กิจกรรมในประเพณีเข้าอินทขิล สักการบูชาเสาหลักเมือง เพื่อความสงบสุขร่มเย็น

พิธีบูชาเสาอินทขิล พิธีนี้กระทำโดยการจุดธูปเทียนบูชาอินทขิลกับรูปกุมภัณฑ์และฤาษี ทั้งนี้เพื่อให้บ้านเมืองอยู่สงบสุขร่มเย็น ช่วงเวลาสำหรับทำพิธีบูชาเสาอินทขิล คือ ช่วงปลายเดือน 8 ต่อต้นเดือน 9 วิหารอินทขิลจะเปิดให้ประชาชนเข้าไปสักการบูชาตั้งแต่เช้า ซึ่งจะต้องทำพิธีพลีกรรมเครื่องบูชาดังนี้

การบูชาอินทขิล
เครื่องบูชามี ข้าวตอกดอกไม้ และเทียน 8 สวย พลู 8 สวย ดอกไม้เงิน 1 ผ้าขาว 1 รำ ช่อขาว 8 ผืน มะพร้าว 2 แคนง กล้วย 2 หวี อ้อย 2 เล่ม ข้าว 4 ควัก (กระทง) แกงส้ม แกงหวาน อย่างละ 4 โภชนะอาหาร 7 อย่าง ใส่ขันบูชา

การบูชาต้นยางหลวง ในวัดเจดีย์หลวง
เครื่องบูชามี เทียน 2 คู่ พลู 2 สวย ดอกไม้ 2 สวย หมาก 2 ขด 2 ก้อม ช่อขาว 4 ผืน หม้อใหม่ 1 ใบ กล้วย 1 หวี ข้าว 4 ควัก แกงส้มแกงหวานอย่างละ 4 โภชนะอาหาร 7 อย่าง การบูชากุมภัณฑ์ 2 ตน ในวัดเจดีย์หลวง ให้แต่งหอไม้อ้อต้นละหอ เครื่องบูชามีเทียนเงิน 4 เล่ม เทียนคำ 4 เล่ม ช่อขาว 8 ผืน ช่อแดง 8 ผืน ฉัตรขาว 2 ฉัตรแดง 2 มะพร้าว 4 แคนง กล้วย 4 หวี อ้อย 4 เล่ม ไหเหล้า 4 ไห ปลาปิ้ง 4 ตัว เนื้อสุก 4 ชิ้น เนื้อดิบ 4 แกงส้มแกงหวานอย่าง 4 เบี้ย 1300 หมก 1000 ผ้าขาว 1 รำ อาสนะ 12 ที่

การบูชาช้าง 8 ตัว ที่พระเจดีย์หลวง
ช้างแต่ละตัวมีเครื่องบูชาดังนี้ เทียนเงิน 1 คู่ เทียนคำ 1 คู่ ฉัตรแดง ช่อแดง 1 มะพร้าว 1 แคนง กล้วย 1 หวี อ้อย 1 เล่ม หญ้า 1 หาบ หมาก 1 ขด 1 ก้อม พลู 1 เล่ม ข้างตอกดอกไม้แดง 7 อย่าง ใส่ขันบูชา

พิธีใส่ขันดอก
เป็นพิธีที่กระทำต่อ จากการจุดธูปเทียนบูชาอินทขิล ทางวัดจะเตรียมพานเรียงไว้เป็นจำนวนมากเพื่อให้ประชาชนนำดอกไม้ที่ตนเตรียมมาไปวาง ในพาน (ขัน) จนครบ เหมือนกับการใส่บาตรดอกไม้ การถวายดอกไม้เป็นการแสดงความเคารพบูชาแก่เสาอินทขิล กุมภัณฑ์ ฤาษี และพระรัตนตรัย

การใส่บาตรพระประจำวันเกิด
นอกจากเปิดวิหารอินทขิล จัดพาน รับดอกไม้แล้ว ทางวัดยังได้จัดเตรียมบาตร 7 ลูก วางไว้หน้าพระพุทธรูปประจำวันเกิดทั้ง 7 วัน คือ
วันอาทิตย์ พระพุทธรูปปางถวายเนตร วันจันทร์ พระพุทธรูปปางห้ามญาติ วันอังคาร พระพุทธรูปปางไสยาสน์ วันพุธ พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร วันพฤหัสบดี พระพุทธรูปปางขัดสมาธิ วันศุกร์ พระพุทธรูปปางรำพึง วันเสาร์ พระพุทธรูปปางนาคปรก
พิธีสรงน้ำพระเจ้าฝนแสนห่า
พระเจ้าฝนแสนห่า คือ พระพุทธรูปซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดช่างแต้ม ซึ่งอยู่ใกล้ๆ วัดเจดีย์หลวง ชาวเชียงใหม่เชื่อว่า พระพุทธรูปองค์นี้มีพุทธานุภาพบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เทศบาลนครเชียงใหม่ จึงอาราธนามาประดิษฐานบนรถแห่ไปตามถนนสำคัญ ใน เมืองให้ประชาชนสรงน้ำในวันแรม 12 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งเป็นวันเริ่มงานประเพณี หลังจากนั้นก็นำมาประดิษฐานไว้วงเวียนหน้าพระวิหารวัดเจดีย์หลวงทุกวันตลอดงานพิธีเข้าอินทขิล เพื่อให้ประชาชนที่ไปร่วมงานได้สรงน้ำระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์นี้อย่างทั่วถึง

พิธีสืบชะตาเมือง
พิธีสืบชะตาเมืองเป็นพิธีที่กระทำหลังจากสิ้นสุดการบูชาเสาอิทขิลแล้วระยะหนึ่ง แต่ก็ยังคงอยู่ในช่วงครึ่งแรกของเดือน 9 เหนือ ประเพณีมีขึ้นเนื่องจากเมืองเชียงใหม่สร้างชื้นตามหลักโหราศาสตร์ และการเลือกชัยภูมิ ตลอดจนมหาทักษาเพื่อให้ได้ชัยภูมิ เวลา และฤกษ์ที่เป็นมงคล อันจะบันดาลให้เมืองเจริญรุ่งเรืองสืบไปอย่างไรก็ตาม เมื่อวันเวลาผ่านไปย่อมมีบางช่วงที่ดวงเมืองเบี่ยงเบน ตามลัคนา การทำบุญสืบชะตาเมือง จะช่วยให้เคราะห์ร้ายลดลงและสถานการณ์ต่างๆ กลับดีขึ้นไป การสืบชะตาของชาวล้านนาเทียบได้กับการทำบุญวันเกิด แต่มีพิธีการค่อนข้างละเอียดถี่ถ้วน โดยมีความเชื่อว่า หากกระทำแล้วจะช่วย สืบ อายุให้ยืนยาวต่อไป พิธีสืบชะตาเมืองเชียงใหม่ จะกระทำในตัวเมือง 10 แห่ง คือที่กลางเวียง อันเคยเป็นสะดือเมือง ประตูทั้ง 5 ประตู และแจ่ง เวียง (มุมเมือง) ทั้ง 4 แจ่ง เมื่อมีพระบรมราชานุสรณ์สามกษัตริย์ มาประดิษฐานที่หน้าศาลากลางเก่า ตั้งแต่ พ.ศ.2526 การทำพิธีสืบชะตา ณ กลางเวียง ก็กระทำที่บริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ โดยมีพระสงฆ์ 9 รูปที่เหลืออีก 9 แห่งมีพระสงฆ์แห่งละ 11 รูป รวมทั้งสิ้นเป็น 108 รูป เท่ากับ จำนวน 108 มงคลในลัทธิพราหมณ์ และเท่ากับพระพุทธคุณพระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ รวม 108 ประการ เช่นกัน พิธีสืบชะตาเมืองซึ่งเริ่มทำตั้งแต่ พ.ศ.2511 นั้น จะกระทำขึ้นพร้อมๆกันทุกจุดในเวลา 07.00 นาฬิกา จะเริ่มพิธีสืบชะตาเมือง โดยเริ่มด้วยการจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย สมาทานเบญจศีล พระภิกษุสงฆ์ เจริญพระพุทธมนต์แล้วแสดงธรรมเทศนา เมื่อจบแล้วจึงถวายภัตตาหารเพลแก่พระสงฆ์ หลังจาก เพลมีพิธีถวายไทยทานพระสงฆ์อนุโมทนา ผู้ประกอบพิธีกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแก่เทพยดาอารักษ์ ตลอดจนพระ วิญญาณ พญามังราย และเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ทุกพระองค์

ร่วมแสดงความคิดเห็น