ประมงพื้นบ้าน ริมกว๊านพะเยา

บึงน้ำขนาดใหญ่เบื้องหน้าหรือที่เรารับรู้ในชื่อว่า กว๊านพะเยา หรือที่คนพะเยาในอดีตเรียกขานกันว่า หนองเอื้ยง นับเป็นแหล่งน้ำที่มีประวัติศาสตร์และความสำคัญยิ่งของผืนแผ่นดินล้านนา ด้วยว่าเป็นบึงน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่อันดับสองของประเทศรองจากบึงบรเพ็ดของจังหวัดนครสวรรค์ หลังปีพ.ศ.2478 สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยาได้สร้างทำนบกั้นแม่น้ำอิงขึ้น สามารถเก็บกักน้ำได้เป็นพื้นที่กว้างขวางซึ่งมีอาณาเขตกว้างใหญ่ถึง 12,831 ไร่ และนับเป็นเวลานานนับหลายสิบปีที่พี่น้องชาวพะเยาได้อาศัยน้ำจากแหล่งนี้หล่อเลี้ยงดำรงชีวิตมาจนปัจจุบันกว๊านพะเยาดูเหมือนไม่ต่างอะไรกับท้องทะเลกว้าง ด้วยริ้วคลื่นในฤดูฝนที่สายลมพัดพลิ้วเป็นระลอกใหญ่ ขณะที่ในฤดูหนาวกลับเรียบสงบสลัวรางอยู่ในม่านหมอก ดูประหนึ่งผืนน้ำกับขอบผ้าเบื้องบนได้เชื่อมต่อเป็นหนึ่งเดียวกัน ผืนน้ำกว้างไกลตัดกับขอบฟ้าใสสีน้ำเงิน ไกลออกไปมีทิวเทือกดอยสีเขียวหม่นทอดตัวยาวเป็นฉากหลัง เทือกดอยที่สูงใหญ่ที่สุด นั่นคือเทือกดอยหลวง นอกจากนั้นยังมีดอยขุนแม่สุก ดอยขุนแม่ต๋ำ ดอยชี ดอยกิ่วแก้วและดอยร่อง อันเป็นต้นธารขุนน้ำใหญ่ที่ก่อกำเนิดสายธารหลายสายไหลลงมาสู่แอ่งกว๊าน อันเป็นที่มาของชื่อ แอ่งแม่อิง

ชาวพะเยารับรู้กันเป็นอย่างดีว่า กว๊านพะเยาเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ แหล่งอาศัยที่ชุกชุมของปลาน้ำจืดนานาชนิด ด้วยสภาพของกว๊านที่เป็นแหล่งอาศัยตามธรรมชาติที่ดียิ่งของหมู่ปลาน้ำจืด เพราะในบริเวณกว๊านพะเยามีสายน้ำหลากหลายสายไหลมาเชื่อมต่อกัน นอกจากนั้นในส่วนที่เป็นผืนน้ำกว้างยังมีพงหญ้า กอบัว สาหร่ายและพืชน้ำขึ้นอยู่ในบริเวณอันเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของปลา อีกทั้งยังได้รับการส่งเสริมจากสถานีประมงในการนำพันธุ์ชนิดต่างๆมาปล่อยลงสู่กว๊านอยู่เสมอ ปลานานาพันธุ์จึงสามารถมีชีวิตเริงรื่นและดำรงพันธุ์อยู่ในผืนน้ำกว้างแห่งนี้ได้กว๊านพะเยายังเป็นแหล่งทำมาหากินร่วมกันของชาวบ้านใกล้เคียง นอกจากการทำประมงพื้นบ้านอย่างง่ายด้วยเครื่องมือและวิธีการที่ถูกกฏหมายแล้ว ชาวบ้านยังลอยเรือเก็บผักตบชวา สาหร่าย นำไปผสมอาหารเพื่อเลี้ยงหมูกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันเพิ่มพูนรายได้อีกทางหนึ่งด้วย เรื่องราวของการทำประมงพื้นบ้านในกว๊านพะเยาดูเหมือนจะเป็นสีสันและกลิ่นอายของวิถีชาวบ้านริมกว๊านที่น้อยคนนักจะได้สัมผัส สำหรับฉายา “มีปลาหมอ” ของบุญมี ใจจา ชาวประมงผู้เชี่ยวชาญการหาปลาหมอที่ถูกกลุ่มเพื่อนๆชาวประมงเรียกขานคงไม่ได้มาเพราะโชคช่วยแน่ๆ บุญมีเล่าถึงการทำประมงพื้นบ้านของตนที่เกือบทั้งตลอดชีวิตได้อาศัยหาปลาจากกว๊านพะเยาว่า ตนเองเริ่มออกหาปลากับพ่อแม่ในกว๊านพะเยาเมื่ออายุประมาณ 7 ขวบ มีชีวิตและรายได้จากการหาปลาในกว๊านนี้และเป็นเวลากว่า 50 ปีที่เขาต้องตากแดดร้อนในฤดูแล้ง ผจญมรสุมในช่วงฤดูฝนกระทั่งทนความหนาวเย็นของสายลมในฤดูหนาว

เครื่องมือที่เขาใช้ออกหาปลามีเพียงแหและข่ายเท่านั้น ทุกวันเมื่อถึงเวลาบ่ายสองโมงเขาจะพายเรือออกจากฝั่งมุ่งหน้าสู่กลางแอ่งน้ำกว้างของกว๊านพะเยา ซึ่งถือเป็นที่เดียวที่กรมประมงอนุญาตให้ชาวบ้านหาปลาได้ แต่ในช่วงระยะหลังมานี้ จำนวนปลาในกว๊านพะเยาลดจำนวนลงเนื่องจากมีตะกอนในน้ำทำให้ปลาตายเป็นจำนวนมาก ชาวประมงต้องลอยเรือหาปลาในน้ำนานยิ่งขึ้น”เดี๋ยวนี้ปลาตายเยอะ อาจเป็นเพราะน้ำเสียจากผักตบชวาทำให้เกิดตะกอน อย่างเมื่อวานกว่าจะได้เขาบ้านก็มืดค่ำเพราะได้ปลาน้อยไม่พอเอาไปขาย บ้างครั้งก็ต้องแอบเขาไปหาปลาในเขตหนึ่ง ซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์ปลาของกรมประมง”หลังการถูกจับจากเจ้าหน้าที่ประมง ทำให้เกิดเครือข่ายกลุ่มชมรมชาวประมงพื้นบ้าน 4 ชุมชนขึ้น ซึ่งหลังจากที่ก่อตั้งมาได้ประมาณปีเศษ ปัจจุบันมีสมาชิกในกลุ่มทั้งสิ้น 240 ลำเรือ จากทั้งหมด 4 หมู่บ้านคือ บ้านแม่ต๋ำ บ้านแม่ร่องไฮ บ้านบุญยืนและบ้านท่าปัจจุบันอาชีพประมงของชาวบ้าริมกว๊านพะเยาดูเหมือนจะถูกละเลยไม่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆของทางจังหวัด ซึ่งแท้จริงแล้วพวกเขาเหล่านี้มีการทำประมงมานานหลายสิบปีแล้ว บางคนประกอบอาชีพประมงอย่างเดียวไม่มีที่นาเหมือนคนอื่น มีรายได้จากการหาปลาขาย จึงเห็นว่าน่าจะมีหน่วยงานใดเข้ามาช่วยเหลือพวกเขา โดยการให้ชาวประมงเข้ามามีส่วนในการจัดการทรัพยากรในกว๊านพะเยาและการเรียนรู้ร่วมกัน ที่สำคัญยังเป็นการฟื้นฟูรักษาการหาปลาแบบโบราณด้วยเครื่องมือที่ทำจากภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยเฉพาะการฟื้นฟูประเพณีการท่องเที่ยวในกว๊านของจังหวัดพะเยา นอกจากนั้นยังมีโครงการอีกหลายอย่างที่จะให้เครือข่ายกลุ่มประมงพื้นบ้านได้เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการนำรายได้สู่จังหวัดพะเยาแล้ว ชาวประมงพื้นบ้านเหล่านี้ยังสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้
โดยไม่ต้องหวังพึ่งเพียงเฉพาะการจับปลาอย่างเดียว

ย่ำค่ำตะวันลาลับขอบฟ้าเหนือขุนเขาแห่งกว๊านพะเยา ทาบทอขอบฟ้าเป็นแสงสีส้มทอง นกเป็ดน้ำโบยบินกลับเข้าสู่รังนอน แต่วิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านในกว๊านพะเยายังคงดำเนินต่อไป เสียงไฟจากริมฝั่งค่อยๆเข้ามาบดบังความมืดจากอาทิตย์อัสดง เราคงยังจะจดจำเมืองเล็กๆอันสุขสงบริมกว๊านพะเยาแห่งนี้ไปอีกนานและปรารถนาภาวนาให้ความสุขสงบงดงามจงคงอยู่คู่เมืองแห่งนี้ไปอีกนานเท่านาน.

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น