ป.ป.ส. ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าของกลางยาเสพติดไม่มีการรั่วไหล

จากการที่แต่ละปีมีการจับยึดยาเสพติดของกลางโดยเฉพาะยาบ้า ไอซ์ และกัญชาได้จำนวนมาก และมีประชาชนส่วนหนึ่งแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ถึงยาเสพติดของกลางที่เจ้าหน้าที่จับยึดได้ว่าถูกดำเนินการไปอย่างไร และบางส่วนถึงขั้นมีข้อสงสัยว่ายาเสพติดของกลางดังกล่าวถูกนำออกมาเวียนทำการจับยึดซ้ำหรือไม่ ถูกลักลอบนำออกมาจำหน่ายหรือไม่ รวมถึงที่ทำลายไปนั้นเป็นยาเสพติดของจริงหรือไม่

วันที่ 20 มกราคม 2563 นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) เปิดเผยว่า ในแต่ละปีจะมีการจับยึดยาเสพติดของกลางได้รวมจำนวนมาก ซึ่งประชาชนจะได้รับข้อมูลข่าวสารการจับทุกวัน ส่วนปริมาณ/จำนวนยาเสพติดจะมากหรือน้อยขึ้นกับแต่ละคดี แต่การดำเนินการกับยาเสพติดของกลางหลังการจับ โดยเฉพาะขั้นตอนการทำลายยาเสพติดของกลางนั้นไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน และในทางปฏิบัติก็เกิดขึ้นปีละ 2-3 เท่านั้น เพราะมีกระบวนการ ขั้นตอน และวิธีการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงเป็นเหตุให้ประชาชนไม่ได้รับรู้ข่าวสารแต่อย่างไรก็ตามทุกครั้งที่มีการทำลายยาเสพติดของกลางจะมีการสร้างการรับรู้ให้ทราบในวงกว้าง

เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่ากระบวนการดำเนินการต่อยาเสพติดของกลางดังกล่าวมีความเข้มงวดรัดกุม โดยแบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอน ดังนี้

1) ขั้นจับยึด เจ้าหน้าที่ผู้จับต้องทดสอบเบื้องต้นว่าวัตถุที่ยึดได้นั้นเป็นยาเสพติดหรือไม่ นับจำนวน หรือชั่งน้ำหนัก จัดทำบันทึกจับ แจ้งข้อกล่าวหา นำตัวผู้ต้องหาพร้อมยาเสพติดของกลางส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี

2) ขั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนรับผู้ต้องหาและยาเสพติดของกลาง ทำการตรวจนับและหรือชั่งน้ำหนักยาเสพติดของกลาง ต่อหน้าที่เจ้าหน้าที่ผู้จับ บรรจุยาเสพติดของกลางลงในภาชนะปิดผนึก พร้อมให้มีการลงลายมือชื่อเจ้าหน้าที่ผู้จับ พนักงานสอบสวน และผู้ต้องหา ลงเลขคดี จากนั้นนำส่งสถานตรวจพิสูจน์

3) ขั้นตรวจพิสูจน์ เจ้าหน้าที่สถานตรวจพิสูจน์รับยาเสพติดของกลาง นับหรือชั่งน้ำหนัก ทำการสุ่มตามหลักวิชาการที่กำหนดไว้เพื่อตรวจพิสูจน์เบื้องต้น และทำการตรวจพิสูจน์โดยละเอียดตามขั้นตอน เพื่อออกรายงานผลการตรวจพิสูจน์ จากนั้นส่งไปเก็บรักษายัง “ห้องมั่นคง”

4) ขั้นการเก็บรักษา ยาเสพติดของกลางที่ผ่านการตรวจพิสูจน์แล้วจะถูกส่งไปเก็บรักษายัง “ห้องมั่นคง” ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ซึ่งจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อทำหน้าที่ตรวจรับ และทำบัญชีเก็บไว้เป็นหลักฐานรอการทำลาย

5) ขั้นการทำลาย การทำลายยาเสพติดของกลางจะมีขึ้นอย่างน้อยปีละครั้ง โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงานดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อเผาทำลายจนหมดสิ้นซึ่งก่อนการทำลายก็จะมีการสุ่มตรวจยืนยันอีกครั้ง และมีบุคลากรที่เป็นตัวแทนจากหลายส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นสักขีพยานการทำลาย

เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวอีกว่ากระบวนการที่กล่าวทั้งหมดในแต่ละขั้นตอน จะดำเนินการโดยบุคลากรที่เป็นคนละส่วน มีผู้เกี่ยวข้องมากกว่า 1 คน ประการสำคัญคือมีการตรวจสอบซึ่งกันและกันทุกขั้นตอน มีการจัดทำบันทึกและการถ่ายภาพทุกขั้นตอน หากเกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งจะไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้

ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ว่ายาเสพติดของกลางที่เข้าสู่กระบวนการดังกล่าว จะมีการรั่วไหล ถูกนำออกไปจับยึดซ้ำ นำออกไปจำหน่าย หรือเป็นยาเสพติดปลอม จึงขอให้พี่น้องประชาชนเชื่อมั่นในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ว่าได้ดำเนินการอย่างถูกต้องรัดกุม และขอให้ช่วยเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้วยความเสียสละทุ่มเทเสี่ยงอันตรายในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วย

เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวเพิ่มเติมว่าในปี 2562 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2562 ได้มีการเผาทำลายยาเสพติดซึ่งกฎหมายอนุญาตให้เผาทำลายได้ซึ่งเป็นคดีตั้งแต่ก่อนปี 2560 ถึงปี 2561 แยกเป็น ยาบ้า 137.4 ล้านเม็ด ไอซ์ 3.4 ตัน เฮโรอีน 143 กก. ฝิ่น 259 กก. โคเคน 44 กก. และยาเสพติดอื่น ๆ รวม 209 กก. และล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2562 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เป็นประธานในการเผาทำลายกัญชาของกลางรวม 10 ตัน

เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวย้ำว่าการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และแนวทางของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดเพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชน และขอความร่วมมือช่วยกันสอดส่องเป็นหูเป็นตา หากพบการกระทำหรือพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องตามกระบวนการข้างต้น สามารถแจ้งเข้ามาได้ที่ สายด่วน ป.ป.ส. โทร.1386 ตลอด 24 ชั่วโมง


ร่วมแสดงความคิดเห็น