ที่มาของภาพนูน บนองค์พระธาตุหริภุญชัยลำพูน

ปี พ.ศ.2525 ดร.ฮันส์ เพนท์ (Hans Penth) แห่งสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้พบภาพดุนนูนบนแผ่นทองจังโก รอบองค์ระฆังพระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน ปรากฏเป็นภาพพระพุทธรูปปางถวายเนตรและพระพุทธรูปปางลีลา จำนวนทั้งสิ้น 8 ภาพ บางภาพมีจารึกระบุชื่อผู้สร้างคือ พระสุเมธังกร และมหาเถรป…(ลบเลือน) โดยจารึกเหล่านี้ปรากฏอยู่ใต้ภาพดุนนูนที่มุมด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือบริเวณองค์ระฆัง นอกจากนั้นยังมีข้อความจารึกไว้ว่าสร้างโดย “พระมหาเทวี ผู้เป็นแม่แก่เจ้าพระญาทั้งสองพี่น้อง ผู้เป็นมหาอุบาสิกาแก่ฝูงสงฆ์ทั้งหลาย…”
ตัวอักษรที่ใช้จารึก ดร.ฮันส์ เพนท์ กล่าวว่าเป็นรูปแบบของอักษรล้านนาที่ได้รับอิทธิพลจากจารึกวัดพระยืน ซึ่งกระทำขึ้นในช่วงพระสุมนเถระเข้ามาพำนักอยู่ที่วัดพระยืน จึงน่าจะมีอายุไม่เกิน พ.ศ.1913 หากการกำหนดอายุรูปแบบของตัวอักษรถูกต้องและแผ่นจารึกนั้นประดิษฐานอยู่ที่องค์ระฆังนั้นแต่เดิม ก็อาจเป็นไปได้ว่า “พระมหาเทวี” ผู้เป็นพระราชมารดาของพระยาทั้งสองพี่น้องนั้นคือ พระนางจิตราเทวี พระมเหสีในพระยาผายู ผู้เป็นพระราชมารดาของพระยากือนา เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่และท้าวมหาพรหม เจ้าเมืองเชียงราย นอกจากนั้นยังแสดงให้เห็นว่าในแผ่นดินของพระยากือนานั้นได้มีการปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุหริภุญชัยมาแล้วครั้งหนึ่ง และการปฏิสังขรณ์ในครั้งนั้น น่าจะเกิดขึ้นก่อนการเข้ามาตีเมืองเชียงใหม่ของท้าวมหาพรหม พระอนุชาภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระยากือนา
ในปี พ.ศ.1931 ซึ่งในครั้งนั้นส่วนยอดขององค์พระธาตุหริภุญชัยได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นทรงระฆังแบบลังกาแล้ว
ข้อขัดแย้งบางประการที่เกิดขึ้น คือในปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานเอกสารใดที่ระบุถึงการปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุหริภุญชัยในรัชสมัยของพระยากือนา อีกทั้งพระพุทธรูปปางลีลาที่พบนั้น ก็มีลักษณะพุทธปฏิมาคล้ายคลึงกับพระพุทธรูปปูนปั้นประดับฐานเจดีย์วัดป่าสัก เมืองเชียงแสนที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระยาแสนภู ซึ่งเชื่อว่าสร้างขึ้นโดยได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะพุกามของพม่า และนอกจากพระนางจิตราเทวีแล้ว พระชนนีของพระยาแสนภูก็นับว่าเป็น “แม่แก่เจ้าพระยาทั้งสองพี่น้อง” แห่งนครเชียงใหม่คือพระยาแสนภูและพ่อท้าวน้ำท่วมเช่นเดียวกันปัจจุบันหลังจากที่ได้มีการบูรณะองค์พระธาตุหริภุญชัย อีก 2 ครั้งในสมัยพระเจ้าเมืองแก้ว ได้บูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระมหาธาตุนี้อีกได้เรี่ยไรเงินจากชาวบ้านได้ 225,000 บาทเอาไปซื้อทองแดงและทองคำแผ่นหุ้มบุองค์พระเจดีย์ จนกระทั่งถึง พ.ศ.2348 พระเจ้ากาวิละจึงโปรดให้เจ้าบุรีรัตน์ (เจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้น) และเจ้าศรีบุญมา ผู้น้องนำบริวาร 1,000 คนและครอบครัวไปตั้งที่เมืองลำพูน ซึ่งเป็นเมืองร้างเนื่องจากถูกพม่าเข้าครอบครองเป็นเวลากว่า 200 ปี จากนั้นจึงได้มีการบูรณะองค์พระธาตุนี้เรื่อยมา.

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น