ปภ.แนะผู้ใช้รถเติมก๊าซถูกวิธี ลดเสี่ยงก๊าซรั่ว

ปภ.แนะผู้ใช้รถติดก๊าซตรวจสอบ – ดูแล – เติมก๊าซถูกวิธี…ลดเสี่ยงก๊าซรั่ว – ไฟไหม้รถ

รถติดตั้งระบบก๊าซจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบและดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากอุปกรณ์ประจำรถบางประเภทไม่ได้ถูกผลิตให้ทนต่อความร้อนจากการเผาไหม้ของก๊าซ จึงเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ ประกอบกับการเติมก๊าซอย่างไม่ถูกวิธี อาจเป็นสาเหตุ
ที่ก่อเกิดอันตราย เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติ
ในการตรวจสอบดูแลอุปกรณ์ระบบก๊าซและการเติมก๊าซอย่างถูกวิธี ดังนี้
ตรวจสอบรถติดตั้งระบบก๊าซ

  • หมั่นตรวจสอบระบบก๊าซให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย โดยนำรถไปตรวจสอบที่ศูนย์บริการตามระยะเวลาที่กำหนดหรือ
    อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อป้องกันอันตรายจากอุปกรณ์ระบบก๊าซชำรุด
  • ตรวจสอบและเปลี่ยนอุปกรณ์ระบบก๊าซตามระยะเวลาที่กำหนด อาทิ เปลี่ยนกรองไอก๊าซ กรองก๊าซ หัวเทียนทุก 20,000 กม.
    ทำความสะอาดกรองอากาศทุก 50,000 กม. ตั้งบ่าวาล์วไอเสียทุก 40,000 กม. ล้างหม้อต้มก๊าซทุก 20,000 กม. และตรวจสอบวาล์วเครื่องยนต์ทุก 30,000 กม.
  • ตรวจสอบรอยรั่วซึมของก๊าซอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้น้ำสบู่ลูบหรือหยดตามข้อต่อท่อเดินก๊าซ หากพบจุดรั่วซึม ให้นำรถ
    เข้าศูนย์บริการซ่อมแซม
    เติมก๊าซอย่างถูกวิธี
  • เลือกใช้บริการจากสถานีบริการที่ได้มาตรฐาน พร้อมปฏิบัติตามป้ายเตือนอย่างเคร่งครัด
  • ดับเครื่องยนต์และลงจากรถ เนื่องจากขณะเติมก๊าซ ถังก๊าซจะยืดและหดตัวจากแรงดันของเครื่องอัดก๊าซ จึงมีความเสี่ยงต่อการ
    เกิดระเบิดจากแรงอัดก๊าซ
  • ห้ามก่อให้เกิดประกายไฟในขณะเติมก๊าซ อาทิ สูบบุหรี่ ใช้โทรศัพท์มือถือ เพราะหากมีก๊าซรั่ว จะส่งผลให้เกิดระเบิดและไฟไหม้รถได้
  • ไม่เติมก๊าซเกินความจุของถังก๊าซ โดยเติมก๊าซไม่เกินร้อยละ 80 ของความจุถัง จะช่วยยืดอายุการใช้งานของถังก๊าซ และ
    ลดความเสี่ยงต่อการเกิดระเบิดและเพลิงไหม้รถ
  • ไม่เติมก๊าซผิดประเภท ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดระเบิดและไฟไหม้รถ เนื่องจากถังก๊าซถูกออกแบบมาสำหรับใช้ระบบก๊าซเฉพาะระบบใดระบบหนึ่ง
  • รอพนักงานถอดสายก๊าซก่อนเคลื่อนรถ เพื่อป้องกันรถกระชากสายเติมก๊าซ ทำให้เกิดก๊าซรั่ว
    ดูแลรถติดตั้งระบบก๊าซ
  • เลือกใช้น้ำมันเครื่องที่ทนความร้อนจากกการเผาไหม้ พร้อมเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและทำความสะอาดไส้กรองอากาศให้บ่อยขึ้น
  • รักษาน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ 1 ใน 4 ส่วนของถัง เพื่อช่วยหล่อเลี้ยงเครื่องยนต์ รวมถึงป้องกันไม่ให้ถังน้ำมันและเครื่องยนต์เสื่อมสภาพ
  • สตาร์ทเครื่องยนต์ด้วยน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ระบบหัวฉีดน้ำมันทำงาน จะช่วยรักษาประสิทธิภาพเครื่องยนต์
  • ไม่ปรับแต่งการจ่ายก๊าซหรือดัดแปลงอุปกรณ์ระบบก๊าซด้วยตนเอง เพราะอาจทำให้เครื่องยนต์เสียหายหรือทำงานผิดปกติ ก่อให้เกิดอันตรายได้
    นอกจากนี้ หากสังเกตพบเครื่องยนต์ทำงานผิดปกติ อาทิ เสียงดัง เครื่องยนต์สั่น เครื่องเร่งไม่ขึ้น ไม่ตัดเข้าระบบก๊าซ ให้นำรถเข้าตรวจสอบระบบก๊าซ อีกทั้งผู้ใช้งานรถยนต์ระบบก๊าซควรติดตั้งถังดับเพลิงเคมีขนาดเล็กไว้ประจำรถ หากเกิดไฟไหม้รถเล็กน้อย
    จะได้ควบคุมเพลิงด้วยตนเองในเบื้องต้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น