กอ. หนุนหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ

กรมอนามัย เผย ผู้สูงอายุ ร้อยละ 95 มีปัญหาทางสุขภาพ MOU เครือข่ายพัฒนาอาชีพ ด้านการบริบาล หนุนหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ

กรมอนามัย เผยสูงอายุ ร้อยละ 95 มีปัญหาทางสุขภาพ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ทางด้านพัฒนาอาชีพด้านการบริบาล ร่วมกับมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และ บริษัทอีส ลิฟวิ่ง จำกัด เพื่อจัดตั้ง “ศูนย์ฝึกอบรมหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น” ในการสนับสนุนการอบรม
หลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ


วันนี้ (20 มิถุนายน 2565) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดการอบรมหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง และเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางด้านการพัฒนาอาชีพด้านการบริบาล (MOU) ระหว่าง กรมอนามัย โดยศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น
ร่วมกับมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และบริษัทอีส ลิฟวิ่ง จำกัด ณ ห้องประชุมวนิดา สินไชย ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการเพิ่มของประชากรลดลง แต่ในขณะเดียวกันประชากรสูงอายุมีอัตรา
ที่เพิ่มขึ้นสูงมาก โดยอีก 20 ปีข้างหน้าคาดการณ์ว่าจำนวนผู้สูงอายุวัยปลาย 80 ปีขึ้นไปจะมีมากถึง 3.4 ล้านคน
หรือร้อยละ 5.2 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจ พบว่าร้อยละ 95 ของผู้สูงอายุ มีปัญหาทางสุขภาพ และพบว่า 2 ใน 3 มีภาวะสุขภาพอยู่ในระดับปานกลางถึงระดับไม่ดี โดยโรคที่พบมาก คือ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ เป็นอัมพฤกษ์-อัมพาต โรคหลอดเลือดในสมองตีบ และโรคมะเร็ง และยังพบว่า ภาวะเจ็บป่วยของผู้สูงอายุ ร้อยละ 5 อยู่ในภาวะพึ่งพิง ในขณะที่การบริการของระบบบริการสาธารณสุขที่ยังไม่เพียงพอ
กับความต้องการ เนื่องจากการขาดแคลนบุคลากรในการดูแลผู้สูงอายุ
“การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางด้านการพัฒนาอาชีพด้านการบริบาล (MOU) ในครั้งนี้
เป็นการลงนาม ระหว่างกรมอนามัยโดยศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น ร่วมกับมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท
และ บริษัท อีส ลิฟวิ่ง จำกัด เพื่อจัดตั้ง “ศูนย์ฝึกอบรมหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น”
ทั้งนี้ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และบริษัทอีส ลิฟวิ่ง จำกัด ยังได้สนับสนุนทุนในการอบรม จำนวน 20 ทุน และ 10 ทุน ตามลำดับ ผู้ผ่านการอบรมจะได้รับความรู้และพัฒนาทักษะในการดูแลผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง รวมทั้ง สามารถนำความรู้และทักษะที่ได้รับไปประกอบอาชีพ ซึ่งหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง
เป็นหลักสูตรมาตรฐานที่ได้รับการอนุมัติจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเรียบร้อยแล้ว” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น