รร.บ้านในเวียง วัดน้ำโค้ง นำนักเรียนร่วมงานประเพณีทำบุญตักบาตร พระพุทธวิชิตมาร ประจำปี 2563

เมื่อเช้าวันที่ 21 มกราคม 2563 นายหอมแต่ง อ่องลออ ผอ.รร.บ้านในเวียง วัดน้ำโค้ง สพป.แพร่ เขต 1 ได้นำนักเรียนเข้าร่วมงานประเพณีทำบุญตักบาตรประจำปี พระพุทธวิชิตมารประทานสันติสุขสวัสดี ชินสีห์ธรรมบพิตร ประจำปี 2563 ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปีโดยสถาบันประชารัฐพิทักษ์ป่า โดยกำหนดจัดเป็นประจำทุกวันที่ 21 มกราคม ของทุกปี อันเป็นวันเริ่มบูรณะองค์หลวงพ่อเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2514 หลวงพ่อพุทธวิชิตมารสันติสุขสวัสดี ชินสีห์ธรรมบพิตรเป็นพระพุทธรูปประจำโรงเรียนป่าไม้แพร่ที่ประชาชนชาวจังหวัดแพร่ ได้ให้ความเคารพบูชาและนับถือมาเป็นระยะเวลายาวนาน และในปี 2563 นี้ โรงเรียนบ้านในเวียง วัดน้ำโค้ง ได้รับเกียรติจากท่าน อภิรักษ์ อิ่มจิตอนุสรณ์ ผอ.สพป.แพร่ เขต 1 มาร่วมให้กำลังใจและร่วมทำบุญตักบาตรกับนักเรียนด้วย

ประวัติพระพุทธวิชิตมาร (หลวงพ่อเศียรขาด) “พระพุทธวิชิตมาร” เดิมเรียกว่า “หลวงพ่อเศียรขาด” เป็นพระพุทธรูปซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในบริเวณสถาบันประชารัฐพิทักษ์ป่า หรือโรงเรียนป่าไม้เดิมหลวงพ่อเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของนักศึกษาโรงเรียนป่าไม้แพร่ และประชาชนทั่วไป เป็นพระพุทธรูปที่ได้รับการบันทึกว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์ 1 ใน 20 ของพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ในประเทศไทย

พระพุทธวิชิตมาร เป็นพระพุทธรูปสร้างด้วยปูนขาวสมัยโบราณ ประทับอยู่กับพื้น หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ความเป็นมาของพระพุทธวิชิตมาร จากหลักฐานและตำนานที่ได้บันทึกไว้ของโรงเรียนป่าไม้แพร่ มีดังนี้

“หนานขัด” แขลา (วงศ์ แขลา) อดีตเคยทำงานในคุ้มเจ้าหลวงนครเมืองแพร่ ได้เล่าว่าสมัยบวชเป็นเณร เมื่ออายุได้ 14 ปี เข้าไปเก็บผลไม้ คือ มะหลอดหรือส้มหลอด หลังป่าทึบของกำแพงเมือง ซึ่งมีเชิงเทินไว้สำหรับรบพุ่งข้าศึกและมีประตูกำแพงลอดออกไปข้างนอกได้ ประตูนี้เรียกว่า “ประตูมาร” ปัจจุบันได้ขุดเป็นถนนจากบ้านพระนอนไปสู่วิทยาลัยเทคนิคแพร่ ได้พบพระพุทธรูปองค์หนึ่งมีลักษณะสง่างามมาก มีพระวรกายและพระพักตร์ขาวตลอด มีพระเกศเป็นมวยผมอยู่ด้วย ห่มจีวรสไบเฉียงสีทอง มีสายระย้าห้อยเป็นพู่เรียงกันอยู่ที่ปลายสไบ ฐานเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงายสลับกัน บันทึกของหนานขัด ยังได้กล่าวว่า เคยชวนพวกเณรด้วยกันเข้าไปทำวัตรค่ำที่นั่นเสมอ ได้พยายามเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปองค์นี้ไปไว้ในวัดพระนอน แต่กระทำไม่ได้ เนื่องจากมีน้ำหนักมาก

ต่อมา ได้สอบถามพ่อเฒ่าคำ ซึ่งขณะนั้นมีอายุประมาณ 80 ปี (พ.ศ. 2414) ท่านบอกว่า พระพุทธรูปองค์นี้ เป็นพระประธานของวัดเก่าชื่อ “วัดโปรดสัตว์” เหตุที่ตั้งชื่อดังนี้ เนื่องจากสมัยก่อนเมื่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจับกุมผู้ร้ายได้ก็จะนำตัวไปประหารชีวิตแล้วจะต้องผ่านวัดนี้ พระภิกษุที่อยู่ในวัดมักจะเข้ามาสอบถามว่ามีโทษหนักร้ายแรงขนาดไหน ถ้าเห็นว่าโทษนั้นไม่ร้ายแรงมากนักพระภิกษุจะขอบิณฑบาตไว้ แต่ถ้าเป็นโทษหนักก็จะปล่อยเลยตามเลย ทำให้ผู้กระทำผิดหลายคนหลุดพ้นจากการประหารชีวิตวัดแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “วัดโปรดสัตว์” ในกาลต่อมาพระพุทธรูปได้ทรุดโทรมลง เนื่องจากได้มีผู้ไปตัดเศียรพระพุทธรูป เพื่อจะค้นหาข้าวของมีค่าหรือพระเครื่อง ซึ่งเข้าใจว่าบรรจุไว้ในองค์พระ เมื่อไม่พบจึงได้ขุดที่ฐานอีก ทิ้งร่องรอยปรากฏอยู่ ทำให้เศียรพระพุทธรูปหล่นอยู่ที่หน้าพระพุทธรูป ทำให้มีการเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “หลวงพ่อเศียรขาดเมืองแพร่”

จนถึงปี พ.ศ.2511 โรงเรียนป่าไม้แพร่ โดยนายณรงค์ กฤตานุกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะศิษย์เก่าโรงเรียนป่าไม้แพร่ ได้บูรณะพระพุทธรูปองค์นี้ เป็นการใหญ่มีการระดมทุนจากศิษย์เก่าและงบประมาณจากกรมป่าไม้ พร้อมทั้งได้แต่งตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วย นายรัตน์ พนมขวัญ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนป่าไม้แพร่ เป็นประธาน

การบูรณะดังกล่าวได้กระทำกันถึง 2 ครั้ง รวมทั้งการต่อเศียรพระพุทธรูปองค์นี้เป็นแบบสุโขทัยปางสะดุ้งมาร ส่วนการตั้งชื่อพระพุทธรูปนั้น สมเด็จพระสังฆราชอริยวงศาคตญาณ วัดมกุฏกษัตริยาราม ประทานนามว่า “พระพุทธวิชิตมารประทานสันติสุข สวัสดีชินสีห์ธรรมบพิตร” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และทุกวันที่ 21 มกราคม ของทุกปี ศิษย์เก่าโรงเรียนป่าไม้แพร่ จะจัดงานทำบุญไหว้หลวงพ่อพระพุทธวิชิตมาร มีความเชื่อและมีการเล่าสืบต่อกันว่า คนที่ประกอบสัมมาชีพแล้ว แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ด้วยอาจมีมารผจญคอยขัดขวางความเจริญก้าวหน้า ให้มากราบไหว้องค์พระพุทธวิชิตมาร ด้วยความศักดิ์สิทธิ์แห่งองค์พระ จะช่วยกำจัดสิ่งชั่วร้ายที่มาแผ้วพานเราให้หมดไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น