อนอายุกว่า 150 ปี และการถูกริดรอนสิทธิและผลกระทบด้านความเป็นอยู่ของชาวจีนหลังสงครามฝิ่นสงบลง

SV-AS10 ImageData

จากชั้นบนเดินลงมาชั้นล่าง เมื่อเข้าห้องนี้จะผ่านประตูเมืองเจดีย์รัตนโกสินทร์ตั้งอยู่ ภายในห้องมีการจำลองโรงน้ำชาจีนในย่านเยาวราชโดยมีหุ่นนอนสูบฝิ่น 2 ตัว ความเป็นมาของฝิ่นในสยาม แม้ว่าฝิ่นจะไม่ได้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย แต่ก็มีหลักฐานยืนยันว่าคนไทยรู้จักฝิ่นมาตั้งแต่สมัยโบราณกาลแล้ว ในสมัยรัชกาลที่ 1-3 พระราชบัญญัติห้าค้าฝิ่นและการสูบฝิ่นยังคงถูกประกาศใช้อย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ฝิ่นในสยามเริ่มเปลี่ยนแปลงหลังจากที่อังกฤษรบชนะจีนในสงครามฝิ่น อีกส่วนต่อมาจะจัดแสดงของหายาก เช่น ลูกเป้ง ตลับยาฝิ่น รวมทั้งพื้นที่จำลองการเคี่ยวฝิ่น และพระพุทธรูปจำลองที่ได้จากการหลอมกลักใส่ฝิ่น ต่อจากนั้น นักท่องเที่ยวจะได้รู้ถึง “พัฒนาการทางวิทยาศาสตร์” ของตะวันตกที่นำไสู่การแยกตัวของมอร์ฟีน พัฒนาการของเฮโลอีน และการฉีดเฮโลอีนเข้าใต้ผิวหนัง มีชาวตะวันตกจำนวนมากต้องติดยาแก้ปวดประเภทนี้ รวมถึงฝิ่นและยาเสพติดประเภทอื่นการตามรอยประวัติศาสตร์จบลงด้วยการที่ทั่วโลกต้องหันมาป้องกันฝิ่นและยาเสพติดในช่วงศษวรรตที่ 20

โดยยาเสพติดที่ผิดกฏหมายอยู่ภายใต้การควบคุมขององค์การอาชญากรรม อันเป็นความพยายามของชาวโลกในการร่วมใจพัฒนาเพื่อต่อสู้กับการลักลอบค้ายาเสพติดและการใช้ยาในทางที่ผิด ห้องสุดท้ายเป็นห้องคิดคำนึง ผู้ชมมีโอกาสอยู่กับตัวเองและตั้งคำถามเกี่ยวกับประสบการณ์ทั้งหมดที่ได้รับจากการชมนิทรรศการฝิ่น โดยหวังว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาสัมผัส หอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ จะก้าวออกจากอาคารนิทรรศการแห่งนี้ไปด้วยความรู้สึกที่ปรารถนาจะมีส่วนร่วมในการเห็นถึงโทษภัยของพืชอันตรายนามว่า “ฝิ่น” มากยิ่งขึ้นสนใจเข้าชมนิทรรศการใน หอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เปิดให้เข้าชมทุกวันพฤหัสบดี – วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10.00-15.30 น. สอบถามรายละเอียดได้ที่ หอฝิ่น อุทยานสามเหลี่ยมทองคำ 053-652151

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น