ยังคุมเข้ม! กิจการฝืนกฎรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ในพื้นที่ม่อนแจ่ม

ยังคุมเข้มรุกป่าแม่ริม ป่าไม้แจ้งกิจการฝืนกฎ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ม่อนแจ่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้แม่ริม พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจพบการกระทำความผิด บุกรุกผืนป่าสงวนฯ แม่ริม นั้นล่าสุดได้แจ้งผู้ประกอบการ (นาย.ต.-เจ้าของภู-) ที่รุกป่า เปิดร้านกาแฟ บนพื้นที่กว่า 2 ไร่ 1 งาน 99 ตร.ว. ให้รื้อถอนร้านกาแฟ อาคารสำนักงาน ลานกางเต๊นท์ 17 หลัง ห้องสุขา เสาไฟฟ้า 41 ต้น ออกจากพื้นที่ซึ่งมีการตรวจสอบแล้วว่า บุกรุกป่าตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ซึ่งกำหนดให้รื้อถอนออกทั้งหมด ภายใน 15 ก.ค. ที่ผ่านมา หากฝ่าฝืนเจตนาไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ป่าไม้จะดำเนินการรื้อถอนให้

ทั้งนี้กรณีที่แจ้งคำสั่งไปในทางปฏิบัติ มีการเปิดโอกาสให้ ผู้ครอบครอง เจ้าของกิจการอุทธรณ์คำสั่งในเวลาที่กำหนดได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวถ้าฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง จะมีความผิดทั้งจำและปรับ ถ้าป่าไม้รื้อถอนให้ต้องเสียค่าใช้จ่าย ชดใช้ตามที่ดำเนินการทั้งหมด พร้อมเงินเพิ่มอีก ร้อยละ 25 ต่อปี ซึ่งพื้นที่ป่าสงวนแม่ริม นั้น เป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องที่หลายๆภาคส่วนพยายามจัดระเบียบ

ด้านคณะทำงาน โครงการจัดการที่ดินชุมชน (คทช.) เชียงใหม่ กล่าวว่า ที่ผ่านๆ มา มีการจัดระเบียบพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ริม จ.เชียงใหม่ บริเวณท้องที่ บ้านปางไฮ หมู่ 5 ,บ้านหนองหอยเก่า หมู่ 7 ,บ้านหนองหอยใหม่ หมู่ 11 ต.แม่แรม และ บ้านโป่งแยงนอก หมู่ 2 ต.โป่งแยง ซึ่งเรียกกันว่าม่อนแจ่มเพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาทอย่างต่อเนื่อง

คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มอบหมายแนวทาง การจัดการที่ดินของรัฐ 6 กลุ่ม ซึ่งจะเป็นป่าสงวนแห่งชาติ (ร้อยละ 90 ของพื้นที่ดำเนินการตามโครงการฯ) การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนทั่วประเทศนั้น เป็นไปตามตามยุทธศาสตร์ชาติ ลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ
กรณีการแก้ไขปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ริม (ม่อนแจ่มและพื้นที่ใกล้เคียง) ผลของคำสั่งไม่ฟ้องคดีรีสอร์ทที่พักบุกรุกป่า ด้วยความเห็นที่ระบุว่า ผู้ประกอบการขาดเจตนาบุกรุกป่าสงวนฯ จากที่ตรวจสอบพบกว่า 29-30 แห่ง ระดับปฏิบัติงาน พยายามดำเนินการอย่างรอบคอบ เพราะปัจจุบันแกนนำ ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารท้องถิ่นอีกด้วย จะดำเนินการอะไร ต้องยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม และนิติศาสตร์ควบคู่กันไป

“ไม่เช่นนั้นก็จะโยนกลองให้ป่าไม้เป็นผู้ร้าย ที่ยึดตัวบทกฎหมาย หลักนิติศาสตร์ เคร่งครัด ไม่มีหลักนิติรัฐ นิติธรรม ซึ่งจริงๆแล้ว เจตจำนงค์ของโครงการ ตั้งแต่เป็นป่าสงวน เมื่อปี 2507 แล้วมีโครงการหลวงม่อนแจ่ม ในปี 2552 จะเห็นว่า ม่อนแจ่ม กลายสภาพเกินเยียวยา ที่ถูกดำเนินคดีมีความผิดชัดเจน มีการนำภาพถ่ายทางอากาศปี 2545 เป็นหลักฐาน มีการซื้อขายเปลี่ยนมือ มีทุนนอมินี ลงทุนกัน ระดับชาวบ้าน ทำแบบที่เห็นไม่ได้”

สำหรับประเด็นที่ภาคบริการ ภาคการท่องเที่ยว กดดัน เรียกร้องหน่วยงานรัฐฯให้เร่งแก้ปัญหา โรงแรม ที่พักขนาดเล็ก ซึ่งกรมการปกครองในฐานะผู้รับผิดชอบ พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ.2547 พยายามหาทางออก เพราะเกิดปัญหากับโรงแรมทั่วประเทศ ที่ไม่ถูกกฎหมายประมาณ 52-53% ขัดต่อ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ก่อสร้างในสถานที่ผิด พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2562 ในโซนสีที่ไม่อนุญาต และดำเนินการโดยผิดกฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีการดำเนินการผิด พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน ประมาณ 5-6% ทำให้โรงแรมเหล่านี้ไม่มีใบอนุญาตจัดตั้งโรงแรมอย่างถูกต้องตาม พ.ร.บ. โรงแรม พ.ศ.2547 ทำให้ขาดสิทธิ์ต่างๆ ในการเข้าถึงเงินกู้หรือสวัสดิการต่างๆ ของรัฐที่ผ่านๆ มา

สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 เคยนำเสนอระดับนโยบายแล้วว่าคำสั่ง คสช.ที่ 6/2562 ว่าด้วยเรื่อง การผ่อนผันให้ผู้ประกอบการรีสอร์ท โรงแรม วัตถุประสงค์ของคำสั่งฯ ระบุชัดเจนว่าให้บังคับใช้ในพื้นที่ที่เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายเท่านั้น และการกล่าวอ้างอิงตาม พ.ร.บ. การผังเมือง พ.ศ. 2518 พื้นที่ม่อนแจ่ม เป็นเขตป่าสงวนไม่อยู่ในพื้นที่ผังเมือง จึงไม่ใช่เหตุที่จะนำคำสั่ง คสช.ที่ 6/2562 มาบังคับใช้ในกรณีนี้อยู่แล้ว

ในขณะที่เครือข่ายท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ภาคเหนือ กล่าวว่า ม่อนแจ่ม แม่ริม , แม่กำปอง ,ภูทับเบิก และหลายๆ พื้นที่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมรูปแบบ การจัดการเชิงพื้นที่ ต้องยึดโยงการมีส่วนร่วม ของผู้คนในพื้นที่ การหยิบยกกฎหมายก็เป็นปัจจัย เพื่อสร้างบรรทัดฐาน ปกป้อง รักษาผืนป่า แต่การเปิดโอกาส ให้ชุมชนร่วมจัดการพื้นที่ ปรับวิถีท่องเที่ยวที่เหมาะสม สถานที่พัก ธุรกิจภาคท่องเที่ยว ในรูปแบบโรงแรมเล็กๆซึ่งก่อสร้างโรงแรมในสถานที่ ขัดต่อหลักเกณฑ์การอนุญาต เช่น สร้างในป่า เขตอุทยาน พื้นที่ สปก.หรือ สถานที่ต้องยึดโยงกับกฎหมายผังเมือง และกฎหมายควบคุมอาคาร ที่ผ่านมากรมโยธาธิการและผังเมืองขยายระยะเวลาให้ผู้ประกอบการ ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายภายใน 3 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดภายในปี 2567 ให้โอกาส 8 ปี ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา อีกทั้งกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มีการผ่อนผันเป็นระยะๆ จนทำให้รายได้ ที่ท้องถิ่น จะมีนำไปพัฒนาพื้นที่ลดลงมาก ต้องรอรับงบอุดหนุนจากรัฐฯ ก็ต้องทำความเข้าใจบริบทสังคมในวันนี้ด้วยว่า ถึงเวลาที่กฎกติกาต่างๆ ต้องถูกนำมาใช้หลังสถานการร์โควิด-19 ผ่อนคลายลง

ร่วมแสดงความคิดเห็น