ค่า PM เกินเกณฑ์มาตรฐาน

หมอกควันไฟป่าปกคลุมแม่สะเรียง ค่า PM เกินเกณฑ์มาตรฐาน ทำให้มีผลกระทบต่อสุขภาพ

เปิดยุทธการดับไฟป่า โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแม่ฮ่องสอน บินทิ้งน้ำดับไฟป่าในพื้นที่เป้าหมายห่างไกล จนท.ไม่สามารถเข้าถึง ต.แม่คง และ ต.เสาหิน หลังปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ยังพบมีจุดฮอตสปอตกระจายเป็นบริเวณกว้าง ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์

วันนี้ ณ ห้องประชุมกรมทหารพรานที่ 36 ค่ายเทพสิงห์ ต.บ้านกาศ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน นายพรเทพ เจริญสืบสกุล ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง เป็นประธาน ประชุมหารือร่วมกับ นายเรืองฤทธิ์ ผลดี หัวหน้าสำนักงานป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแม่ฮ่องสอน พันเอก สมภพ ใจบุญ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 36 นายธิติทัศน์ ฉลอม ผอ.ส่วนควบคุมและปฏิบัติการไฟป่า นายมิตร อุตมะ ผอ.ส่วนอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมจัดแบ่งกำลังเจ้าหน้าที่ออกเป็น 2 ส่วน คือ ปฏิบัติการทางอากาศยาน และ การปฏิบัติการทางภาคพื้นที่ดิน ปล่อยแถวการปฏิบัติการด้านไฟป่า รวมถึงขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติการ ดับไฟป่าให้ทันท่วงที ตรวจเช็คอุปกรณ์ ในการดับไฟป่า ดำเนินการบูรณาการแบบคู่ขนาน โดย ใช้(เฮลิคอปเตอร์) KA 32 เข้าดำเนินการทิ้งน้ำดับไฟ ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เขตอุทยานแห่งชาติสาละวิน ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายที่ยังพบจุดความร้อนกระจายในพื้นที่ภูเขาสูงชัน ที่ จนท.ดับไฟป่า ไม่สามารถเข้าถึงได้


จากนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ส่งเฮลิคอปเตอร์ KA – 32 ร่วม ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน โดย ฮ. KA 32 บรรจุ ถังน้ำขนาด 3,000 ลิตร ขึ้นบินทิ้งน้ำดับไฟป่าในพื้นที่เป้าหมาย 6 เที่ยวบิน รวม 18,000 ลิตร ทั้งนี้ใช้แหล่งน้ำอ่างเก็บน้ำบ้านแม่สะลาบ ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ควบคู่กับ ชุดภาคพื้นดินที่กระจายกำลังออกปฏิบัติการดับไฟป่า ซึ่งได้มีการบูรณาการกำลังร่วม ระหว่าง เจ้าหน้าสถานีควบคุมไฟป่าแม่สะเรียง,ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าชุมพร(เสือไฟ),ชุดเหยี่ยวไฟกรมป่าไม้,จนท.อุทยานฯสาละวิน,จนท.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน,จนท.อุทยานแม่เงา จนท.อุทยานฯแม่สะเรียงฯ เจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 36 เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 337 และ เจ้าหน้าที่ปกครอง อส.แม่สะเรียง เข้าร่วมดำเนินการดับไฟในพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 15 ไร่

สำหรับ สถานการณ์ไฟป่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน จุดความร้อนสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 5 เมษายน 2565 มีจุดความร้อนสะสม ทั้งหมด 4,191 จุด คิดเป็นร้อยละ 35.09 ของจุดความร้อนสะสมปี 2564 หรือ คิดเป็นร้อยละ 43.86 ของค่าเป้าหมายปี 2565 ซึ่งทางจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งเป้าหมายปี 2565 ไม่เกิน 9,556 จุด โดยอำเภอที่มีจุดความร้อนสูงสุด ได้แก่ อำเภอแม่สะเรียง จำนวน 1,176 จุด สำหรับ สถานการณ์คุณภาพอากาศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 6 เมษายน 2565 คุณภาพอากาศในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประจำวันที่ 6 เมษายน 2565 สถานีตรวจวัด อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ค่า PM 2.5 เท่ากับ 88 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินเกณฑ์มาตรฐาน จำนวน 32 วัน ค่าสูงสุดที่วัดได้ เท่ากับ 142 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565 สถานีตรวจวัด อ.แม่สะเรียง ค่า PM 2.5 เท่ากับ 130 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินเกณฑ์มาตรฐาน จำนวน 16 วัน ทำให้มีผลกระทบต่อสุขภาพ


ร่วมแสดงความคิดเห็น