ความท้าทาย COP26 กับบริบทการใช้พลังงานของประเทศไทย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ปาฐกถาพิเศษ ”ความท้าทาย COP26 กับบริบทการใช้พลังงานของประเทศไทย”

วันที่ 30 มิถุนายน 2565 เวลา 10.00-11.00 น. เวที FTI Future Forum ในงาน FTI EXPO 2022 ณ ศูนย์การประชุมและจัดแสดงสินค้าเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ จังหวัดเชียงใหม่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ความท้าทาย COP26 กับบริบทการใช้พลังงานของประเทศไทย” ประเทศไทยประกาศเป้าหมายมุ่งสู่ Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ Net Zero ภายในปี ค.ศ. 2065

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ ”ความท้าทาย COP26 กับบริบทการใช้พลังงานของประเทศไทย” ในงาน FTI Expo 2022  ว่าปัจจุบันไทยนำเข้าน้ำมัน90% จากต่างประเทศเมื่อประเทศต่างๆเกิดความขัดแย้งย่อมกระทบต่อไทยดังนั้นระยะยาวรัฐบาลจึงกำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ.2593) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปีค.ศ. 2065 เพื่อให้ไทยได้พึ่งพาตนเองด้านพลังงานและก้าวสู่พลังงานสะอาด เพื่อดึงดูดการย้ายฐานการผลิตมาไทย ควบคู่ไปกับการสร้างโอกาสระบบนิเวศให้อุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ทางด้านพลังงานเกิดขึ้นเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เกี่ยวข้อง

ตามที่ท่านนายกฯได้ประกาศในเวทีการประชุมสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2564 หรือ COP26 เห็นพ้องว่าต้องควบคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซนเซียส จากเดิมไม่เกิน 2 องศาฯประเทศต่างๆก็วางเป้าหมาย และกติกาโลกก็ก้าวไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจกซึ่งแน่นอนว่าหากปล่อยก็ไม่มีปัญหาแต่จะเจอกับมาตรการกีดกันการค้า (NTB) ซึ่งขณะนี้ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก 350 ล้านตัน ต้องจ่ายเงินผ่านการซื้อขายคาร์บอนเครดิต หากคิดราคาที่เทรดวันนี้เราต้องจ่าย 1 ล้านล้านบาทต่อปี การที่ไทยประกาศชัดเจนก็เพื่อบอกว่าเราจะยืนข้างหน้าเป็นผู้นำในอาเซียน ไม่เป็นผู้สร้างภาระประเทศต่างๆก็หันมาสนใจเรามากขึ้นโดยเฉพาะการเป็นฐานการผลิตเพื่อหลีกเลี่ยง NTB   

ทั้งนี้การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกสำคัญสุด กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการที่จะลดทั้งในภาคไฟฟ้าที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) 81 ล้านตัน/ปี เช่น การซื้อไฟฟ้าพลังน้ำเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น การเพิ่มสัดส่วนรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเป็น 1 หมื่นเมกะวัตต์ช่วง 10 ปีแรก ฯลฯ ภาคขนส่งที่ก่อ CO2 80 ล้านตันต่อปีได้วางแนวทางการลดเช่น การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ฯลฯ  บ้านที่พักอาศัยและภาคอุตสาหกรรมปล่อย CO2  53 ล้านตันต่อปีจะมุ่งเน้นแผนการประหยัดพลังงาน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการส่งเสริมการปลูกป่าเพื่อดูดซับ และการศึกษากับกลุ่ม ปตท.ในการนำ CO2 ไปกักเก็บในแหล่งปิโตรเลียมทั้งในทะเลและบนบก

จากแนวทางดังกล่าวระยะยาวไทยจะลดการนำเข้าน้ำมัน ลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) จากต่างประเทศโดยส่วนหนึ่งจะถูกแทนจากการเปลี่ยนไปสู่ EV ที่ใช้ระบบไฟฟ้าและไฮโดรเจน ระบบไฟฟ้าจะพึ่งพาตนเองไปสู่พลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ลม โรงไฟฟ้าชีวมวล ชีวภาพ ฯลฯ และสร้างโอกาสในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่นการเกิดขึ้นของสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์เพื่อป้อน EV อุตสาหกรรมพลังงานสะอาดจะมีมากขึ้น ส่วนกรณีกลุ่ม ปตท.ในเรื่องของน้ำมันและก๊าซฯ ได้เตรียมตัวรับมือไว้แล้วโดยส่วนของก๊าซฯจะมุ่งมาทำไฮโดรเจนส่งตามท่อและโรงไฟฟ้า หรือขนส่งเป็นแอมโมเนียจำหน่ายต่างประเทศ ฯลฯ ส่วนน้ำมันโรงกลั่นเองต้องปรับตัวหันไปมุ่งเน้นการทำปิโตรเคมีมากขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น