ปิดกิ่วแม่ปาน!! ทางอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ฟื้นฟูความสมดุล 1 มิ.ย.-1 พ.ย.62

นายสมหวัง เรืองนิวัติศัย ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่ามีภารกิจ ในการอนุรักษ์ คุ้มครอง และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ตลอดจนการบริหารจัดการและส่งเสริมการใช้ประโยชน์ จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลย์และยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติที่สำคัญของประเทศ มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ บนพื้นฐานขององค์ความรู้ด้านวิชาการเป็นหลัก ทั้งนี้ เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ สามารถตอบสนองคุณค่าในด้านต่างๆ อย่างยั่งยืน ทั้งทางด้านการให้บริการทางนิเวศน์ การเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของพี่น้องประชาชน ตลอดจนเป็นแหล่งที่สามารถสร้างรายได้ที่สำคัญให้แก่ประเทศในด้านการท่องเที่ยว
แหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติของประเทศไทย ที่ได้ให้บริการการท่องเที่ยวแก่นักท่องเที่ยว ในระยะหนึ่ง ซึ่งกิจกรรมการท่องเที่ยวต่างๆ เหล่านี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติไม่มากก็น้อย ดังนั้น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งมีภารกิจและหน้าที่ในการอนุรักษ์ คุ้มครองทรัพยากรทางธรรมชาติเหล่านี้ จึงมีความจำเป็นในการฟื้นฟูให้เกิดความสมบูรณ์สูงสุด เพื่อตอบสนองเหตุผล ด้านต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น การปิดแหล่งท่องเที่ยวบางแห่ง จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้การฟื้นฟูเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ ยกตัวอย่างเช่น การปิดอ่าวมาหยา ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา – หมู่เกาะพีพี เป็นต้น ดังนั้น การปิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน ของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จึงเป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้เส้นทางศึกษาธรรมชาตินี้ ยังคงความสวยงามทางธรรมชาติตลอดไป
นายกริชสยาม คงสตรี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
ทางด้าน นายกริชสยาม คงสตรี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ กล่าวว่าเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน ตั้งอยู่บริเวณป่ากิโลเมตรที่ 42 ถนนสายจอมทอง –ดอยอินทนนท์ ความสูงประมาณ 2,200 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ความยาวของเส้นทาง 3.2 กิโลเมตร เป็นเส้นทางเดินที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีทุ่งหญ้ากึ่งอัลไพน์ขั้นระหว่างหน้าผาสูงชันกับป่าดิบเขา เริ่มดำเนินการสำรวจ และปรับปรุงเส้นทางตั้งแต่ปี 2539 และเริ่มเปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยว ในปี 2541 ซึ่งต่อมาเส้นทางศึกษาธรรมชาติแห่งนี้ ได้เป็นที่รู้จักและนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วไปเป็นอย่างสูง
เนื่องจากมีความสวยงามทางธรรมชาติ มีสภาพป่าที่หลากหลาย ทั้งป่าดิบเขาและมีทุ่งหญ้าสลับกันอย่างสวยงาม และมีจุดชมทิวทัศน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีจุดชมทะเลหมอก ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว และที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสต้นกุหลาบพันปี ซึ่งเป็นพืชเฉพาะถิ่น และกวางผาซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่มีความสำคัญใกล้สูญพันธุ์ จึงทำให้สถิตินักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในกิ่วแม่ปาน มีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี โดยในปี 2560 (1 พ.ย.2559–31 พ.ค.2560) มีนักท่องเที่ยวเข้าชม 146,056 คน, ปี 2561 (1 พ.ย.2560 – 31 พ.ค.2561) มีนักท่องเที่ยวเข้าชม 127,045 คน และปี 2562 (1 พ.ย. 2561 – 31 พ.ค.2562) มีนักท่องเที่ยวเข้าชม 129,334 คน

จากการที่ได้เปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยว เป็นประจำทุกปีๆ ละ 7 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี ประกอบกับปริมาณนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมาก ส่งผลให้ระบบนิเวศน์ต่างๆ ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิเช่น แผ่นปูทางเดิน สะพานไม้ยกระดับ (Board Walk)ราวกันตก ระเบียงชมทิวทัศน์ เหล่านี้ เกิดความชำรุดเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝน ภายในเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน ซึ่งสภาพป่าเป็นป่าดิบเขา จะมีความชื้นสูงและลื่น อาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่ผู้ใช้เส้นทาง
อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.62-1 พ.ย.62 นี้ รวมเวลา 5 เดือน เพื่อให้ระบบนิเวศน์มีการฟื้นตัวตามธรรมชาติ และถือโอกาสในการปรับปรุง ซ่อมแซมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยในปีงบประมาณ 2562 นี้ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ในการปรับปรุงเส้นทาง โดยจะดำเนินงานก่อสร้างพื้นทางเดินยกระดับคล่อมรากไม้ รวมระยะทาง 507.6 เมตร เป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้น 5,780,000 บาทอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ขอเรียนให้ทราบว่า ในพื้นที่ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมและเปิดให้บริการเป็นปกติแก่ทุกท่าน ได้แก่ ยอดดอยอินทนนท์, พระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล-นภพลภูมิสิริ, สถานีเกษตรหลวงอินททนท์, น้ำตกสิริภูมิ, น้ำตกสิริธาร, น้ำตกวชิรธาร, น้ำตกแม่กลาง, น้ำตกแม่ยะ รวมถึงเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว ซึ่งเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่เหมาะอย่างยิ่งในการท่องเที่ยวช่วงฤดูฝน โดยจุดเริ่มต้นอยู่ที่บริเวณกิโลเมตรที่ 30 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม 0 5328 6729 หรือ Facebook : อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ – Doi Inthanon National Park.

ร่วมแสดงความคิดเห็น