ข่าวดี!! ประกาศใช้แล้ว พ.ร.บ. ป่าชุมชน ก้าวแรกของการปลดล็อคปัญหา “คนกับป่า” ที่มีมานานกว่า 80 ปี

ป่าชุมชน คือ บริเวณที่ให้ชาวบ้าน มารวมตัวกัน ตั้งแต่ 50 คน ขึ้นไป เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชน โดยมีข้อตกลงร่วมกันระหว่างภาครัฐและชาวบ้าน ที่เน้นการส่งเสริมและอนุรักษ์ป่าสมดุล ภายใต้ข้อตกลงที่ว่าคนกับป่าจะอยู่อย่างไร เพราะนอกจากกฎหมายป่าชุมชนจะถูกปลดล็อคแล้วยังปลดล็อคกฎหมายไม้มีค่า ที่จากอดีตเคยเป็นปัญหากับคำว่า ไม้มีค่าตัดได้ หากไม่ได้สัมปทานในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตต่อไปนี้ ชาวบ้านในเขตป่าชุมชนจะสามารถตั้งคณะกรรมการดูแลป่าชุมชนด้านต่างๆ โดยได้รับการรับรองทางกฎหมายเป็นนิติบุคคล รายได้ที่ได้จากป่าชุมชนก็คือรายได้ของชุมชนเอง ชาวบ้านสามารถปลูกไม้มีค่าและใช้ประโยชน์จากป่าได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ กฎหมายยังสนับสนุนให้เอกชนที่บริจาคให้ป่าชุมชน ได้รับการลดหย่อนภาษี พร้อมสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการ หันมาสนับสนุนป่าชุมชนและร่วมอนุรักษ์ป่าชุมชนมากยิ่งขึ้น

สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ป่าชุมชน กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน คณะกรรมการป่าชุมชนระดับจังหวัด ลงไประดับพื้นที่ชุมชน ที่เรียกว่าคณะกรรมการจัดการป่าชุมชน ทั้งนี้ การจัดตั้งป่าชุมชน กฎหมายได้ระบุไว้ว่า การกำหนดขนาดของพื้นที่และสัดส่วนการใช้ประโยชน์ภายในพื้นที่ป่าชุมชนให้คำนึงถึงสภาพภูมิประเทศ ขนาดของชุมชน และศักยภาพของชุมชนที่มีความสามารถในการจัดการป่าชุมชนด้วยโดยให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด

กฎหมายฉบับนี้ มีเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนได้ร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการ บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนในรูปแบบของป่าชุมชนเพื่อให้ชุมชนสามารถจัดการป่าชุมชนและได้ประโยชน์จากป่าชุมชน อันจะส่งผลให้ชุมชนดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศให้มีความอุดมสมบูรณ์และยั่งยืน การอนุรักษ์ คนกับป่า ให้อยู่ร่วมกันนั้น เป็นการทำ 1 อย่าง ได้ประโยชน์ถึง 3 อย่าง คือ

-ได้ความมั่นคงทางทรัพยากร ทำให้ประเทศมีทรัพยากรป่าไม้สมบูรณ์
-ได้ความมั่งคั่งจากเศรษฐกิจเขียว ที่ให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์จากป่าและไม้มีค่า
-ได้ความยั่งยืนในการอนุรักษ์ธรรมชาติที่เคยถูกทำลาย ระบบนิเวศต่างๆ จะได้รับการดูแลและฟื้นฟูให้เกิดความสมดุลมากขึ้น

ทั้งนี้ นโยบายทวงคืนผืนป่า ที่รัฐบาลได้ดำเนินงานทั้งปราบปรามการบุกรุก และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟู สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าได้กว่า 300,000 ไร่

ร่วมแสดงความคิดเห็น