กมธ.สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน เดินหน้าโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล

เดินหน้าโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพลใช้งบประมาณ 7 หมื่นล้านบาท กมธ.สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ดูจุดโครงการก่อสร้างเขื่อนน้ำยวม ผันน้ำลงเขื่อนภูมิพล คาดลงทุน 70,000 ล้าน หวังลดปัญหาขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา

นายวีระกร คำประกอบ รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร ได้เดินทางลงพื้นที่เมื่อวันที่ 19 ม.ค.63 เพื่อรับทราบข้อปัญหาและผลกระทบในการสร้างอุโมงค์ผันน้ำ และตรวจภูมิประเทศ โดยมี นายชิดชนก สุขมงคล ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง พร้อมด้วย นายวิชัย ปินะสุ ผอ.ส่วนอุทยานแห่งชาติ นายชวลิต อภิหิรัญตระกูล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่เงา (เตรียมการ) ปกครองอำเภอสบเมย จนท.ตำรวจภูธรสบเมย จนท.หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 36 จนท.สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแม่ฮ่องสอน จนท.กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน 337 ตัวแทนภาคประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือรับฟังและชี้แจ้งผลกระทบปัญหาต่างๆ ณ ห้องประชุม ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่เงา (เตรียมการ) อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

หลังจากนั้น ได้เดินทางไปยังบริเวณท่าเรือบ้านสบเงา สะพานรอยต่อระหว่างจังหวัดแม่ฮ่องสอน และ จังหวัดตาก โดยได้ลงเรือล่องตามลำน้ำเงา-น้ำยวม ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร เพื่อไปยังบริเวณที่จะสร้างเขื่อนกักน้ำบริเวณห้วยน้ำแดง บ.ท่าเรือ ม.8 ต.สบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อดูสภาพภูมิประเทศจุดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำ หรือสถานีทดน้ำ เพื่อดูพื้นที่ จุดที่จะมีการสร้างอุโมงค์ผันน้ำ และพื้นที่คาดว่าจะถูกน้ำท่วมหลังการสร้างเขื่อนน้ำยวม เพื่อผันน้ำสู่เขื่อนภูมิพล โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล และโครงการแนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ตั้งอยู่ที่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน อ.ฮอด อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ อยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์กว่า 500 ไร่ และผ่านพื้นที่ป่าจำนวน 7 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติแม่เงา(เตรียมการ),ป่าสงวนแห่งชาติท่าสองยาง,ป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่มแม่ตื่น,ป่าสงวนแห่งชาติป่าอมก๋อย,ป่าสงวนแห่งชาติแม่ยวมฝั่งซ้าย และป่าสงวนแม่ยมฝั่งขวา

นายวีระกร คําประกอบ รองประธานคณะกรรมาธิการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบคนที่หนึ่ง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยา เปิดเผยว่าเหตุผลที่มีโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล และโครงการแนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล สืบเนื่องจากปัญหาปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ที่มีความจุ 9,662 ล้านลูกบาศน์เมตร ปัจจุบันมีน้ำเฉลี่ยไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล 5,677 ล้าน ลบ.ม.ลดลงจากอดีต 12 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่เพียงพอกับกับการใช้การเกษตรในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และผลักดันน้ำเค็ม และยังลุ่มน้ำปิงตอนบนยังมีแนวโน้มใช้น้ำเพิ่มขึ้น มีความจำเป็นที่จะต้องหาแหล่งน้ำมาเพิ่มเติม โดยโครงการผันน้ำยวมจึงเป็นหนึ่งทางเลือก

ด้านผู้นำหมู่บ้านแม่เงา หมู่ที่ 8 ต.แม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ตัวแทนชาวบ้านที่เข้าร่วมหารือกับคณะ กมธ. ยอมรับว่าชาวบ้านกังวลกับการสร้างเขื่อน โดยเฉพาะอุโมงค์บริเวณหมู่บ้าน แม้การศึกษาออกแบบจะไม่ให้กระทบกับชาวบ้านแม่เงา ชาวบ้านยืนยันว่าจุดจะเจาะอุโมงค์มีบ้านเรือนของชาวบ้านอาศัยอยู่ หากมีการก่อสร้างจะย้ายชาวบ้านที่อาศัยอยู่ไปอยู่ที่ไหน วิถีชีวิต และพื้นที่ดินทำกินจะดูแลอย่างไร เพราะพื้นที่ชาวบ้านอาศัยและทำกินทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ป่าที่อาศัยและทำกินมานาน

ขณะที่ข้อกังวลที่ระดับน้ำที่จะท่วมบ้านเรือนของชาวบ้าน ผู้อำนวยการส่วนวางโครงการที่ 1 สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน ยืนยันว่าระดับน้ำหลังการสร้างเขื่อนจะไม่สูงกว่าระดับน้ำที่เคยท่วมในฤดูฝน ซึ่งการมีเขื่อนและสถานีสูบน้ำจะช่วยควบคุมปริมาณน้ำ ขณะที่อุโมงค์ผันน้ำระยะทาง 61 กิโลเมตร ส่วนพื้นที่บ้านเรือน และพื้นที่เกษตรกรรม ที่อาศัยบริเวณโครงการมีจำนวน 24 หลังคาเรือน รวมพื้นที่ทำกิน 105.05 ไร่ คาดว่าต้องชดเชยประมาณ 27 ล้านบาท กรณี พื้นที่ที่คาดว่าราษฏรจะได้รับผลกระทบ ประมาณ 40 ไร่ ราษฏร 4 ครอบครัวที่ซึ่งมีอาชีพทำไร่ โดยทางภาครัฐจะดำเนินการชดเชยตามระเบียบ

ทั้งนี้ นายวีระกร คำประกอบ รองประธานคณะกรรมาธิการฯ เผยว่าการติดตามโครงการผันน้ำยวม สู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา บริเวณสบเงา ที่คณะได้เดินทางมาดูสภาพภูมิประเทศและจุดที่ตั้งของสถานีอ่างกักเก็บน้ำหรือสถานีทดน้ำเพื่อสูบน้ำข้ามภูเขาสูง ประมาณ 170 เมตรขึ้นไป อ่างเก็บน้ำกว้างประมาณ 35 เมตร สูง 25 เมตร ไหลผ่านอุโมงค์กว้าง 8 เมตร ส่งน้ำความยาวรวม 61 กิโลเมตร. สำหรับการเติมน้ำเขื่อนภูมิพล ลักษณะของการผันน้ำนี้จะเป็นอุโมงค์ผ่านภูเขา โดยเอาน้ำจากแม่น้ำยวมไหลลงน้ำงูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ก่อนไหลลงสู่เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำผันเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 1.700 ล้านลูกบาศน์เมตร/ปี ซึ่งการตั้งสถานีสูบน้ำนี้จึงเป็นความหวังของพี่น้องลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งหมดที่จะได้รับน้ำไปใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า แทนที่จะปล่อยไหลลงสู่สาละวินอย่างเปล่าประโยชน์ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าโครางการผันน้ำจากกลุ่มลุ่มน้ำสาละวิน แม่น้ำยวม-แม่น้ำเมย สู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะเกิดประโยชน์สูงสุด

ร่วมแสดงความคิดเห็น