บทสรุป…สถานการณ์ และปัญหาฝุ่นควันไฟป่า จ.เชียงใหม่ ประจำปี 2564

พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ 13,834,594.19 ไร่ มีพื้นที่ป่าสงวน 6,419,233.08 ไร่ คิดเป็น 46.40 % พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 5,283,394.77 ไร่ คิดเป็น 38.19 % พื้นที่เขต สปก. 540,751.50 ไร่ (3.91 %) และพื้นที่อื่นๆ อีก 1,591,214.84 ไร่ (11.50 %) เฉพาะพื้นที่ป่าของจังหวัดเชียงใหม่ มี 9,586,229 ไร่ คิดเป็น 69.29 %

ข้อมูลการเกิดไฟและค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก ย้อนหลัง 3 ปี (พ.ศ. 2562-2564) ช่วงเวลาเดียวกันระหว่างวันที่ 1 ม.ค. ถึงวันที่ 31 พ.ค. สรุปได้ ดังนี้

จุด Hotspot ปี 2563 ตรวจพบ 16,871 จุด ปี 2563 ตรวจพบ 21,658 จุด และปี 2564 ตรวจพบ 8,066 จุด

พื้นที่เผาไหม้ หรือ Burn scar Area ปี 2562 จำนวน 953,134 ไร่ ปี 2563 1,384,078 ไร่ ปี 2564 จำนวน 803,494 ไร่

ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก Pm2.5 จำนวนวันที่ค่ามากกว่า 50 (มคก./ลบ.ม.) ปี 2562 จำนวน 66 วัน ปี 2563 จำนวน 78 วัน ปี 2564 จำนวน 85 วัน

ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก Pm2.5 จำนวนวันที่ค่ามากกว่า 90 (มคก./ลบ.ม.) ปี 2562 จำนวน 25 วัน ปี 2563 จำนวน 36 วัน ปี 2564 17 วัน

จำนวนผู้ป่วย COPD ปี 2563 มีจำนวน 9,212 คน ปี 2564 จำนวน 6,790 คน

พื้นที่เผาไหม้ (Burn scar Area) สะสมจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างปี 2563 และ 2564 พบว่า ปี 2563 (ข้อมูลระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม) มีพื้นที่เผาไหม้ทั้งหมด 1,384,078 ไร่ และปี 2564 (ข้อมูลระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม) มีพื้นที่เผาไหม้ทั้งหมด 803,494 ไร่ เมื่อเปรียบเทียบพื้นที่เผาไหม้ (Burn scar Area) สะสมจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างปี 2563 และ 2564 พบว่า พื้นที่เผาไหม้ของจังหวัดเชียงใหม่ ปี 2564 ลดลงจากปีที่ผ่านมา 580,584 ไร่ คิดเป็น 41.95 % โดยพื้นที่เผาไหม้ เกิดขึ้นในเขตพื้นที่ป่ามากที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ในปี 2563 มีพื้นที่ถูกเผา 461,619 ไร่ ปี 2563 พื้นที่ถูกเผา 792,938 ไร่ และปี 2564 มีพื้นที่ถูกเผา 397,726 ไร่ ส่วนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เกิดไฟเผามากลำดับรองลงมา ในปี 2562 มีพื้นที่ถูกเผา 413,641 ไร่ ปี 2563 มีพื้นที่ถูกเผา 528,126 ไร่ ส่วนปี 2564 มีพื้นที่ป่าที่ถูกเผา 355.501 ไร่

จากการถอดบทเรียนได้มีข้อเสนอแนะ และแนวทางการแก้ไขปัญหา แบ่งได้เป็น 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการทำงาน ที่สำคัญคือ การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ควรจะมีการเชื่อมประสานทุกภาคส่วน ในการจัดการร่วมกัน เพราะที่ผ่านมาขอบเขตไม่ชัดเจน มีช่องว่าง การจัดแผนการจัดการไฟป่ายังทำได้ไม่ทั่วถึง/ลงลึกและสร้างการมีส่วนร่วมที่แท้จริง และให้คณะทำงานบูรณาการประชุมจัดทำแผนบูรณาการแก้ไขปัญหาไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (สั้น,กลาง, ยาว) และควรขับเคลื่อนศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดถึงระดับตำบล การติดตาม/ประเมินผล ทุกระดับศูนย์ ควรติดตาม 3 ช่วงเวลา (เตรียมการ, เผชิญเหตุ และหลังเกิดเหตุ) เพื่อสร้างความยั่งยืน

ด้านงบประมาณ ควรกระจายทรัพยากรและงบประมาณในระดับพื้นที่ และควรสอดคล้องกับการแก้ปัญหา ชุมชนควรมีส่วนในการกำหนด การใช้ทรัพยากรในการแก้ปัญหา การระดมทุนจากภาคีต่างๆ ควรทำให้มากขึ้นและขยายไปสู่ภาคธุรกิจต่างๆ และต้องรายงาน งบประมาณค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาของจังหวัด โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม เพื่อเป็นรายได้ แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชุมชน พร้อมกับการสนับสนุนงบประมาณ ให้ลงถึงระดับหมู่บ้าน เพื่อใช้จ่ายตรงต่อความต้องการและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้งบประมาณของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในภารกิจด้านนี้จะต้องสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ และควรมีความชัดเจนในการใช้งบประมาณ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า

ด้านระบบการจัดการ แผนระดับพื้นที่ต้องชัดเจน เชื่อมแผนใหญ่และนโยบายของจังหวัดได้ ควรใช้แผนจากพื้นที่เป็นแนว เช่น การแบ่งโซน การจัดช่วงเวลา การจัดการเชื้อเพลิง และทำให้นำมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ร่วมกับการสำรวจทางเทคโนโลยีได้ การจัดทำแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงควรทำให้สมบูรณ์ ทั้งวัน เวลา สถานที่ และขอบเขตพื้นที่ ควรแบ่งพื้นที่ให้มีชนาดไม่เกิน 625 ไร่ต่อแปลง เพื่อควบคุมให้อยู่ในวงจำกัด และกำหนดเวลาที่ต้องบริหารจัดการเชื้อเพลิงได้คือ ช่วงเวลา 15.00 – 18.00น. การปฏิบัติต้องถ่ายรูปก่อนและหลังดำเนินการ และรายงานผลดำเนินการทันที เมื่อดำเนินการเสร็จ พร้อมกันนี้ควรมีการเตรียมข้อมูลจัดการไฟป่า จัดทำระบบฐานข้อมูลแผนที่ และสำรวจพื้นที่การบริหารเชื้อเพลิง (แนวกันไฟ, ชิงเผา , ชิงเก็บ) ลานจอดอากาศยาน , จุดสกัดบุคคลเข้าป่า , แหล่งน้ำที่ใช้ในการดับไฟ , กำลังพลในระดับหมู่บ้าน

ด้านบุคคล ประเด็นสำคัญคือ การสร้างการรับรู้และเปลี่ยนวิธีคิด ในการมองปัญหาและสาเหตุของปัญหาแบบองค์รวมยังทำได้น้อย ควรให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เรื่องนี้ให้มากขึ้น และการสร้างจิตสำนึกในการทำงานกับชุมชน การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชน ที่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก P.M.2.5 เกินค่ามาตรฐาน และควรมีมาตรการในเชิงป้องกันมากขึ้น การให้ความรู้เชิงลึกในระดับพื้นที่มากขึ้นและสร้างจิตสำนึกในระดับชุมชน

ร่วมแสดงความคิดเห็น