กมธ.งบประมาณ ลงพื้นที่ม.แม่โจ้

วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม 2565 เวลา 9.30 น. นายไชยา พรหมา ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำ และติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะ ลงพื้นที่ศึกษาดูงานและติดตาม ตรวจสอบการใช้งบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นกรณีจัดสรรงบประมาณให้แก่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ในโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้แก่ เกษตรกรไทยฝ่าวิกฤตโควิด -19 ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมสมัยใหม่ (Modern Agriculture – BCG) โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวต้อนรับ ร่วมด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัย ชั้น 5 อาคารสำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้

อาจารย์ ดร.สุดเขต สกุลทอง ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยแมโจ้ หัวหน้าโครงการ กล่าว รายงานความก้าวหน้าของโครงการ ว่า
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้รับงบประมาณรายจ่ายในปีงบบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินงานโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ชื่อโครงการ “โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ แก่เกษตรกรไทยฝ่าวิกฤต โควิด 19 ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม สมัยใหม่ (Modern Agriculture-BCG)”

โดยมีวัตถุประสงค์โครงการ เพื่อพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการเกษตรเกษตรสมัยใหม่ (Modern Agriculture-BCG) ให้แก่เกษตรกร   เพื่อถ่ายทอด นวัตกรรม เทคโนโลยี ทางการเกษตรสมัยใหม่ (Argo-Innovation) ที่เหมาะสมในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปัจจัยการผลิตเอง ลดรายจ่าย สร้างรายได้ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรได้ปฏิบัติจริง (Work shop) และเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีและมีงานทำแบบยั่งยืน (Sustainable agricultural career) เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ ทำบัญชีครัวเรือน มีเงินทุนหมุนเวียนภายในครัวเรือน (Household currency) เพื่อส่งเสริมเกษตรกรสมาชิกให้รู้จักการทำงานเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเพื่อเกิดความสามัคคีและเพิ่มศักยภาพขององค์กร (Farmer’s community enterprise and unity) ให้มีความเข้มแข็งและและการมีส่วนร่วม
 
กลุ่มเป้าหมาย ผู้เข้าร่วมโครงการจากทั่วประเทศ รวมวิสาหกิจชุมชนจำนวน  5,001 กลุ่ม ครอบคลุมประชาชน 50,010 ราย ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางการเกษตรเพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และเทคโนโลยีองค์ความรู้ทางการเกษตรที่ถูกต้อง และเหมาะสม
 
กิจกรรมภายใต้โครงการ ประกอบด้วย
กิจกรรมที่ 1 การเพาะเห็ดเศรษฐกิจมูลค่าสูง 5 ชนิด เห็ดนางฟ้าภูฏาน เห็ดห้า เห็ดฟาง เห็ดนางรม เห็ดบด
กิจกรรมที่ 2 ถ่ายทอดนวัตกรรมการปรับปรุงปุ๋ยอินทรีย์ ปัจจัยการผลิต ชีวภัณฑ์ ป้องกันโรคและแมลง ในพืชไร่ พืชสวนครบวงจรด้วยสมุนไพรไทย
กิจกรรมที่ 3 การเลี้ยงปลาดุก ที่มีสารโปรตีนและโอเมก้า พร้อมผลิตอาหารปลาอินทรีย์ เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร
กิจกรรมที่ 4 การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการผลิตไก่พื้นเมืองโปรตีนสูง เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกร
กิจกรรมที่ 5 การส่งเสริมและฝึกการเลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์ เพื่อลดรายจ่ายเพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร
กิจกรรมที่ 6 การผลิตลำไยคุณภาพสูง การคัดกล้าพันธุ์ลำไย การปรับปรุงคุณภาพลำไย เทคนิคการตัดแต่งกิ่งไม้ผลลำไยสมัยใหม่ การทำลำไยทรงเตี้ย ตัดแต่งกิ่งเพิ่มคุณภาพผลผลิต ส่งเสริมกล้าลำไยคุณภาพสูง
กิจกรรมที่ 7 การปลูกพืชผักสวนครัวแบบสมาร์ทไฮโดรโปนิกส์ ในระบบเกษตรปลอดภัย เช่นสลัดคอส กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค เรดคอรัล บัดเตอร์เฮด เบบี้รอคเกต จากเมล็ดพันธุ์ผักคุณภาพดี บริโภคในครัวเรือนและจำหน่าย
 
ผลที่คาดว่าจะได้รับ ร้อยละ 80 ของเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศรวมวิสาหกิจชุมชนจำนวน  5,001 กลุ่ม  ครอบคลุมประชาชน 50,010  ราย ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางการเกษตรเพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้

ร่วมแสดงความคิดเห็น