ผู้ติดยาพุ่งสูง เชียงใหม่ที่ 3 ของไทยเข้ารับบำบัดฟื้นฟู

เครือข่ายสาธารณสุข จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า หากติดตามสถานการณ์ปัญหาด้านสุขภาพ ในกลุ่มเยาวชน และกลุ่มเสี่ยงจะพบว่า ปัญหายาเสพติดในพื้นที่เชียงใหม่และหลาย ๆ จังหวัด ในภาคเหนือยังน่าเป็นห่วง แม้ว่าหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.), ฝ่ายความมั่นคง, ฝ่ายปกครอง, ท้องถิ่น, ท้องที่, สถานศึกษา และสาธารณสุขจะร่วมมือลุยทุกมาตรการที่มีเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด ในรายงานการตรวจราชการระดับจังหวัด ปีงบ 2562 ที่ผ่านมา ระดับจังหวัดนั้น พบว่า เชียงใหม่ยังคงเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง ปัญหายาเสพติด เพราะเป็นทั้งแหล่งพัก แหล่งผลิต ช่องทางขนส่งระหว่างประเทศ และตลาดจำหน่ายส่วนหนึ่งของกลุ่มค้ายา ส่งผลให้มีจำนวนผู้เสพยาสูงอย่างต่อเนื่อง

สถิติล่าสุด (ปีงบ 2561 ) มีผู้ติดยาเข้ารับการบำบัดกว่า 9,474 ราย มากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ รองจากกรุงเทพและสงขลา ซึ่งการรับการบำบัดนั้นจะมีทั้งรูปแบบสมัครใจ และระบบต้องโทษ เป็นชายมากหญิง อายุน้อยสุดที่เข้าบำบัด 14 ปี ส่วนใหญ่ เสพยาบ้า รองลงมาคือ เฮโรอีน ระบบตรวจสอบมีข้อมูลผู้รับการบำบัดในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาของเชียงใหม่ พบว่ามีภูมิลำเนาจาก อำเภออมก๋อยมากที่สุด รองลงมาคือ อำเภอเชียงดาว, อำเภอเมือง, อำเภอแม่แตง และอำเภอฝาง ซึ่งสถิติย้อนหลัง 5 ปีของผู้ติดยา เข้ารับการบำบัดเฉลี่ยปีละ 8-9 พันราย เป็นผู้ติดยาบ้ามากที่สุด ในการบำบัดแต่ละพื้นที่จะมีการจัดตั้งศูนย์ เพื่อการคัดกรอง โดย รพ.ประจำอำเภอจะเป็นศูนย์กลาง มีเครือข่ายบุคลากรด้านการสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านยาเสพติดร่วมบูรณาการแผน สามารถตรวจหาสารเสพติด รายบุคคลได้ 24 ชั่วโมงทุกพื้นที่ ผลการปฏิบัติงานเชิงรุกใน 25 อำเภอ ทำให้เกิดการสมัครใจรับบำบัดปีที่ผ่านมากว่า 5,236 ราย และ ระบบบังคับบำบัดกว่า 3,251 ราย, ต้องโทษอีก 987 คน

ผลการประเมินในกลุ่มรับบำบัด จะใช้เกณฑ์ต้องไม่เสพซ้ำใน 3 เดือน ซึ่งคณะทำงานด้านวิชาการจะมีสถาบันบำบัด รักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เป็นทีมหลักและพัฒนาสถานบริการสาธารณสุข ให้เป็นกลุ่มบริการที่มีศักยภาพด้านสาธารณสุข บำบัดผู้ติดยาอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จากการตรวจสอบของทีมข่าว สถิติจำนวนผู้ป่วย ปีงบ 2562 รพ.ธัญญารักษ์เชียงใหม่ พบว่า ผู้ป่วยรับใหม่จะเป็นยาเสพติดสูงสุด ช่วงอายุ 22-59 ปี สูงสุด จำนวนผู้ป่วยเฉลี่ยต่อวัน 248 ราย ที่ผ่านมา มีผู้รับบำบัด (ตามอัตราครองเตียง) กว่า 58,714 ราย แยกเป็นสมัครใจ 21,252 ราย และตาม พ.ร.บ. (บังคับบำบัด-ต้องโทษ ) 37,462 ราย สำหรับงบประมาณในการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ติดยานั้น จะมีแผนบูรณาการป้องกัน ปราบปรามและบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ทุก ๆ ปี เนื่องจากผู้ติดยาถือว่าเป็นผู้ป่วย จะมีการจัดสรรให้หน่วยงานสาธารณสุขแต่ละจังหวัดตามจำนวนผู้รับบำบัด เฉลี่ย 3 พันบาท/รายหัว (ค่าตรวจปัสสาวะหาสารเสพติด 50 บาท/คน – ค่าใช้จ่ายติดตามฟื้นฟูช่วยเหลือเฉลี่ย 480 บาท)

โดยเป้าหมายเฉลี่ยต่อปี 1-2 แสนราย ซึ่งเป้าหมายปี 2562 ราว ๆ 1 แสนราย แยกเป็นสมัครใจ 74,000 ราย บังคับบำบัดอีก 31,000 ราย ซึ่งค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวจะรวมทั้งค่าตอบแทน ค่าใช้สอย วัสดุในการบำบัดรักษา ตามเกณฑ์ที่กำหนดคณะทำงานศูนย์บำบัดผู้ติดยาเสพติด ในเชียงใหม่ กล่าวว่าตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ คือ ผู้รับบำบัดต้องไม่หันมาเสพติดอีกหลังบำบัดไปแล้ว 3 เดือน พบว่ามีผู้ติดยาหันมาเสพย์อีกน้อยราว ๆ 20 % แต่อัตราผู้ป่วยใหม่เพิ่มสูงกว่า ร้อยละ 40 ดังนั้นมาตรการป้องกันผู้ติดยา คือ ต้องสกัดกั้นการแพร่ระบาด ปราบปรามเด็ดขาดเพิ่มโทษหนัก ทำลายวงจรการตลาด เพราะยาเสพติด เป็นภัยอันตรายต่อสังคม ทำลายครอบครัว ก่อปัญหาอาชญากรรม

ร่วมแสดงความคิดเห็น