กรมอนามัย มอบป้าย Happy Toilet 4 วัด จ.น่าน

กรมอนามัย มอบป้าย Happy Toilet ให้ 4 วัด ในจังหวัดน่าน การันตีผ่านมาตรฐาน HAS สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่วัดในจังหวัดน่าน มอบป้าย Happy Toilet ให้กับ 4 วัด ที่ผ่านการประเมินตามมาตรฐาน HAS สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย ลดความเสี่ยง 7 จุดสัมผัสร่วม แหล่งรวมเชื้อโรค
​นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเสริมพลังการดำเนินงานตามมาตรฐานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ในระยะ post pandemic ในสถานประกอบการ กิจการ กิจกรรมต่าง ๆ ณ จังหวัดน่าน ร่วมกับแพทย์หญิงนงนุช ภัทรอนันตนพ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ นายแพทย์วรินทร์เทพ เชื้อสำราญ นายแพทย์สาธารสุขจังหวัดน่าน ว่า กรมอนามัยได้ลงพื้นที่วัด ศาสนสถาน แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดน่าน เพื่อเป็นการขับเคลื่อนนโยบายเปิดประเทศด้ว

มาตรการปลอดภัย สำหรับองค์กร (COVID Free Setting) ด้านการท่องเที่ยวและกิจการที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมเข้าสู่ระยะ Post Pandemic หลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้มีการผ่อนคลายมาตรการกันมากขึ้น พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนาส้วมวัดให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน HAS คือ

1) สะอาด (Healthy) : ห้องส้วมดำเนินการตามหลักสุขาภิบาล สุขภัณฑ์ต้องสะอาด ไม่มีกลิ่นเหม็น

2) เพียงพอ (Accessibility) : มีส้วมเพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้ รวมถึงผู้พิการ ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ และพร้อมใช้งานตลอดเวลาที่เปิดให้บริการ และ

3) ปลอดภัย (Safety) : ผู้ใช้บริการจะต้องปลอดภัยขณะใช้ส้วม เช่น สถานที่ตั้งไม่เปลี่ยว ห้องส้วมแยกเพศชาย-หญิง มีแสงสว่างเพียงพอ

ซึ่งวัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง วัดพระธาตุเขาน้อย วัดมิ่งเมือง และวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ที่ได้ลงพื้นที่ในครั้งนี้ มีการดำเนินงาน ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน HAS ทั้ง 3 ด้าน กรมอนามัยจึงได้มอบป้าย Happy Toilet ให้กับทั้ง 4 วัด เพื่อเป็นการ สร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว

​นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาส้วมวัดทั่วประเทศตามมาตรฐาน HAS คือ สะอาด เพียงพอ และปลอดภัย เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพราะจากข้อมูลการสำรวจอนามัยโพลเรื่อง “ความคิดเห็นต่อการใช้บริการส้วมวัด” เดือนธันวาคม 2564 พบว่า สิ่งที่ประชาชนต้องการให้ปรับปรุงในส้วมวัดมากที่สุด คือ ความสะอาด ร้อยละ 77.33 รองลงมาคือ กลิ่น ร้อยละ 55.38 อยากให้มีสบู่ สำหรับล้างมือ ร้อยละ 49.50 มีกระดาษชำระ ร้อยละ 47.06 มีน้ำสะอาดใช้ ร้อยละ 46.77 และมีการระบายอากาศ ร้อยละ 43.19 รวมทั้ง สิ่งที่ประชาชนไม่พอใจจากการใช้บริการส้วมวัดมากที่สุดคือ พื้นส้วมสกปรก ร้อยละ 88.18 รองลงมาคือ โถส้วมสกปรก ร้อยละ 87.27 มีกลิ่นเหม็น ร้อยละ 83.64 ไม่มีกระดาษชำระ ร้อยละ 75.45 ไม่มีสบู่ล้างมือ ร้อยละ 71.82 การระบายอากาศไม่ดี ร้อยละ 55.45 พื้นลื่นและเปียก ร้อยละ 50 ไม่มีน้ำใช้หรือน้ำราด ร้อยละ 37.27

“ทั้งนี้ ขอความร่วมมือวัดทุกแห่งใส่ใจเรื่องความสะอาดของส้วม บริเวณผิวสัมผัสร่วม 7 จุดเสี่ยง ได้แก่ สายฉีดชำระ ที่กดโถส้วม โถปัสสาวะ ลูกบิดหรือกลอนประตู ที่รองนั่งโถส้วม พื้นห้องส้วม และที่เปิดก๊อก สำหรับประชาชนที่ไปทำบุญที่วัดต้องช่วยกันรักษาความสะอาด และมีพฤติกรรมในการใช้ส้วมอย่างถูกต้อง โดยปิดฝาโถส้วมก่อนกดชักโครกทุกครั้ง เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อโรค เว้นระยะห่างขณะรอใช้ส้วมสาธารณะ 1 – 2 เมตร ไม่ขึ้นไปเหยียบบนโถส้วมแบบนั่งราบ เช็ดฆ่าเชื้อก่อนนั่งลงบนโถส้วม ไม่ทิ้งวัสดุใด ๆ ลงในโถส้วม และล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดอย่างน้อย 20 วินาที ทุกครั้งหลังใช้ส้วม เป็นการสร้างสุขอนามัยที่ดีให้กับตนเองและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคไปยังส่วนรวมด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

ร่วมแสดงความคิดเห็น