นำสู่ผลงานวิจัย การดูแลสุขภาพ และภาวะสุขภาพของพระสงฆ์ เมืองเชียงตุง

วันอังคารที่ 21 มกราคม 2563 มูลนิธิลุ่มแม่น้ำโขง ศูนย์บัณฑิตศึกษา สาขาปรัชญา กับโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ “นำเสนอโครงการวิจัย การศึกษาสถานการณ์การดูแลสุขภาพ และภาวะสุขภาพของพระสงฆ์เมืองเชียงตุง” ตามที่ทางมูลนิธิการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ศูนย์บัณฑิตศึกษา สาขาวิชาปรัชญา ร่วมกับทางโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ ได้จัดการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพพระสงฆ์ ตามหลักสูตรพระคิลานุปัฏฐาก (พระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด) ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

โดยมีทีมพยาบาลโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ จัดกิจกรรมถวายองค์ความรู้ แด่พระสงฆ์ในเมืองเชียงตุง ระหว่างวันที่ 5-9 ธันวาคม 2562 ณ เมืองเชียงตุง ประเทศเมียนมา เรื่องการดูแลสุขภาพเบื้องต้น และการตรวจคัดกรอง และถวายอุปกรณ์สำคัญในการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ เพื่อให้สามารถดูแลตนเองและพระสงฆ์ด้วยกันเอง และดูแลประชาชนในชุมชน นอกจากนั้นได้มีกิจกรรมคัดกรองภาวะสุขภาพของพระสงฆ์ และประชาชนเมืองเชียงตุงในเขต 3 หมู่บ้าน ได้แก่บ้านหนองม้า บ้านฮายใต้ และบ้านหนองพุ่ง

ผลการคัดกรองภาวะสุขภาพของพระสงฆ์ และประชาชนเมืองเชียงตุงเมื่อ วันที่ 5-9 ธันวาคม 2562 จำนวน 140 รูป/คน พบว่ามีภาวะความดันโลหิตสูง ร้อยละ 65.15 ปวดหลัง ร้อยละ 17.15 ปวดขาร้อยละ 7 โรคผิวหนัง ร้อยละ 6 โรคทางเดินหายใจ ร้อยละ 4 และพบว่ามีความเสี่ยงด้านสุขภาพได้แก่ ภาวะความดันโลหิตมากกว่า 140/90 มม.ปรอท ร้อยละ 46.9 การไม่ออกกำลังกาย ร้อยละ 46.9 น้ำหนักตัวเกิน ร้อยละ 26.5 สูบบุหรี่ ร้อยละ 20.4 เบาหวาน ร้อยละ 16.4 หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ ร้อยละ 12.1 ส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงระบบบริการ ขาดความต่อเนื่อง บางส่วนต้องซื้อยาฉันท์เอง จากการซักประวัติพระสงฆ์ และประชาชนเมืองเชียงตุง จะประกอบอาหารรับประทานเอง อาหารมีรสชาติเค็มและมัน เครื่องปรุงรสมีเกลือเป็นหลัก วิถีชีวิตรับประทานอาหารแปรรูปเพิ่มมากขึ้น ส่วนปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม พบว่ามีปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำที่ใช้สำหรับดื่ม มีความขุ่น มีตะกอน

จากข้อมูลดังกล่าวในข้างต้น สรุปได้ว่า ปัญหาสุขภาพของพระสงฆ์ในระดับประเทศ และระดับภูมิภาคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปัญหาโรคเรื้อรังในสังคมพระสงฆ์ที่สูงอายุ ซึ่งสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงผลเสียต่อการเจ็บป่วยของประชาชนและพระสงฆ์ รวมถึงพฤติกรรมสุขภาพของพระสงฆ์เอง ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค ประกอบกับพระธรรมวินัยที่เคร่งครัด ทำให้ขาดการเชื่อมโยงบูรณาการดูแลสุขภาพ ทั้งในด้านการรักษา การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสภาพหลังการเจ็บป่วย และการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต จึงสนใจที่จะศึกษาสถานการณ์ การดูแลสุขภาพและภาวะสุขภาพของพระสงฆ์เมืองเชียงตุง ประเมินสถานการณ์ และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสุขภาพพระสงฆ์ และประชาชนอย่างยังยื่นต่อไป ณ ห้องประชุม 122 ชั้น 2 มจร.วิทยาลัยเขตเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น