ปลาเรนโบว์เทราต์ และปลาสเตอร์เจียน ดอยดำ

“ปลาเรนโบว์เทราต์ และปลาสเตอร์เจียน ดอยดำ” ผลผลิตจากโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ตามพระราชดำริฯ

“พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้าง อ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า” พระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่แสดงถึงพระราชปณิธานอันแรงกล้าที่จะทรงงานด้านการอนุรักษ์ป่า ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำ เพื่อสนับสนุนการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อช่วยให้พสกนิกรชาวไทยมีน้ำเพียงพอต่อการดำรงชีพและการทำการเกษตร ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2545 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพื้นที่แนวชายแดน และพระราชทานถุงยังชีพแก่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณดอยดำ ตำบลเมืองแหง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ทรงพบว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าว ได้ถูกบุกรุกแผ้วถางป่าเป็นบริเวณกว้าง ประกอบกับมีปัญหาด้านความมั่นคงตามแนวชายแดน จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งหมู่บ้านขึ้น ในลักษณะโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ บริเวณแหล่งต้นน้ำลำธาร โดยให้ “คนอยู่กับป่า” ได้อย่างผสมกลมกลืนและยั่งยืน โดยมีพระราชเสาวนีย์ให้สำนักพระราชวัง ประสานกับ กองทัพภาคที่ 3, กรมป่าไม้, กรมชลประทาน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อสนองแนวพระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยการศึกษาวิจัย และทดลองหาวิธีการให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืนในลักษณะ “บ้านเล็กในป่าใหญ่” เพื่อเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าแหล่งต้นนำลำธาร ให้มีความอุดมสมบูรณ์ และจัดระเบียบชุมชนบริเวณแนวชายแดน อีกทั้งยังเป็นการลดปัญหาการบุกรุกแผ้วถางป่า เพื่อทำไร่เลื่อนลอยของราษฎร โดยส่งเสริมให้ราษฎรได้มีอาชีพ และรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ มีราษฎรที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 20 ครอบครัว โดยมอบหน้าที่ให้ดูแลรักษาป่าต้นน้ำลำธาร จำนวน 16,520 ไร่ พร้อมทำหน้าที่เป็นยามรักษาชายแดน รวมทั้งแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่พร้อมทั้งศึกษารูปแบบ วิธีการ และแนวทางในการจัดการให้คนอยู่กับป่าไม้อย่างกลมกลืนโดยไม่ทำลายป่า

ซึ่งในปัจจุบัน โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ตามพระราชดำริ ดอยดำ ดำเนินงานด้านการประมง มีกิจกรรมจุดเรียนรู้ และสาธิตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ดังนี้

  1. งานเพาะเลี้ยงปลาเรนโบว์เทราต์
    ปลาเรนโบว์เทราต์ (Rainbow trout; Oncorhynchus mykiss (Walbaum, 1972) เริ่มการเลี้ยงในปี 2548 โดยได้รับการสนับสนุนลูกพันธุ์ปลาครั้งแรกจากมูลนิธิโครงการหลวง จากนั้นโครงการฯ ดอยดำ จึงทำการเพาะเลี้ยงผลิตลูกพันธุ์สำหรับการเลี้ยงของโครงการ มีช่วงฤดูการผลิตลูกปลาระหว่างเดือนธันวาคม ถึง มกราคม มีผลการผลิตลูกปลาสำหรับการเลี้ยงที่บ้านเล็กในป่าใหญ่ ตามพระราชดำริ ดอยดำ และโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ตามพระราชดำริ ดอยฟ้าห่มปก อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ โดยให้การสนับสนุนลูกปลาแก่โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ดอยฟ้าห่มปก ปีละ 3,000 ตัว ผลผลิตส่งจำหน่ายร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์โครงการพระราชดำริเชียงใหม่ เพื่อเป็นรายได้สนับสนุนงานมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง นอกจากนั้น ผลการเลี้ยงยังได้สนับสนุนแก่ราษฎรสำหรับบริโภคในครัวเรือนปีละจำนวน 200 ตัว ทั้งนี้ งานเพาะเลี้ยงปลาเรนโบว์เทราต์ ได้รับการสนับสนุนทางวิชาการในด้านการเพาะพันธุ์ จากผู้เชี่ยวชาญของ Gifu Inland Fisheries Training Center จังหวัดกิฟุ ประเทศญี่ปุ่น ทำให้สามารถผลิตลูกพันธุ์ปลาได้จำนวน 50,000-80,000 ตัวต่อปี สำหรับฤดูการเพาะพันธุ์ของปีงบประมาณ 2565 จะเริ่มในช่วงที่อุณหภูมิน้ำลดลงเหลือประมาณ 12 องศาเซลเซียส หรือช่วงกลางเดือนธันวาคม ไปจนถึงสิ้นเดือนมกราคม
  2. งานเพาะเลี้ยงปลาสเตอร์เจียน
    งานเพาะเลี้ยงปลาสเตอร์เจียน มีวัตถุประสงค์ เพื่อการใช้ประโยชน์จากความเย็นของน้ำธรรมชาติบนพื้นที่สูงให้เป็นแหล่งสร้างรายได้ เป็นแหล่งอาหาร การอยู่ร่วมกับป่าและรักษาป่าต้นน้ำของราษฎรบนที่สูงและเพื่อสร้างความมั่นคงตามแนวชายแดน และเป็นตามแนวทางการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และ สนองพระราชดำริ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงพระราชทานเงินให้กับกรมประมง สำหรับจัดซื้อไข่ปลาสเตอร์เจียน จำนวนเงิน 400,000 บาท ปัจจุบันงานเลี้ยงปลาสเตอร์เจียนมีดังนี้
  3. ปลาสเตอร์เจียนสายพันธุ์ Siberian sturgeon (Acipenser baerii Brandt, 1869)
  • ปลารุ่นที่ 1 กรมประมงจัดซื้อไข่ปลามาจาก ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
  • ปลารุ่นที่ 2 กรมประมงจัดซื้อไข่ปลามาจาก ประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย
  1. ปลาสเตอร์เจียนสายพันธุ์ Siberian sturgeon รุ่น F1
    ได้จากการเพาะพันธุ์ปลาสเตอร์เจียนสายพันธุ์ Siberian sturgeon ที่เลี้ยงที่โครงการ ฯ ดอยดำ โดยวิธีการผสมเทียม จากการเพาะพันธุ์ที่ใช้พ่อพันธุ์รุ่นที่ 1 สายพันธุ์เยอรมันนี แม่พันธุ์รุ่นที่ 2 สายพันธุ์รัสเซีย เมื่อเดือนมีนาคม 2558 ได้ปลาสเตอร์เจียนสายพันธุ์ Siberian sturgeon รุ่น F1 ชุดที่ 1 และเดือนมีนาคม 2561 ได้เป็นชุดที่ 2
  2. ปลาสเตอร์เจียนลูกผสม (Hybrid sturgeon; Huso dauricus (Georgi, 1775) × Acipenser schrenckii (J.F. Brandt, 1869)

รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ทูลเกล้าถวายไข่ปลาสเตอร์เจียนลูกผสม (Hybrid sturgeon) จำนวน 10,000 ฟอง แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสการเฉลิมฉลองพระชมมายุครบ 60 พรรษา และเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน โดยผู้มอบคือ กรมบริหารกิจการประมง กระทรวงเกษตร สาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้รับมอบคือ สำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริม บ้านเล็กในป่าใหญ่ ตามพระราชดำริ ดอยดำ และมอบหมายให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเชียงใหม่ กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กรมประมงเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ เมื่อปลามีอายุ 6 ปี สามารถตรวจแยกเพศ พบอวัยวะสืบพันธุ์ระยะ 1 ถึงระยะที่ 4 แยกเป็นเพศเมีย 2,022 ตัว เพศผู้ 1,206 ตัว ยังแยกเพศไม่ได้ จำนวน 1,933 ตัว

กองทัพภาคที่ 3 ได้น้อมนำศาสตร์พระราชา เพื่อสืบสานพระราชปณิธาน ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการพัฒนาความเจริญทุกมิติให้เกิดขึ้นในพื้นที่และก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน อย่างยั่งยืนตลอดไป

คณะบรรณาธิการข่าว กองทัพภาคที่ 3
11 สิงหาคม 2565

ร่วมแสดงความคิดเห็น