รพ.สมเด็จพระยุพราชปัว พัฒนาเป็น GREEN & CLEAN Hospital

กรมอนามัย ชื่นชม รพ.สมเด็จพระยุพราชปัว จ.น่าน พัฒนาเป็น GREEN & CLEAN Hospital ระดับดีเยี่ยม

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ชื่นชมความสำเร็จของโรงพยาลสมเด็จพระยุพราชปัว จังหวัดน่าน ในการพัฒนางานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลผ่านประเมินตามเกณ์โรงพยาบาลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม GREEN & CLEAN Hospital ระดับดีเยี่ยม

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังการเยี่ยมชมการดำเนินงาน โรงพยาบาลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม GREEN & CLEAN Hospital ของโรงพยาลสมเด็จพระยุพราชปัว จังหวัดน่าน ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดนโยบายสู่การปฏิบัติภายใต้ยุทธศาสตร์ความเป็นเลิศด้านการส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค (PP&P Excellence) กำหนดให้ทุกโรงพยาบาลมีการดำเนินงาน GREEN & CLEAN Hospital เพื่อดูแล ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน เช่น การจัดการมูลฝอยติดเชื้อ การจัดการน้ำเสีย พร้อมทั้งส่งเสริมสุขภาพประชาชนให้รู้จักดูแลสุขภาพตนเอง ตั้งแต่อาหารการกิน การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และความรับผิดชอบต่อสังคมในการจัดการขยะและการประหยัดพลังงาน ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมใช้หลักการสุขาภิบาลอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Sustainable and Ecological Sanitation) โดยใช้กลยุทธ์ CLEAN และกิจกรรม GREEN โดยการประเมินจะแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับที่ 1 ระดับมาตรฐาน (Standard) มีการดำเนินงานตามมาตรฐาน GREEN ระดับที่ 2 ระดับดีเยี่ยม (Excellent) มีนวัตกรรมและเครือข่าย และ ระดับที่ 3 ระดับท้าทาย (Challenge) มีการดำเนินการประเด็นท้าทายอย่างน้อย 1 ประเด็นจาก 4ประเด็น คือ 1) อาชีวอนามัย และความปลอดภัย 2) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3) การจัดการด้านพลังงาน และ 4) การจัดการของเสีย ทางการแพทย์ ซึ่งโรงพยาลสมเด็จพระยุพราชปัว จังหวัดน่าน ที่ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมในครั้งนี้ มีการดำเนินงานพัฒนา จนผ่านเกณฑ์ประเมินยกระดับเป็นโรงพยาบาลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม GREEN & CLEAN Hospital ระดับดีเยี่ยม (Excellent) และพร้อมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเพื่อยกระดับเป็นระดับท้าทาย (Challenge) ในอนาคต

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับโรงพยาบาลที่พัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมได้ตามเกณฑ์ GREEN & CLEAN Hospital Challenge นั้น ต้องมีการดำเนินงานกิจกรรม GREEN ได้แก่ มีการบริหารจัดการ มูลฝอยทั่วไป มูลฝอยที่เป็นพิษหรือเป็นอันตราย และมูลฝอยติดเชื้ออย่างถูกสุขลักษณะ มีการพัฒนาส้วมตามมาตรฐานส้วมสาธารณะไทย (HAS) ที่อาคารผู้ป่วยนอก และอาคารผู้ป่วยใน มีการจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างถูกสุขลักษณะ ตามกฎกระทรวงสุขลักษณะการจัดการสิ่งปฏิกูล พ.ศ. 2561 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีการกำหนดนโยบายและมาตรการประหยัดพลังงานที่เป็นปัจจุบัน เป็นรูปธรรม เกิดประสิทธิภาพในการลดการใช้พลังงานโดยปฏิบัติตามมาตรการ ที่กำหนดร่วมกันทั้งองค์กร มีการจัดการสิ่งแวดล้อมทั่วไปทั้งภายในและภายนอกอาคาร โดยเพิ่มพื้นที่สีเขียว และพื้นที่พักผ่อนที่สร้างความรู้สึกผ่อนคลาย มีกิจกรรมส่งเสริม GREEN และกิจกรรมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี แบบองค์รวม เช่น กิจกรรมส่งเสริมสุขอนามัย กิจกรรมป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เป็นต้น สถานที่ประกอบอาหารผู้ป่วยในโรงพยาบาล และร้านอาหารในโรงพยาบาลได้มาตรฐานสุขาภิบาลอาหารตามกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 (4 หมวด) และมีการเฝ้าระวังทางสุขาภิบาลอาหาร จัดให้มีบริการน้ำอุปโภค บริโภคสะอาด ที่อาคารผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน โรงพยาบาลมีการดำเนินงานนโยบายโรงพยาบาลอาหารปลอดภัยร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ มีการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรม GREEN โดยการนำไปใช้ประโยชน์และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายโรงพยาบาลและชุมชน พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายการพัฒนา GREEN ลงสู่ชุมชนให้เกิด GREEN Community ต่อไป

“สำหรับกลยุทธ์หลัก CLEAN นั้น ต้องมีการกำหนดนโยบาย จัดทำแผนการขับเคลื่อน พัฒนาศักยภาพ และสร้างกระบวนการสื่อสารให้เกิดการพัฒนาด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม GREEN & CLEAN Hospital อย่างมีส่วนร่วม ของคนในองค์กร โดยมีการสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างความเข้าใจ สร้างบทบาทนำเพื่อเป็นตัวอย่างในการดำเนินงาน ให้เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพด้วยกิจกรรม GREEN อย่างต่อเนื่องจนเกิดผลเป็นรูปธรรม มีการสร้างกิจกรรม เพื่อสร้างจิตสำนึกอย่างมีส่วนร่วม ตลอดส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายชุมชนและท้องถิ่นอย่างยั่งยืน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

ร่วมแสดงความคิดเห็น