(มีคลิป) หนุ่มชื่นชอบด้วงกว่าง ศึกษาจนสามารถเพาะพันธุ์ได้เอง

หนุ่มเชียงใหม่ชื่นชอบด้วงกว่าง ศึกษาจนสามารถเพาะพันธุ์ได้เอง ทำเป็นธุรกิจเสริมสร้างรายได้ แถมเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ นักเรียน นักศึกษาที่สนใจศึกษาวงจรชีวิตด้วงกว่าง เข้าชมศึกษาฟรี หวังอนุรักษ์กว่างชนล้านนา

วันที่ 8 ส.ค.65 รายงานข่าวแจ้งว่า ย่างเข้าสูงช่วงปลายฝนต้นหนาว ถือเป็นช่วงที่คนภาคเหนือรู้กันดีว่า จะเป็นช่วงที่ “ด้วงกว่าง” เริ่มโผล่ขึ้นมาจากดิน เพื่อขึ้นมาดำรงชีวิต และผสมพันธุ์ ซึ่งถือเป็นช่วงที่ชาวบ้าน รวมไปถึงเด็กๆ พากันออกตามหา ด้วงกว่าง หรือที่รู้จักกันในนาม นักสู้แห่งขุนเขา เพื่อนำมาท้าประลองกันบนขอนไม้ ที่เป็นการละเล่นที่นิมยมกันอีกอย่างของคนภาคเหนือ แต่ในปัจจุบันการละเล่นดังกล่าวก็เริ่มหายสาบสูญไป ด้วยสภาพความเป็นอยู่และเทคโนโลยี ทำให้การละเล่น “ด้วงกว่าง” นั้นไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายของเด็กสมัยใหม่ซักเท่าไหร่

แต่ที่บริเวณริมถนนในพื้นที่ ต.สันผีเสื้อ อ.เมืองเชียงใหม่ ยังมีการละเล่นดังกล่าว และด้วงกว่างให้ได้เห็นอยู่ แถมยังเปิดพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ให้ผู้สนใจทั้งเด็กๆ นักเรียน นักศึกษา ได้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเรื่อง “ด้วงกว่าง” อย่างใกล้ชิด เนื่องจากสถานที่แห่งนี้ เป็นบ้านที่เพาะพันธุ์ด้วงกว่าง และจำหน่ายด้วงกว่าง ที่ชาวบ้านในระแวก รวมทั้งผู้ให้ความสนใจในเรื่อง “ด้วงกว่าง” รู้จักกันดี ซึ่งมีทั้งกว่างชนสายพันธุ์ต่างๆ และตัวอ่อน ดักแด้ ที่เพาะพันธุ์ไว้จำนวนมาก ให้ผู้สนใจได้ชมกันแบบฟรีๆ นอกจากนี้ทางเจ้าของยังพร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “ด้วงกว่าง” อีกด้วย

ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจทราบว่าบ้านหลังดังกล่าว ตั้งอยู่เลขที่ 14/4 หมู่ 3 ต.สันผีเสื้อ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นบ้านของ นายนิพนธ์ เจริญเมือง อายุ 47 ปี (พี่โอ๋) เจ้าของร้านด้วงอนุรักษ์ กว่างชนล้านนา ที่เปิดพื้นที่หน้าบ้านเป็นจุดศูนย์กลางของบรรดาเซียนด้วงกว่าง ได้เข้ามาแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับด้วงกว่าง และที่แห่งนี้ไม่เพียงจะจำหน่ายด้วงกว่างหลากสายพันธุ์ แต่ยังเป็นสถานที่เพาะพันธุ์ด้วงกว่างอีกด้วย โดยมีตั้งแต่ด้วงที่เพิ่งออกจากไข่ ไปจนถึงด้วงกว่างวัยโตเต็มวัย ที่นำมาขึ้นสังเวียน

จากการสอบถามทางด้าน นายนิพนธ์ เจริญเมือง (พี่โอ๋) เจ้าของบ้าน บอกว่า สืบเนื่องจากตัวเองเป็นคนชื่นชอบด้วงกว่างมาตั้งแต่เด็ก วันเวลาผ่านไปพบว่าปัจจุบัน ด้วงกว่าง และการละเล่น เริ่มมีให้เห็นกันไม่มาก ประกอบกับเด็กสมัยนี้ก็ไม่นิยมการเล่นด้วงกว่าง และหันไปเล่นโทรศัพท์กันมากขึ้น จนบางคนแทบไม่รู้จักด้วงกว่างด้วยซ้ำ อีกทั้งด้วงกว่าง และการละเล่นก็มีเพียงแค่ปีละครั้ง ตนจึงอยากอนุรักษ์ไว้ เพื่อไม่ให้ประเพณีท้องถิ่นของภาคเหนือสูญหายไป นอกจากนี้ปัจจุบันด้วยเรื่องของสภาพแวดล้อม สภาพอากาศ และความเป็นอยู่ในตอนนี้ก็ยังส่งผลกระทบต่อด้วงกว่าง ที่ทำให้ด้วงกว่างตามธรรมชาติก็เริ่มน้อยลงไปมาก จึงต้องมีการเพาะพันธุ์เองมากขึ้น เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ และต่อยอดทั้งในเรื่องของธุรกิจ และไว้ศึกษา

โดยส่วนตัวของตนนั้นก็เริ่มเพาะพันธุ์ด้วงกว่างได้ไม่นาน และอาศัยศึกษาจากคนที่ชำนาญในเรื่องการเพาะเลี้ยง จากนั้นก็มาทดลองทำการเพาะเลี้ยง จนกระทั่งรู้แนวทางและประสบผลสำเร็จในการเพาะเลี้ยง และส่งผลทำให้ตนต่อยอดในการเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษา และสามารถทำเป็นธุรกิจเสริมไปอีกทางด้วย โดยในส่วนของการศึกษาด้วงกว่างนั้น มีกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ให้ความสนใจเข้ามาชมทุกปี ทั้งในส่วนของนักศึกษาที่ทำรายงาน รวมทั้งในส่วนของบางคนที่ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับสัตว์แมลง และบางคนที่ไม่เคยพบเห็นด้วงชนิดนี้ก็เข้ามาศึกษาการเพาะเลี้ยง และวงจรชีวิตของด้วงชนิดนี้ นอกจากนี้ก็มีบางคนที่มาศึกษาเพื่อนำความรู้ไปทดลองเพาะเลี้ยงเพื่อหวังจะเป็นธุรกิจและรายได้เสริม

นายนิพนธ์ บอกอีกว่า ในส่วนของด้วงกว่างเพาะเลี้ยง กับด้วงกว่างที่เกิดตามธรรมชาตินั้น ก็จะมีความแตกต่างกันเรื่องของอายุขัย และความแข็งแรง อย่างเช่น ด้วงกว่างที่เพาะเลี้ยงนั้นก็จำเป็นที่จะต้องหาพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ที่สมบูรณ์ จะทำให้ได้พันธุ์ด้วงกว่างที่ออกมามีลักษณะสวยงาม เมื่อเปรียบเทียบกับกว่างที่เกิดตามธรรมชาติ แต่ในเรื่องของความทนทาน และอายุขัยของกว่างเพาะเลี้ยงนั้นจะสั้นกว่า เพราะกว่างป่าจะมีความแข็งแรง อย่างไรก็ตาม ตนก็ได้เพาะเลี้ยงและทำการปล่อยด้วงกว่างบางส่วนกลับคืนสู่ธรรมชาติ ทั้งพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ที่พร้อมผสมพันธุ์ รวมถึงด้วงที่ยังอยู่ในดิน เพื่อเป็นการอนุรักษ์ไว้ให้อยู่กับธรรมชาติอีกทางหนึ่งด้วย

ทั้งนี้อาชีพการเพาะเลี้ยงด้วงกว่าง หากเป็นคนที่มีความชำนาญก็สามารถทำเป็นอาชีพหลักได้ แต่ในส่วนของบางรายก็อาจจะเพาะเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม หรือเพาะเลี้ยงไว้ศึกษา ซึ่งในส่วนของตัวเองก็เพาะเลี้ยงทำเป็นอาชีพเสริม และงานอดิเรก ในช่วงปลายฝนต้นหนาว ที่พอสร้างรายได้ให้กับตนได้บางวันละประมาณ 400-500 ไปจนถึง 1,000 บาท

ร่วมแสดงความคิดเห็น