เร่งปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่ม

กรมอนามัย –สสส. – เครือข่าย เร่งปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่ม ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “ร่วมปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ” เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ณ ห้องประชุมกำธร สุวรรณกิจ กรมอนามัย เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ หน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ สุขภาวะเด็กและเยาวชน หน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านคุ้มครองผู้บริโภค หน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านสื่อเด็กและเยาวชน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง พร้อมเผยพบเด็กเล็ก เด็กวัยเรียน เด็กวัยรุ่น มีภาวะอ้วนเพิ่มขึ้น เหตุกินหวาน มัน เค็ม

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญขัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า “ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาภาวะเริ่มอ้วน และอ้วนในเด็กเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากรายงาน HDC กระทรวงสาธารณสุข ปี 2565 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 พบเด็กอายุ 6 – 14 ปี มีภาวะเริ่มอ้วน และอ้วน ร้อยละ 13.7 เด็กวัยรุ่น 15 – 18 ปี พบร้อยละ 13.1 เกินค่าเป้าหมาย ที่กำหนดให้ไม่เกิน ร้อยละ 10 สาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอาหารที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูง ซึ่งกลยุทธ์การตลาดเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อ และบริโภคของเด็ก โดยเฉพาะวัยที่เริ่มมีกำลังซื้อและจ่ายด้วยตนเอง ดังนั้น การพัฒนามาตรการปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหาร และเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ควรสนับสนุนทั้งการยกระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มเด็กต่ำกว่า 18 ปี รวมทั้งพ่อแม่และผู้เลี้ยงดู และพัฒนามาตรการคุ้มครองเด็กด้วยกฎหมาย ภายใต้การมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน โดยควรคำนึงถึงสภาพแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

“ทั้งนี้ หน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ สุขภาวะเด็กและเยาวชน หน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านคุ้มครองผู้บริโภค หน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านสื่อเด็กและเยาวชน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 100 หน่วยงาน ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนามาตรการปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่ม ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อาทิ ฉลากอาหารที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพควรมีสัญลักษณ์ให้เด็กอ่านและเข้าใจง่าย ควบคุมการโฆษณา โดยเฉพาะสื่อดิจิทัล ซึ่งเด็กเข้าถึงได้ง่าย และควรมีการกำกับ ติดตาม การดำเนินการของโรงเรียน ในการห้ามทำการตลาดอาหารเครื่องดื่มที่เสี่ยงต่อสุขภาพในโรงเรียน รวมทั้งให้ความรู้ด้านโภชนาการ การป้องกันเท่าทันสื่อ

โดยคาดหวังสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อสุขภาพของเด็กอย่างยั่งยืน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ทางด้าน ดร.แพทย์หญิงสายพิณ โชติวิเชียร ผู้อํานวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวว่า ช่องว่างสำคัญ

ในการแก้ไขปัญหาภาวะอ้วนในเด็กของประเทศไทย คือ มาตรการปกป้องเด็กจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่ม ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แม้ว่าประเทศไทยมีมาตราการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มบางส่วน แต่ยังไม่ครอบคลุมกลยุทธ์การตลาด และไม่ได้มุ่งเป้าหมายปกป้องเด็กจากอาหารและเครื่องดื่มไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูงโดยตรง จึงมีข้อเสนอแนะในการพัฒนามาตราการทางกฎหมาย เพื่อปกป้องและคุ้มครองเด็กจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่ม ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ 3 ประเด็นหลัก คือ 1.) ปกป้องและคุ้มครองเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNCRC) จากการตลาดอาหารและเครื่องดื่ม ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ 2.) ควบคุมผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบตอสุขภาพเด็กที่ไม่ผ่านเกณฑ์การจำแนกอาหารมาตฐานโภชนาการของประเทศไทย โดยสำนักโภชนาการ เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำเกณฑ์ และ 3.) แนวทางในการควบคุมการตลาดฯ ควรพิจารณา ตามชุดข้อเสนอแนะขององค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การยูนิเชฟ ประเทศไทย (UNICEF Thailand) และหลักส่วนประสมทางการตลาด ภายใต้ความเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย

ทางด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ตระหนักถึงปัญหาภาวะอ้วนในเด็ก จากการมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และสติปัญญา สสส. ได้ยกระดับความสำคัญของการดำเนินงาน ประเด็นอาหารให้เป็น 1 ใน 7 เรื่อง ที่กำหนดไว้ในทิศทาง และเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2565-2574) สสส. จึงสนับสนุนมาตรการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยควรเพิ่มมาตรการที่เข้มข้นขึ้น เพื่อช่วยปิดช่องว่างทางกฎหมายที่มีอยู่ ร่วมกับการให้ความรู้แก่ประชาชนและเด็ก เพื่อเป็นกลไกในการปกป้องคุ้มครองเด็ก

ร่วมแสดงความคิดเห็น