หมอเวร แจง! ไม่ดื่มน้ำเปล่า ไม่ได้ทำเลือดข้นหนืด

จากกรณีสาวออกมาแชร์ประสบการณ์ เตือนเป็นอุทาหรณ์หลังไม่ชอบดื่มน้ำเปล่า กินแต่ชา น้ำอัดลม จนทำให้เลือดข้น ป่วยเป็นอัมพาตครึ่งตัว และมีคนแชร์ไปทั่วโซเชียลอย่างมากมายนั้น ล่าสุด เพจ “หมอเวร” ได้ออกมาโพสต์แชร์แจงถึงเรื่องดังกล่าว ระบุว่า

“เห็นข่าวสาวคนหนึ่งแชร์ประสบการณ์ว่าตัวเองเป็นคนไม่ดื่มน้ำเปล่า กินแต่น้ำอย่างอื่น เช่น น้ำอัดลม ชา กาแฟ นม ฯลฯ ต่อเนื่องกันนานเป็นเวลาหลายปี จนสุดท้ายเกิดภาวะเลือดหนืดจนทำให้เป็น Stroke เส้นเลือดในสมองตีบ จนทำให้เป็นอัมพาตครึ่งตัว แล้วก็มีสื่อเอาไปลงกันว่าเพราะไม่ยอมกินน้ำเปล่า เลยทำให้เป็นแบบนี้ หมอเวรอ่านแล้วกลัวว่าจะเข้าใจผิดกันเลยขอขยายต่อสักนิดแล้วกันนะ

จริงอยู่ที่ว่า “การขาดน้ำมากๆ จะทำให้เลือดข้นเลือดหนืดได้” แต่การไม่ดื่มน้ำเปล่า แล้วดื่มแต่น้ำอย่างอื่นเป็นเวลาหลายปีทำให้ร่างกายขาดน้ำหรือไม่นั้น บอกเลยว่าไม่ใช่ !!!

เพราะถ้าว่ากันตามตรงของเหลวทุกอย่างที่เค้ากินเข้าไป มันก็มีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่แล้วทั้งนั้น พอดื่มเข้าไปลำไส้ใหญ่ของเราก็ดูดซึมแยกเฉพาะน้ำออกไปอยู่ดี ดังนั้นถ้าดื่มเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ จนได้น้ำในปริมาณที่เพียงพอต่อวันล่ะก็ ประเด็นเรื่องการขาดน้ำจนทำให้เลือดข้นก็ต้องตัดไปก่อน

คำถามต่อมาคือ แล้วทำไมจึงเกิดภาวะเลือดข้นได้ เพราะปริมาณน้ำไม่ใช่ประเด็นยังไงล่ะ ประเด็นมันอยู่ที่น้ำที่กินเข้าไปมันผสม น้ำตาล ไขมัน หรือเกลือมากต่างหาก ซึ่งพวกนี้มันนำไปสู่ภาวะเลือดข้นได้ เพราะโดยปกติเลือดเราจะมีส่วนประกอบคือน้ำเลือดกับเม็ดเลือด แต่ถ้ามีในเลือดมีไขมันสูง หรือน้ำตาลสูง ก็มีความสัมพันธ์กับน้ำเลือดข้นได้ ยิ่งบางคนเม็ดเลือดแดงผิดปกติ ทั้งจำนวนและรูปร่าง ก็อาจจะยิ่งทำให้เลือดไหลเวียนลำบากเข้าไปอีก สังเกตได้ง่ายๆ ถ้าคนไหนเป็นเบาหวานเส้นเลือดก็จะไม่ค่อยดีอยู่แล้ว เจอไขมันในเลือดสูงเข้าไปอีกเลือดก็ยิ่งไหลลำบาก มันเลยนำไปสู่โรคร้ายแรงอย่างที่เห็นนั่นแหละ เหมือนที่เค้าชอบพูดกัน โรคพวกนี้มันมักมาเป็นชุดคอมโบ้เซ็ต แฮปปี้มีล ไขมัน เบาหวาน ความดัน มันสัมพันธ์กันหมดนี่แหละ

ดังนั้นใจความสำคัญของเรื่องนี้มันไม่ได้เกี่ยวว่าดื่มน้ำมากหรือน้อย แต่อยู่ที่ว่าในน้ำมันผสมอะไรต่างหาก

“เพราะสุดท้ายต่อให้ดื่มน้ำเปล่าเพียวๆ แต่ยังกินหวาน กินมัน กินเค็ม แบบไม่ยั้ง มันก็เสี่ยงให้เกิดภาวะเลือดข้นจนอาจทำให้เป็น Stroke แบบนี้ได้เหมือนกัน”

ร่วมแสดงความคิดเห็น