ปรับเกณฑ์สอบครูผู้ช่วย ให้สิทธิโรงเรียนจัดสอบสัมภาษณ์

ปรับเกณฑ์สอบครูผู้ช่วย ให้สิทธิโรงเรียนจัดสอบสัมภาษณ์ เร่งทดแทนครูเกษียณอื้อ!

กลุ่มบุคลากร ข้าราชการบำนาญ สายงานการศึกษา อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการข้าราชการครู และบุคคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) แจ้งความคืบหน้า ผลการแก้ปัญหา บุคลากรทางการศึกษา ซึ่งมี นส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานประชุมล่าสุดเพื่อหารือหลักเกณฑ์และวิธีการเลื่อนระดับ ตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไป และตำแหน่งประเภทวิชาการ
ผลการประชุมเห็นชอบและเร่งรัดให้มีการยกร่างหลักเกณฑ์การแต่งตั้ง โยกย้าย และรับโอน ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38ค.(2) เพิ่มเติม เพื่อให้กระชับ และสอดคล้องกับบริบทของ ศธ.สนับสนุนให้กลุ่ม 38 ค.(2) ได้รับการสนับสนุน และมีขวัญกำลังใจมากขึ้น ตาม พ.ร.บ.ข้าราชการครู
และบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547

รวมถึงการปรับแก้หลักเกณฑ์การสอบแข่งขัน เพื่อบรรจุตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เบื้องต้นจะปรับการสอบภาค ค สอบสัมภาษณ์ จากเดิมที่ดำเนินการโดยต้นสังกัด มาให้โรงเรียนจัดสอบเองโดยตรง เพื่อให้สะดวก รวดเร็ว และสามารถบรรจุแต่งตั้งได้ทันต่อการใช้งาน ส่วนภาค ก ยังให้ส่วนกลางดำเนินการจัดสอบตามเดิม แต่อาจเปิดช่องให้ผู้ที่มีผลสอบของ ก.พ.นำคะแนนมายื่น เพื่อเข้ารับการคัดเลือกตำแหน่งครูผู้ช่วยได้ด้วย คาดว่าจะเสนอให้คณะกรรมการ ก.ค.ศ.พิจารณาได้ภายในเดือนนี้ เพื่อจะใช้จัดสอบครูผู้ช่วยในปี 2566

ทั้งนี้อดีตศึกษานิเทศน์ จ.ลำพูน แสดงความคิดเห็นว่า เท่าที่ทราบข้อมูลข้าราชการ บุคลากรทางการศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เกษียณ 30 ก.ย.นี้ จำนวน 18,441 คน ปีหน้าอีกราวๆ 18,256 คน และปี 2567 ประมาณ 14,944 คน. จะเห็นแนวโน้ม อัตราบุคลากรทางการศึกษา มีการปรับเปลี่ยนตามบริบท ศธ.ที่ยึดโยงแผนการจัดสรรอัตรากำลังตามที่ กพร. แนะนำ

“ต้องทำความเข้าใจว่า การศึกษา เป็นสิทธิพื้นฐานที่รัฐต้องดำเนินการ อย่างเท่าเทียม มีประสิทธิภาพ ท่ามกลางยุคการเปลี่ยนผ่านของระบบการศึกษาบ้านเรา ทั้ง การยุบโรงเรียนขนาดเล็ก การจัดการเรียนการสอน ในชุมชน หมู่บ้าน ตำบล ให้ทั่วถึง ซึ่งต้องยอมรับว่าค่านิยมของผู้ปกครอง ส่วนใหญ่ ยังเห็นว่าอนาคตลูกหลานควรเรียนในโรงเรียนที่ดี เป็นที่ยอมรับจากรุ่นสู่รุ่น โรงเรียนดังๆ เหล่านั้น มีการคัดเฟ้นครูผู้สอน ทดแทนอัตรากำลังที่หายไปตามวาระ ในขณะที่สถานศึกษาส่วนหนึ่ง ไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะได้รับการจัดสรรบุคลากร ครูผู้ช่วย ที่มีศักยภาพอย่างไร หากมีการปรับเกณฑ์คัดเลือก เปิดทางให้สถานศึกษาได้ใช้สิทธิ์ พิจารณา คัดเลือกครู ผู้สอนที่จะมาร่วมงาน น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสม มากกว่ามองไปเพียง การเปิดช่อง แสวงประโยชน์ ในการคัดเลือกสังคม เปลี่ยนผ่านไปตามยุคสมัย การสอบผ่านภาค ก.ความรู้ทั่วไป ภาค ข. ความรู้เฉพาะ หรือ ผ่านเกณฑ์ ก.พ.ใช้มาประกอบการพิจารณา

ท้ายที่สุด ภาค ค. คือ เกณฑ์ประกอบที่ ผู้บริหารสถานศึกษา คณะกรรมการโรงเรียน จะสามารถกลั่นกรอง คัดเฟ้น บุคลากร ที่เปี่ยมด้วยความรู้ ความสามารถ จิตพิสัยของความเป็นครู ที่จะรับรู้ได้จากการสัมภาษณ์”
สำหรับประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ข้าราชการในสังกัดพ้นจากราชการ เนื่องจากครบ 60 ปี หรือเกษียณราชการนั้น พบว่า 30 ก.ย.นี้ มีบุคลากรทางการศึกษา ในพื้นที่เชียงใหม่ เกษียณกันเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น สำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 มี ผอ.สำนักฯ, ผอ.ร.ร.เจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ 1, ผอ.ร.ร.ท่าศาล, ผอ.ร.ร.วัดป่าข่อยใต้ เป็นต้น เขต 2 ก็จะมี ผอ.สำนักฯ, ผอ.ร.ร.บ้านศรีงาม, ผอ.ร.ร.บ้านบวกจั่น
ถ้าระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงใหม่ พบว่า ผอ.สำนัก, เกษียณมี ผอ.ร.ร.สันป่าตองวิทยาคม และครูอีก 9 ท่าน ,รอง ผอ.ร.ร.วัฒโนทัย, ดอยสะเก็ด, แม่ริม จะเห็นได้ว่าบุคลากรทางการศึกษา ครู ที่เกษียณ 30 ก.ย.นี้ มีจำนวนมาก การปรับเกณฑ์ เพื่อทดแทนอัตราที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ ศธ. กำลังเร่งรัดในขณะนี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น