รพ.สวนปรุง แนะดื่ม ลด งดสุราช่วงเข้าพรรษา !

โรงพยาบาลสวนปรุง แนะผู้ที่ติดสุราจะงดดื่มสุราในช่วงเข้าพรรษานี้ ไม่ควรหยุดดื่มทันที ควรจะค่อยๆ ลดปริมาณการดื่ม แต่หากเคยลดแล้วมีอาการขาดสุรา ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์

นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสวนปรุง กล่าวว่า สุรามีผลกระทบต่อระบบการทำงานของร่างกายเกือบทุกระบบ เป็นสาเหตุของโรคกว่า 60 โรค และทำให้เกิดกลุ่มอาการทางระบบประสาทส่วนกลางและสมอง เช่น สมองเสื่อม นอนไม่หลับ หูแว่ว ประสาทหลอน ซึมเศร้า กลัว หวาดระแวง ปัจจุบันลักษณะการดื่มของประชาชนเปลี่ยนไป พบการดื่มสุราในวัยรุ่น และผู้หญิงมากขึ้น ทั้งนี้ประชาชนสามารถสังเกตตนเองหรือคนรอบข้าง ว่ามีอาการติดสุราหรือไม่ โดยจะมีอาการเหล่านี้อย่างน้อย 3 ข้อ คือ

  1. ต้องเพิ่มปริมาณการดื่มมากขึ้น จึงจะได้ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์เท่าเดิม
  2. มีอาการทางร่างกายเมื่อไม่ได้ดื่ม เช่น มือสั่น เหงื่อออก คลื่นไส้ อาเจียน
  3. ควบคุมการดื่มไม่ได้ คือ ดื่มมากกว่าที่ตั้งใจไว้
  4. มีความต้องการที่จะเลิกดื่ม หรือพยายามหลายครั้งแล้วแต่ไม่สำเร็จ
  5. หมกมุ่นกับการดื่มหรือการหาสุรา
  6. มีความบกพร่องในหน้าที่การงาน หรือการพักผ่อนหย่อนใจ
  7. ยังคงดื่มอยู่ทั้งๆ ที่มีผลเสียเกิดขึ้นแล้ว

ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสวนปรุง กล่าวอีกว่า ที่เป็นห่วงมาก คือ ผู้ที่ติดสุราไม่ควรหยุดดื่มทันที เพราะอาจเกิดอันตรายจากอาการขาดสุราได้ การหยุดหรือลดปริมาณการดื่มลงเป็นสิ่งที่ดีและน่าชื่นชม แต่ต้องมีการจัดการที่ถูกวิธี เนื่องจากร่างกายเคยได้รับสุรามานาน เมื่อหยุดหรือลดการดื่มกะทันหัน จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง ทำให้เกิดความผิดปกติของร่างกายและจิตใจได้

6-12 ชั่วโมงแรก หลังหยุดดื่ม มีอาการมือสั่น เหงื่อออก ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
หลัง 24 ชั่วโมงหรือ 1 วัน กระสับกระส่าย ไข้ เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นแรง ความดันสูง หูแว่ว ประสาทหลอน กลัว ระแวง หลัง 48-72 ชั่วโมง หรือ 2-3 วัน อาการรุนแรงจนเกิดอาการชัก และอาจเสียชีวิตได้

ดังนั้นการจะหยุดหรือลดปริมาณการดื่มสุราต้องค่อยๆ ลด หากเคยลดแล้วมีอาการขาดสุรา ควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ จะช่วยให้ลดหรือหยุดการดื่มได้อย่างปลอดภัย ท่านสามารถขอรับคำแนะนำการหยุดดื่มสุราได้ที่ คลินิกเลิกสุรา โรงพยาบาลสวนปรุง โทร.0 5390 8500 ต่อ 60526 หรือโทรศัพท์ปรึกษา สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

ข้อมูลโดย คลินิกเลิกสุรา โรงพยาบาลสวนปรุง
เผยแพร่โดย กลุ่มงานสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลสวนปรุง

ร่วมแสดงความคิดเห็น