ส่งเสริมศักยภาพและยกระดับเกษตรกรท้องถิ่น

กฟผ.แม่เมาะ จับมือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ส่งเสริมศักยภาพและยกระดับเกษตรกรท้องถิ่นสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตรยุคใหม่

วันที่ 9 สิงหาคม 2565 ณ ห้องมุ่งงานเลิศ อาคารประชาสัมพันธ์โรงไฟฟ้าแม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดลำปาง เป็นประธานในพิธี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการยกระดับศักยภาพเกษตรกรด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อระบบนิเวศที่ยั่งยืนของจังหวัดลำปาง”

โดยมี นายจรัญ คำเงิน ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 2 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โดยมุ่งเน้นพัฒนาจังหวัดลำปางด้วยการส่งเสริมศักยภาพของเกษตรกร ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการทำเกษตรกรรม เพื่อยกระดับเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการเกษตรยุคใหม่ ทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มประชาชน กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่อำเภอ แม่เมาะและจังหวัดลำปาง ให้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่มั่นคง นำไปสู่การเติบโตและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดลำปางในอนาคต


นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดลำปาง กล่าวว่า ในนามของจังหวัดลำปาง รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ทาง กฟผ. แม่เมาะ และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงในโครงการดังกล่าว ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรกรรมของอำเภอแม่เมาะและจังหวัดลำปาง เป็นการเตรียมพร้อมในการสร้างบุคลากรด้านการเกษตรรุ่นใหม่ ที่ช่วยส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมและสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ เพราะภาคการเกษตรมีบทบาทสำคัญในการสร้างรายได้สู่ประเทศและจังหวัดลำปาง รวมถึงเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญอีกด้วย


โครงการยกระดับศักยภาพเกษตรกรด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อระบบนิเวศที่ยั่งยืนของจังหวัดลำปาง เป็นหนึ่งในแผนงานด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) ภายใต้โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ (Mae Moh Smart City) ที่จะช่วยยกระดับเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการเกษตรยุคใหม่ โดยเริ่มจากการศึกษาความต้องการและศักยภาพของเกษตรกรในพื้นที่ อ.แม่เมาะ เพื่อจัดหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ทำการเกษตร เช่น การใช้เทคโนโลยี IOT, การทำโซลาร์ฟาร์ม และการปลูกพืชแบบไม่ใช้ดิน เป็นต้น โดยมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาและคำแนะนำเชิงลึกด้านเทคโนโลยีการเกษตร ไปพร้อมๆ กับถ่ายทอดเทคนิคด้านการทำการตลาด ทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ฝึกปฏิบัติและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ากับธุรกิจของตัวเอง สามารถพัฒนาต่อยอดการทำเกษตรได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของอำเภอแม่เมาะและจังหวัดลำปางในอนาคต

ร่วมแสดงความคิดเห็น