เตือนผู้เลี้ยงโคและกระบือ ช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงกะทันหัน ทำให้สัตว์สุขภาพอ่อนแอ

กลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์ จ.น่าน ประกาศแจ้งเตือน จากกรณีที่มีข่าวพบกระบือของเกษตรกรที่เลี้ยงไว้แบบปล่อยป่า ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ช่วงระหว่างวันที่ 2 – 29 พฤษภาคม 2562 จำนวน 19 ตัว ณ หมู่ที่ 16 ต.นาทะนุง อ.นาหมื่น จ.น่าน ปศุสัตว์ อ.นาหมื่น และทีมสุขภาพสัตว์จากสำนักงานปศุสัตว์ จ.น่าน ได้เข้าพื้นที่ตรวจสอบและเก็บตัวอย่างส่งตรวจ เพื่อวินิจฉัยโรคแล้ว เบื้องต้นทางปศุสัตว์ได้ดำเนินการเฝ้าระวัง และห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ออกนอกพื้นที่ ประชุมชี้แจงแนวทางการควบคุมโรค การรักษาพยาบาลสัตว์ป่วย และกรณีที่มีสัตว์ป่วยตาย ต้องปฏิบัติอย่างไร และแจ้งเตือนประชาชน ห้ามนำซากกระบือที่ตายผิดปกติมาบริโภค
เนื่องจากในระยะนี้ ได้เกิดสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง จากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน ส่งผลต่อสุขภาพของโคกระบือ สัตว์เกิดความเครียด ทำให้ร่างกายสัตว์อ่อนแอ ภูมิคุ้มกันโรคลดต่ำลง มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคและเกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะโรคคอบวม หรือโรคเฮโมรายิกเซพติซีเมีย

โรคคอบวมหรือโรคเฮโมรายิกเซพติซีเมีย จะทำให้สัตว์มีอาการคอหรือหน้าบวมแข็ง หายใจเสียงดังหรือหอบ ยืดคอไปข้างหน้า ส่วนใหญ่มักมีอาการแบบเฉียบพลัน คือ ไข้สูง น้ำลายฟูมปาก หยุดกินอาหาร และตายภายในไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งโดยปกติเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคคอบวม สามารถอยู่ในระบบทางเดินหายใจสัตว์ปกติได้ โดยไม่แสดงอาการป่วย แต่เมื่อสัตว์อยู่ในภาวะเครียดจากการเคลื่อนย้าย อากาศเปลี่ยนแปลง การอดอาหาร หรือการใช้แรงงานมากเกินไป ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันลดต่ำลง สัตว์จะแสดงอาการป่วย และขับเชื้อออกสู่สิ่งแวดล้อมปนเปื้อนอาหารและน้ำ
เพื่อการป้องกันโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการให้ความรู้แก่เกษตรกร สำนักงานปศุสัตว์ จ.น่าน จึงขอประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ ในพื้นที่ ดังนี้
1.ให้ความสำคัญกับการดูแลสัตว์เลี้ยงของตน ให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง โดยต้องดูแลในเรื่องการจัดการโรงเรือนหรือคอกสัตว์ มีหลังคาป้องกันฝน ลม ได้เป็นอย่างดี มีวัสดุปูรองคอกเลี้ยงสัตว์
2.จัดเตรียมน้ำสะอาด อาหารสัตว์หรือพืชอาหารสัตว์ และเวชภัณฑ์ต่างๆ เช่น วิตามิน ให้เพียงพอ
3.ควรทำความสะอาดโรงเรือน หรือคอกเลี้ยงสัตว์ และพ่นทำลายเชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอ
4.ฉีดวัคซีนป้องกันโรค อาทิ วัคซีนโรคปากและเท้าเปื่อย วัคซีนโรคเฮโมรายิกเซพติซีเมีย ให้โค กระบือเป็นประจำ เพื่อให้สัตว์มีภูมิต้านทานต่อโรคดังกล่าว
5.ไม่ให้มีการนำซากสัตว์ที่ตายอย่างผิดปกติมาบริโภค และไม่นำซากสัตว์ไปขายต่อ
6.พื้นที่ที่พบปัญหาโคกระบือตายผิดปกติ ขอความร่วมมือไม่ให้เคลื่อนย้ายสัตว์ออกนอกพื้นที่
7.กรณีที่มีสัตว์ตายอยู่ในแม่น้ำ หรือใกล้แหล่งน้ำ ให้เจ้าของสัตว์ช่วยกันนำสัตว์ขึ้นมาฝังหรือเผา ไม่ให้ซากสัตว์เน่าอยู่ในแม่น้ำ เพราะจะทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายออกไปเป็นวงกว้าง
8.ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์สังเกตอาการ หากพบสัตว์แสดงอาการป่วยตาย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ ปศุสัตว์อำเภอทันที เพื่อที่จะได้เร่งดำเนินการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีได้
สอบถามข้อมูลได้ที่ กลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์ จ.น่าน โทร. 054 710272 ต่อ 14

ร่วมแสดงความคิดเห็น