เชียงใหม่ พัฒนาความร่วมมือด้านการปลูก สกัด และวิจัยพืชกัญชากัญชง

กรมวิทย์ฯ จับมือภาคเอกชนและวิสาหกิจชุมชน พัฒนาความร่วมมือด้านการปลูก สกัด และวิจัยพืชกัญชากัญชง เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และเชิงพาณิชย์

วันที่ 9 สิงหาคม 2565 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการปลูก สกัด และวิจัยพืชกัญชากัญชงทางการแพทย์ระหว่าง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บริษัท ซาลัส ไบโอซูติคอล (ประเทศไทย) จำกัด วิสาหกิจชุมชนแม่แตงสมุนไพรเพื่อการแพทย์ จ.เชียงใหม่ และวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ โดยมีผู้บริหารของทั้งสี่ฝ่าย ประกอบด้วย นพ.พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งได้รับมอบหมายจาก นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายธนดี พันธุมโกมล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการบริษัท ซาลัส ไบโอซูติคอล(ประเทศไทย)จำกัด นายสุธีระวัฒน์ ทองคำฟู ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่แตงสมุนไพร เพื่อการแพทย์จ.เชียงใหม่ และนายนพวิชัย ยิ้มถนอมประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ร่วมลงนามและมีคณะผู้บริหารของทุกฝ่ายร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1 เชียงใหม่

นพ.พิเชฐ กล่าวว่า ในปัจจุบันกัญชากัญชงกำลังจะก้าวสู่การเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ ของประเทศไทย ด้วยคุณค่าสรรพคุณและประโยชน์ที่ได้รับจากกัญชากัญชงในทุกส่วน ทั้งเมล็ด ช่อดอก ใบ ลำต้น เปลือก ราก และเส้นใย ปัจจุบันจัดเป็นพืชที่สามารถแปรรูปทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและ ต่อยอดทางธุรกิจได้มากมาย กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากกัญชากัญชง ทางการแพทย์และได้ปลดกัญชากัญชงออกจากยาเสพติด ส่งผลให้สามารถนำพืชกัญชากัญชงมาพัฒนา และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง และสมุนไพรได้นับเป็นโอกาสที่เกษตรกรและทุกภาคส่วน จะได้ร่วมกันพัฒนาและผลักดันกัญชากัญชงให้เป็นพืชเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะการปรับปรุงสายพันธุ์ และเทคโนโลยีการปลูกให้เหมาะสมการผลิตสารสกัด การศึกษาวิจัยใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง ต่อยอดในเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม

“ความร่วมมือกันครั้งนี้มีระยะเวลาในการดำเนินการ 5 ปี โดยมีวัตถุประสงค์ในการศึกษา วิจัย และการพัฒนาสายพันธุ์พืชกัญชากัญชงให้มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตั้งแต่การปลูกการเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่และสภาวะแวดล้อมที่ปลูก การพัฒนาและรวบรวมสายพันธุ์เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่มีสารสำคัญสูง และเป็นแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพ การผลิตสารสกัดและแปรรูปพืชกัญชากัญชงให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และได้มาตรฐานสากล

นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการร่วมกันในด้านการศึกษา และพัฒนาบุคลากร การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีแก่บุคลากร และการใช้ทรัพยากรของทั้งสี่ฝ่าย เช่น ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ สถานที่ อุปกรณ์เครื่องมือ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้โครงการตามบันทึกความร่วมมือนี้ ประสบความสำเร็จ” นพ.พิเชฐ กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น