ฟ้อนผีมด-ผีเม็ง การแสดงความกตัญญูบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

ประเพณีการฟ้อนผีมด-ผีเม็ง คือการฟ้อนรำเพื่อเป็นการสังเวย หรือการแก้บนของบรรพบุรุษ ซึ่งชาวบ้านทางภาคเหนือหรือดินแดนล้านนาที่นับถือกันมานับร้อยปี แต่ในปัจจุบันได้เลือนหายไปมากแล้ว ยังมีปฏิบัติกันอยู่บ้างในชนบทและเขตในอำเภอเมืองตำนานผีมดและผีเม็ง เป็นผีประจำตระกูลอีกอย่างหนึ่งที่จัดอยู่ในเครือผีบรรพบุรุษหรือผีปู่ย่าซึ่งมักจะพบมีการนับถืออยู่ในเขตชุมชนเมืองเป็นส่วนมากเนื่องจากเป็นผีของคนในเมืองที่สืบเชื้อสายมาจากตระกูลเจ้านายและขุนนาง ดังนั้นพิธีกรรมจะค่อนข้างซับซ้อนตระกูลของผีมดผีเม็งมักสืบเชื้อสายไปได้ไกลและผีปู่ย่าของตระกูลผีมดผีเม็งจะมีชื่อเรียกขานเป็นชื่อเจ้านายอยู่ในตำนาน ซึ่งจะแตกต่างจากผีปู่ย่าโดยทั่วๆ ไปที่จะไม่มีชื่อเรียกขานเฉพาะ ตระกูลที่นับถือผีมดผีเม็งในทุกวันนี้มีเหลืออยู่ไม่มากนัก ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง แต่สำหรับเมืองอื่นๆ แทบจะไม่ปรากฏโดยข้อเท็จจริงแล้วผีมดและผีเม็งนั้นเป็นผีประจำตระกูลที่มีความแตกต่างกันทั้งในความเป็นมาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชนและรายละเอียดในพิธีกรรม แต่มักจะถูกเรียกรวมกันว่า ผีมดผีเม็งเนื่องจากพิธีกรรมในการเลี้ยงผีมดผีเม็งนั้นจะจัดในช่วงเวลาใกล้เคียงกันและมีฟ้อนรำ หรือที่เรียกว่าฟ้อนผี เพื่อเป็นการสังเวยผีบรรพบุรุษเหมือนกัน บางครั้งก็จะมีการจัดฟ้อนผีร่วมกัน เรียกว่าผีมดซอนเม็ง

ดังนั้นพิธีกรรมในการเลี้ยงผีดังกล่าวนี้จึงจัดเป็นประเพณีที่มักเรียกรวมกันไปว่าประเพณีฟ้อนผีมด-ผีเม็ง เรื่องราวของผีมดนั้นไม่อาจระบุได้ว่าเป็นประเพณีที่สืบเนื่องมาจากชนกลุ่มใดเพราะในพวกไทยยวนทั่วไปจะมีการนับถือผีปู่ย่าแต่มีผู้สังเกตว่ากลุ่มคนที่นับถือผีมดอาจมีบรรพบุรุษสืบเชื้อสายมาจากพวกลัวะก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามการนับถือผีมดน่าจะตกทอดเป็นวัฒนธรรมของชาวล้านนาหรือไทยยวนมาเป็นเวลานานแล้วความหมายของผีมดนั้นมีผู้ให้คำอธิบายไว้หลายประการ ประการแรกกล่าวว่ามีคำเล่าเป็นนิทานที่อธิบายถึงการเกิดลัทธิผีมดขึ้นเนื่องมาจากความเชื่อในการส่งวิญญาณของผู้สูงอายุไปเสวยสุขเมืองพรหม โดยให้ลูกหลานฆ่ากินเลือดเนื้อเพื่อจะได้เกิดความเป็นมงคลชีวิตซึ่งในการที่จะส่งวิญญาณให้ผู้ใดนั้น จะทำการเสี่ยงทายโดยใช้เนื้อหมูของแต่ละคนวางให้มดกินเพราะเชื่อว่ามดเป็นสัตว์ประเสริฐมีหูทิพย์ ตาทิพย์ จมูกทิพย์ หากมดมาตอมเนื้อหมูของผู้ใดลูกหลานก็จะพร้อมใจกันฆ่าส่งวิญญาณไปสู่พรหม ต่อมาลัทธิบูชาผีมดก็ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นการบวงสรวงวิญญาณบรรพบุรุษดังเช่นทุกวันนี้ อีกประการหนึ่งอธิบายว่าผีมด หมายถึงผีของมดที่ชอบอยู่ตามบ้านเรือนคอยเฝ้ารักษาให้บ้านเรือนอยู่เป็นปกติสุขมีความอบอุ่นเหมือนกับบ้านเมืองที่มีผีเสื้อบ้านยักษ์ผีเสื้อบ้านเมืองคอยปกปักรักษาอยู่ ดังนั้นถ้าตระกูลไหนจะมีพิธีการฟ้อนผีมด ชาวบ้านที่อยากได้เงินก็จะนำมดมาขายเป็นรังๆ บ้านที่อยู่ใกล้เคียงก็จะซื้อนำมาไว้ในบ้านของตน ประการสุดท้ายเล่าว่าผีมดนั้นเป็นความเชื่อดั้งเดิมของไทย เพราะปรากฏว่ามีอยู่ในกลุ่มชาวไทดำและไทลื้อหลายแห่ง

ซึ่งคำว่ามด นั้นในภาษาไทยเดิมหมายความได้ 2 นัย คือต้นตระกูล ดังสำนวนว่า แม่มดแม่หม่อน ซึ่งแปลว่าทวด และในอีกความหมายหนึ่งแปลว่าผู้รู้ เช่นในสำนวนที่ว่า มดหมอ เป็นต้น การฟ้อนผีนั้นเป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณเชื่อกันว่าการฟ้อนผีเป็นการเซ่นดวงวิญญาณบรรพบุรุษที่ได้ช่วยปกป้องคุ้มครองรักษาให้ลูกหลานได้อยู่อย่างผาสุก และเป็นการเชิญวิญญาณของบรรพชนให้มาร่วมกิจกรรมเพื่อให้เกิดความสามัคคีขึ้นในกลุ่มคนที่นับถือผีเดียวกัน สันนิษฐานว่าการฟ้อนผีนั้นจะได้รับมาจากประเพณีของชาติมอญหรือเม็ง ดังเช่นประเพณีการฟ้อนผีเม็งซึ่งต่อมาชาวล้านนาได้รับมาใช้ในพิธีกรรมที่เกี่ยวกับผีมดด้วย การเลี้ยงผีมดก็มีวัตถุประสงค์และแบบแผนคล้ายคลึงกับการเลี้ยงผีปู่ย่า แต่มีพิธีกรรมที่แตกต่างกันออกไปที่เด่นชัดได้แก่ มีการฟ้อนรำและการละเล่นที่สนุกสนาน ตัวอย่างเช่น การฟ้อนดาบ การฟ้อนเจิง หรือการตบมะผาบซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการแสดงศิลปะพื้นบ้านล้านนาที่ทรงไปด้วยคุณค่าและแสดงถึงในความสามารถในเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวล้านนา

ช่วงเวลาการฟ้อนผีมด-ผีเม็ง จะทำกันระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน บางตระกูลก็กำหนดไว้ปีละครั้ง บางตระกูลก็ 2 ปีครั้ง บางตระกูลก็ไม่มีกำหนดแน่นนอนแล้วแต่ความสะดวก บางครั้งก็เป็นการฟ้อนแก้บนในกรณีที่ลูกหลานเจ็บป่วย แล้วบนบานเอาไว้เมื่อหายก็มีการฟ้อนรำแก้บน

ร่วมแสดงความคิดเห็น