บูรณาการ เพื่อการจัดระเบียบการค้าพื้นที่ชายแดน จังหวัดตาก

กองกำลังนเรศวร ร่วมบูรณาการ เพื่อการจัดระเบียบการค้าพื้นที่ชายแดน จังหวัดตาก (11 สิงหาคม 2565)

ตามที่ กองกำลังนเรศวร ร่วมกับ จังหวัดตาก ประกองด้วย ส่วนราการ ภาคเอกชน และหน่วยงานด้านความมั่นคง ได้ร่วมบูรณาการขับเคลื่อนการส่งเสริมการค้าพื้นที่ชายแดน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน จังหวัดตาก ในด้านต่างๆ เช่น การนำเข้า – ส่งออกสินค้า, การแก้ไขปัญหาการยึดรถส่งสินค้าในฝั่งเมียนมา, ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจบริเวณแนวชายแดน, การนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (Form D), การส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงไปยังเมียนมา และการเสนอข้อคิดเห็นของภาคเอกชน ทั้งนี้ที่ผ่านมา ในปี 2565 ได้มีการดำเนินการจัดประชุมไปแล้ว 1 ครั้ง (ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 โดยมี พลตรี ประสาน แสงศิริรักษ์ ผู้บัญชาการกองกำลังนเรศวร และ นาย สมชัย กิจเจริญรุ่งเรือง ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เป็นประธานการประชุมหารือ ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานด้านความมั่นคง จังหวัดตาก ครั้งที่ 2/65) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อรับทราบประเด็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการค้าบริเวณแนวชายแดน จากภาคเอกชน ดังนี้

1.) การนำเข้า – ส่งออกสินค้า บริเวณช่องทางอื่นนอกทางอนุมัติ ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร มาตรา 86 วรรค 2 บริเวณพื้นที่แนวชายแดน จังหวัดตาก ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้มอบหมายให้ นายศราวุธ ไทยเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เป็นหัวหน้าคณะกรรมการของ จังหวัดตาก เพื่อดำเนินการตรวจสอบ ช่องทางอื่นนอกทางอนุมัติ ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร มาตรา 86 วรรค 2 บริเวณพื้นที่แนวชายแดน จังหวัดตาก และการจัดทำแนวทางการปฏิบัติ เพื่อกำหนดมาตรการควบคุม ในการดำเนินการ โดยมีสรุปผลการดำเนินการดังนี้

  1. ช่องทางอื่นนอกทางอนุมัติศุลกากร มาตรา 86 วรรค 2 ที่ได้รับการผ่อนผัน ให้ดำเนินการนำเข้า – ส่งออก บริเวณพื้นที่ชายแดน จังหวัดตาก จำนวน 45 ช่องทาง จากการตรวจสอบทุกช่องทางที่ได้รับการผ่อนผัน มีการนำเข้า – ส่งออกสินค้าอย่างต่อเนื่อง และปฏิบัติตามข้อกำหนดของศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเมียนมา ด้านจังหวัดตาก (รายละเอียดตามเอกสารที่แนบ : บัญชีช่องทาง ที่ได้รับการผ่อนผัน)
  2. จังหวัดตาก ได้ดำเนินการจัดการประชุม เพื่อหารือในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ ช่องทางอื่นนอกทางอนุมัติศุลกากร มาตรา 86 วรรค 2 ที่ได้รับการผ่อนผันในการดำเนินการ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมที่ทำการปกครอง จังหวัดตาก ศาลากลาง จังหวัดตาก โดยมี นายศราวุธ ไทยเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตากตาก เป็นประธานการประชุม โดยมีประเด็นที่สำคัญ ในการศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ ช่องทางอื่นนอกทางอนุมัติศุลกากร มาตรา 86 วรรค 2 และอำนาจหน้าที่ของศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเมียนมา ด้านจังหวัดตาก เพื่อพิจารณาดำเนินการกำหนดแนวทางการปฏิบัติ และมาตรการควบคุม สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับการผ่อนผันให้ประกอบกิจการ

2.) การดำเนินการแก้ไขปัญหา การยึดรถส่งสินค้าในฝั่งเมียนมา
มติของที่ประชุมได้ลงความเห็นกรณีดังกล่าว เป็นเรื่องของการผิดข้อตกลงทางธุรกิจ ระหว่างผู้ประกอบการ นำเข้า – ส่งออกสินค้าในฝั่งไทย (Shipping) กับผู้ประกอบการในฝั่งเมียนมา ซึ่งในภาคเอกชนจะได้เน้นย้ำให้กับผู้ประกอบการในฝั่งไทย ดำเนินการตรวจสอบความเชื่อถือ ของ บริษัทนำเข้า – ส่งออกสินค้า (Shipping) ก่อนการทำข้อตกลงดำเนินธุรกิจร่วมกัน

3.) ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจบริเวณแนวชายแดน
ความคิดเห็นของภาคเอกชน ในเรื่องสถานการณ์การสู้รบบริเวณแนวชายแดนไม่ส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการในพื้นที่แนวชายแดน โดยยังคงดำเนินการค้าขายได้ตามปกติ สำหรับประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อการค้าบริเวณแนวชายแดน คือในเรื่องของ ค่าเงินจ๊าดของเมียนมาอ่อนค่าลง และธนาคารกลางเมียนมาออกคำสั่งให้ธนาคารที่ได้รับอนุญาต แจ้งลูกค้าธุรกิจและรายย่อย ระงับการจ่ายหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ต่างประเทศ เพื่อรักษาปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ โดยประเทศเมียนมา มีปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ น้อยกว่าหนี้สินระหว่างประเทศ ส่งผลให้การชำระหนี้ ของผู้ประกอบการ ต้องใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ (U.S. Dollar) เพื่อธนาคารกลางจะดำเนินการแลกเปลี่ยน และเก็บสำรองเงินสกุลดังกล่าว สำหรับการค้าบริเวณแนวชายแดนนั้นได้รับผลกระทบเล็กน้อย เนื่องจากใช้เงินสกุลท้องถิ่น (Local Currency) ในการแลกเปลี่ยน “บาท – จ๊าด” และ “หยวน – จ๊าด”

4.) การนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (Form D)
ตามที่กระทรวงพาณิชย์ ได้อนุญาตให้มีการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) เพื่อให้มีความเพียงพอต่อความต้องการในภาพรวมของประเทศ โดยไม่จัดเก็บภาษีนำเข้า ตั้งแต่ห้วง 1 กุมภาพันธ์ ถึง 31 สิงหาคม ของทุกปี นั้น ปัจจุบันประสบปัญหาการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิด (Form D) ในฝั่งเมียนมา เนื่องจากหน่วยงานของเมียนมาให้ดำเนินการชำระเงินการซื้อขายโดยใช้ เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ (U.S. Dollar) ประกอบกับประเทศจีนได้อนุญาตให้มีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอาหารทะเล จากประเทศเมียนมา ส่งผลให้การนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) อาจลดลงจากที่ได้คาดการณ์ไว้ (ปริมาณคาดการณ์ 30,000,000,000 ตัน และปริมาณนำเข้าในปัจจุบัน 2,766,455,780 ตัน)

5.) การส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงไปยังเมียนมา ตามที่ศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเมียนมาด้าน จังหวัดตาก ได้พิจารณาผ่อนผันผู้ประกอบการนำเข้า – ส่งออกสินค้า ตาม ช่องทางอื่นนอกทางอนุมัติศุลกากร มาตรา 86 วรรค 2 ของท่า 10, ท่า 13 และท่า 21 ซึ่งเดิมสามารถดำเนินการส่งน้ำมันเชื้อเพลิงไปยังฝั่งเมียนมานั้น โดยผู้ประกอบการ ท่า 34 จะขอเป็นผู้ดำเนินการแทนผู้ประกอบการท่า 21 เนื่องจากปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการนั้น การขออนุญาตผ่อนผันดังกล่าว ยังไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากวิธีการขนส่งโดยการบรรจุบนรถน้ำมันแล้วส่งข้ามบนโป๊ะ ขัดกับข้อกฎหมายของกระทรวงพลังงาน และกรมการขนส่งทางบก ซึ่งทาง จังหวัดตาก ได้รับทราบ และจะดำเนินการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในครั้งต่อไป

6.) ประเด็นการเสนอข้อคิดเห็นของภาคเอกชน

  1. การเปิดใช้งานสะพานมิตรภาพไทย – เมียนมาแห่งที่ 1 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวในพื้นที่ อำเภอแม่สอด และอำเภอชายแดน จังหวัดตาก
  2. การอนุญาตให้ รถบรรทุกสินค้าของเมียนมา ทดลองเดินทางเข้ามาขนถ่ายสินค้าในเขตของ อำเภอแม่สอด ในพื้นที่และห้วงเวลาที่กำหนด เนื่องจากในปัจจุบันการขนถ่ายสินค้าดำเนินการ บริเวณจุดขนถ่ายสินค้า ของสะพานมิตรภาพไทย – เมียนมาแห่งที่ 2 เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายในระดับท้องถิ่น และส่งเสริมการจัดตั้งสถานีขนถ่ายสินค้าในฝั่งไทยในอนาคต
  3. การขยายเวลา การดำเนินการเดินทางเข้า – ออกประเทศ ของรถยนต์บรรทุกสินค้า ณ สะพานมิตรภาพไทย – เมียนมาแห่งที่ 2 จากเดิม 06.30 น. – 18.30 น. ขยายเวลาดำเนินการออกเป็น 06.30 น. – 22.00 น. เพื่อลดปัญหารถบรรทุกสินค้าของไทยตกค้างในฝั่งเมียนมา
  4. การจัดตั้งสถานกงสุลประเทศไทย ในพื้นที่ เมียวดี ประเทศเมียนมา เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับแรงงานเมียนมาที่ต้องการทำเอกสารผ่านแดน ในการเดินทางเข้ามาทำงานในฝั่งไทย รวมถึงการจัดระเบียบการเดินทางเข้าออกประเทศของคนต่างด้าวสัญชาติต่าง ๆ
  5. การขึ้นทะเบียนของเกษตรกรไทยที่ดำเนินการเพาะปลูกในฝั่งเมียนมา เพื่อจัดทำฐานข้อมูลและคาดการณ์ผลผลิตที่จะนำเข้ามายังฝั่งไทย รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนของสถาบันการเงิน ในการกู้ยืมและชำระหนี้สิน

ทั้งนี้ ขอเรียนให้พี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่า กองทัพบก โดย กองทัพภาคที่ 3 มีความพร้อมที่จะสนับสนุนกำลังพล และยุทโธปกรณ์ทางทหาร รวมทั้งบูรณาการกำลังป้องกันชายแดนเพื่อปกป้องอธิปไตย และพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติ จะได้ดำเนินการอย่างเข้มข้น เพื่อให้ พี่น้องคนไทยทุกคนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งสร้างความมั่นคงให้ประเทศชาติสืบไป

คณะบรรณาธิการข่าว กองทัพภาคที่ 3
11 สิงหาคม 2565

ร่วมแสดงความคิดเห็น