กรมอนามัย ร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายประเทศ ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กรมอนามัยได้ร่วมการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (Thailand Climate Action Conference : TCAC) ภายใต้แนวคิด “อนาคตไทย อนาคตโลก: โอกาสและความรับผิดชอบ (Our Future: Our Responsibility, Our Opportunity) เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน พร้อมขับเคลื่อนเป้าหมายของประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากประเทศไทยกำลังประสบปัญหาความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น และรูปแบบของฤดูฝนที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อวัฏจักรของและพาหะนำโรค ทำให้เกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออก และโรคอื่น ๆ รวมทั้งการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากสภาพอากาศที่รุนแรง

“ทั้งนี้ กรมอนามัยได้ดำเนินการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศใน 2 ส่วน ได้แก่ 1.) การลดก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) ในสถานบริการสาธารณสุข เพื่อเป็นต้นแบบในการลดโลกร้อน และสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับบุคลากรสาธารณสุขเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 2.) การปรับตัว (Adaptation) โดยพัฒนาองค์ความรู้ ได้แก่ การดำเนินโครงการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดทำแผนที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายในการป้องกันและควบคุมโรคที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รวมทั้งผลักดันแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านสาธารณสุข พ.ศ.2564-2573 เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข สร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพ เสริมศักยภาพ ทักษะของประชาชนในการจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามบริบทของพื้นที่ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ หรือ Health in All Policy ให้สังคมไทยมีความสามารถในการรับมือและปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้การมีสิ่งแวดล้อมที่ดีและการพัฒนาที่ยั่งยืน”รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น