เสวนาแก้ไขหมอกควันไฟป่าในระยะยาว

วันที่ 29 พ.ค.62 ที่ห้องประชุมคำมอกหลวง ชั้น 5 อาคาร M-Square มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้เป็นประธานในการเสวนา เรื่อง การบทบาทสถาบันการศึกษา สภาวิศกรร่วมกับท้องถิ่นป้องกัน แก้ไขไฟป่า และฝุ่น PM 2.5 ร่วมกับ รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และ ผศ.ยุทธนา มหัจฉริยวงศ์ กรรมการสภาวิศวกร และวสท.ในการเสวนา โดยมี ผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงราย รวมไปถึงผู้ที่ถอดบทเรียนในการเกิดปัญหาดังกล่าว เพื่อร่วมหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
โดยในช่วงแรกนายประจญ ปรัชสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้กล่าวเปิดการเสวนา โดยการพูดถึงการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมาของจังหวัดเชียงราย โดยได้ยกปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ และผลการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ว่าได้เกิดอะไรขึ้นในช่วงที่เกิดหมอกควันและไฟป่าในจังหวัดเชียงราย จนทำให้เดิจุฮอตสปอต และค่าฝุ่นละอองในอากาศที่สูงเกินกว่ามาตราฐาน แม้ว่าในช่วงแรกจังหวัดเชียงรายแทบจะไม่เกิดหมอกควันไฟป่าในพื้นที่เลยก็ตาม
ซึ่งจากสถานการณ์หมอกควันไฟป่า และปริมาณฝุ่นละอองสูงเกินมาตรฐานในปีนี้ถือว่ารุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เกิดฮอตสปอตขึ้นกว่า 1,000 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บอีกจำนวนมาก โดยหลังจากนี้ทางจังหวัด หาวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการร์ดังกล่าวขึ้นอีกในปีต่อๆไป โดยจะร่วมมือกับส่วนงานต่างๆ เพื่อถอดบทเรียน และวางแนวทางในการป้องกัน และแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก โดยให้แต่ละพื้นที่ถิดบทเรียนเพื่อให้เกิดข้อมูลจากระดับล่างขึ้นบนทั้ง 18 อำเภอคาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ก็จะได้ครบหมด จากนั้นจะนำมาประกอบกับข้อมูลของสภาวิศวกร เพื่อจะนำไปปรับใช้เป็นมาตรการ ซึ่งก็คาดว่าจะมีการปรับเปลี่ยนมาตรการกันครั้งใหญ่แน่นอน

“สำหรับข้อมูลเบื้องต้นที่ได้จากการปฏิบัติการตั้งแต่มาตรการห้ามเผาวันที่ 15 ก.พ.-15 พ.ค.นี้ พบว่าไฟที่ลุกไหม้อย่างหนักดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นในพื้นที่ทางการเกษตรเลย แต่เกิดขึ้นในเขตป่าเขาทั้งหมดและส่วนใหญ่เกิดในเขตป่าลึกซึ่งยังคงเป็นเรื่องที่น่าสงสัยอย่างมาก โดยเกิดขึ้นหลายจุดทั่วจังหวัดเบื้องต้นคาดว่าเกิดจากการสะสมของเชื้อไฟเพราะไม่ลุกไหม้มานาน 2 ปีแต่ก็เชื่อแน่ว่าเกิดจากฝีมือมนุษย์ ซึ่งจะต้องหาคำตอบกันต่อไปเมื่อสอบถามชาวบ้านในพื้นที่และเจ้าหน้าที่แล้วส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าผู้ใดเป็นคนเผา และพื้นที่เกิดไฟป่ามักจะเป็นวิถีชีวิตที่ชาวบ้านจะมีการเผาเป็นประจำทุกปีก่อนที่ฝนจะตก ด้วยเหตุผลในการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกพืชเกษตร ทำลายวัชพืชและแมลงศัตรูพืชโดยที่การกำจัดวัชพืชด้วยวิธีอื่นกระทำได้ยากลำบากมากบนพื้นที่ภูเขาสูง ทำให้ขณะที่คนพื้นที่ราบเดือดร้อนหนักและไม่อยากให้เผาแต่คนบนพื้นที่สูงก็อ้างว่าหากไม่เผาก็จะทำให้พวกเขาจนถึงขั้นอดอยาก ทางจังหวัดต้องอาศัยข้อมูลจากหลายฝ่ายเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ได้” ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าว
ด้าน ผศ.ยุทธนา กล่าวว่าการจัดเสวนานี้จัดขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูล เพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขการเกิดหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละอองในอากาศ เพื่อเสนอให้รัฐบาลในการกำหนดมาตรการในอนาคต จากสภาพพื้นที่และวิถีชีวิตที่จำเป็นต้องเผาดังกล่าวทำให้การแก้ไขปัญหาไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็พอมีวิธีการอยู่ และพบว่ามีสามารถนำเอาวัชพืชมาทำถ่าน ปุ๋ย เพื่อเพิ่มมูลค่าได้โดยเฉพาะวัชพืชที่เป็นหญ้าทั่วไป สามารถนำมาเป็นถ่านกัมมันต์ที่เป็นเชื้อเพลิงอย่างดีได้ ซึ่งหากว่าสามารถเพิ่มมูลค่าจากวัชพืชเหล่านี้ได้ก็ย่อมจะไม่มีความอยากเผาอีกต่อไป
รศ.ดร.ชยาพร กล่าวว่า ปัญหาหมอกควันที่ผ่านมาทำให้ทางมหาวิทยาลัยต้องหยุดทำการเรียนการสอนระหว่างวันที่ 1-2 เม.ย.เพื่อความปลอดภัยในด้านสุขภาพของนักศักษาและบุคลากรเนื่องจากปริมาณหมอกควันและฝุนละอองในอากาศมีค่าสูงมาก และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทางมหาวิทยาลัยได้ให้ความสำคัญและกำหนดบทบาทให้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่เพื่อให้เกิดการหาวิธีป้องกันและแก้ไขโดยร่วมกับหน่วยงานองค์กรต่างๆ รวมทั้งตั้งศูนย์ศึกษาวิจัยและปฏิบัติการเพื่อลดปัญหาการเกิดไฟป่าหมอกควันในประเทศไทยและในภูมิภาคขึ้น เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการประสานงานซึ่งกรณีของสภาวิศวกรที่ให้การสนับสนุนด้านเงินทุนถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะผลงานวิจัยมีความสำคัญในการนำไปต่อยอดเพื่อแก้ไขปัญหาในอนาคต โดยเฉพาะคณาจารย์ใน มฟล.มีผู้สนใจจะทำการวิจัยเรื่องนี้จำนวนมาก ซึ่งก็เชื่อว่าผลสรุปที่ได้จะสามารถนำไปสู่อากาศที่โปร่งใสในปี 2563 ต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น