ตามรอย “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” ผู้สืบสานพระพุทธศาสนาในแผ่นดินล้านนา

ครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นพระที่สร้างคุณูปการณ์มากมายไว้ในใต้ร่มเงาพระพุทธศาสนาและแผ่นดินล้านนา ครูบาเจ้าศรีวิชัยถือได้ว่าเป็นแบบอย่างของพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่เกจิรุ่นหลังเดินตามรอยพระศาสนา
ผลงานที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้สร้างและปรากฏไว้เป็นคุณูปการมาจนถึงปัจจุบันก็คือ การสร้างถนนขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพ นอกจากนั้นท่านยังได้บูรณะสร้างวัดต่าง ๆทั่วภาคเหนือไม่ต่ำกว่า 100 วัด จนผู้คนกล่าวขานถึงท่านว่าเป็น “ตนบุญแห่งล้านนา”
ครูบาเจ้าศรีวิชัย เกิดเมื่อวันอังคารขึ้น 11 ค่ำปีขาล ตรงกับวันที่ 11 มิถุนายน 2420 เวลาพลบค่ำ เมื่ออายุได้ 18 ปี ท่านไปอยู่วัดบ้านปางเพื่อศึกษาเล่าเรียนและบวชเป็นสามเณรกับพระอาจารย์ขัติยะ หรือ ครูบาแข้งแขะ จนเมื่ออายุได้ 21 ปีจึงได้อุปสมบทที่วัดบ้านโฮ่งหลวง จังหวัดลำพูน โดยมีครูบาสม สมฺโณ เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านได้รับฉายาว่า “สิริวิชโย ภิกขุ” แต่ชาวบ้านจะเรียกท่านว่า “พระศรีวิชัย”
ครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้ชื่อว่าเป็นพระนักพัฒนาโดยแท้ ท่านเป็นผู้นำพัฒนาวัดบ้านปางเป็นแห่งแรก ก่อสร้างปฏิสังขรณ์กุฏิ วิหาร โบสถ์ และให้ชื่ออารามใหม่นี้ว่า “วัดจอมศะหรีทรายมูลบุญเรือง” แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงเรียกว่า “วัดบ้านปาง” นอกจากนั้นท่านยังได้ปลูกสร้างปฏิสังขรณ์วัดวาอารามและถาวรวัตถุทางศาสนาอีกหลายสิบวัดในแผ่นดินล้านนา เช่น วัดพระธาตุหริภุญชัยลำพูน, วัดเชียงยืน, วัดพระพุทธบาทตากผ้า, วัดจามเทวี, วัดพระสิงห์, วัดสวนดอก, วัดศรีโสดา,วัดพระแก้วดอนเต้าลำปาง เป็นต้น
ด้านการพัฒนา ท่านเป็นที่รู้จักและยังคงกล่าวขวัญถึงยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะการบูรณะวัดต่าง ๆ ในจังหวัดลำพูน ครูบาเจ้าศรีวิชัย ท่านได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัด ศาสนาทั่วแผ่นดินล้านนาไทยอย่างขนานใหญ่ชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ เริ่มต้นที่แรกสุดที่ “วัดพระธาตุหริภุญชัย” จ.ลำพูน ท่านได้ปฎิสังขรณ์พระวิหารหลวง ภายใต้การนำของพลตรีเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ ผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย โดยได้ขอความเห็นชอบจาก เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหลวงลำพูนในยุคนั้น เพื่อมอบหมายให้ “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” เป็นแม่กองอำนวยการก่อสร้าง ด้วยเห็นว่าท่านเป็นนักบุญที่เปี่ยมล้นบารมี มีสาธุชนทั่วทุกสารทิศให้ความเคารพยกย่องอย่างกว้างขวาง อันจะเป็นบาทฐานให้การบูรณะพระวิหารหลวงสำเร็จได้โดยง่าย นอกเหนือจากพระวิหารหลวงแล้ว ยังได้บูรณะซ่อมแซมวิหารพระพุทธ วิหารพระเจ้าทันใจ วิหารพระอัฏฐารส วิหารพระสังกัจจายน์
วัดพระธาตุม่าน (วัดสุพรรณรังษี ) เป็นวัดที่ครูบาศรีวิชัยสร้างและบูรณะ ภายในวัดมีอาคารเสนาเสนาะประกอบด้วยอุโบสถลักษณะรูปทรงศิลปะแบบพม่า ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ ปูชนียวัตถุรูปทรงศิลปะแบบพม่าวัดรมณียาราม ชื่อเดิม ว่า วัดกู่ละมัก เมื่อปี พ.ศ.2475 ครูบาศรีวิชัยได้ทำการบูรณะและสร้างครอบเจดีย์องค์เดิม ดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ใช้เวลาการก่อสร้าง 1 เดือน ซึ่งครูบาเจ้าศรีวิชัยได้สร้างพระพุทธรูปปางสมาธิศิลปะละโว้ เศียรพระพุทธรูป เศียรพระฤาษีศิลปะละโว้ และธรรมาสน์หลวงที่ใช้สำหรับแสดงพระธรรมเทศนา ไว้ในคราวนั้นด้วย
ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้มาบูรณะวัดพระพุทธบาทตากผ้า อำเภอป่าซาง ฝาผนังภายในวัดพระพุทธบาทตากผ้าเป็นจิตรกรรมที่ไม่เหมือนอุโบสถหรือวิหารทั่วไป โดยทำเป็นภาพลักษณะแบบแกะสลักเล่าเรื่องราวในพุทธศาสนา และปิดทองทั้งหมดทุกภาพ สวยงาม เป็นอุโบสถที่มีศิลปกรรมที่สวยอีกหนึ่งแห่งของจังหวัดลำพูน
วัดดอยก้อมสร้างเมื่อ พ.ศ.2470 สร้างโดยครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย ที่เห็นว่าสถานที่แห่งนี้เหมาะที่จะเป็นวัดที่ควรได้รับการพัฒนาที่เชิดหน้าชูตาของพุทธศาสนิกชนอำเภอบ้านโฮ่ง สถานที่แห่งนี้น่าจะเป็นวัดร้างมาก่อน ชาวบ้านดอยก้อมพร้อมใจกันนิมนต์ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยมาเป็นผู้ก่อตั้งวัดดอยก้อมสร้างด้วยบารมีของครูบาเจ้าศรีวิชัยโดยมีคณะศรัทธาทุกหัวระแหงมาช่วยกันสร้าง เล่าว่าใช้ระยะเวลาปลูกสร้างเพียง 30 วัน แล้วสร้างเสร็จปี พ.ศ.2476

ครูบาเจ้าศรีวิชัย ท่านเดินทางไปหนแห่งใด ก็มีศรัทธาสาธุชนเคารพศรัทธาจากที่ได้ธุดงค์ไปทั่วแผ่นดินล้านนา ได้พบเห็นโบราณสถานสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแผ่นดินล้านนาเก่าแก่ทรุดโทรมลงเป็นอันมาก จึงได้ร่วมกับศรัทธาสาธุชนบูรณะปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมวัดวาอาราม โบราณสถานทั่วแผ่นดินล้านนาไม่อาจจะนับได้ โดยวัดห้วยกาน อำเภอบ้านโฮ้ง เป็น 1 ใน 116 วัด ที่พระครูบาเจ้าศรีวิชัยมีส่วนช่วยในการสร้างหรือบูรณะ โดยท่านได้สร้างพระเจดีย์วัดห้วยกาน เมื่อ ปี พ.ศ.2471 ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 8 ปี ก่อนจะแล้วเสร็จ ลักษณะการก่อสร้างทั้งองค์ก่อด้วยอิฐถือปูนขาวผสมเปลือกไม้และน้ำอ้อย เป็นเจดีย์รูปแบบที่ได้รับอิทธิพลด้านศิลปะจากแบบเชียงแสน ผสมลังกาในรูประฆังคว่ำ
วัดพระพุทธบาทสามยอด อำเภอบ้านโฮ้ง เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทอยู่ภายในวิหารมหาอุตม์ ซึ่งสร้างโดยครูบาศรีวิชัย ครูบาอภิชัยขาว เป็นวิหารขนาดเล็กไม่มีหน้าต่างและประตูสองช่อง นอกจากนี้ยังมีวิหารเปื๋อย เป็นวิหารเก่าแก่อายุร้อยกว่าปี มีบ่อน้ำทิพย์ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ โดยตลอดทั้งปีบ่อน้ำแห่งนี้เป็นบ่อน้ำที่ไม่แห้ง เชื่อกันว่าดื่มกินแล้วจะทำให้สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ กลับมีแต่ความเจริญ อยู่ดีกินดี เป็นสิริมงคล และมีเจดีย์ 3 องค์
วัดพระนอนม่องช้าง พระครูบาขาวปีได้มาเป็นประธานในการบูรณะวิหาร เมื่อปี พ.ศ.2470 แต่ไม่แล้วเสร็จ ต่อมาครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้มาบูรณะและสร้างต่อจนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2473 กระทั่งปี พ.ศ.2490 พระบรมธาตุเจดีย์มีสภาพผุพังชำรุดทรุดโทรม พระครูบาเจ้าพรหมา พรหมจักโก วัดพระพุทธบาทตกผ้า มีความดำริจะบูรณปฏิสังขรณ์ และมาเป็นประธานในการสร้างกำแพงโดยรอบบริเวณ และได้สร้างเสริมธรณีรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระนอนม่อนช้าง อ.ป่าซาง อ.เมือง จ.ลำพูน ถือว่าเป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญอีกวัดหนึ่งที่มีอายุ 300 ปี
วัดแม่เทย อำเภอลี้ สร้างเมื่อ พ.ศ.2440 แต่เดิมหมู่บ้านนี้มีสภาพเป็นป่า ยังไม่มีวัดตั้งอยู่ ครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้พิจารณาเห็นว่าควรที่จะสร้างวัดขึ้น จึงได้นัดหมายศรัทธาญาติโยมในหมู่บ้าน ให้มาช่วยกันสร้างวัดขึ้น โดยได้กำหนดเอาต้นไม้บริเวณนั้นเป็นเขตแดน และสร้างเสนาเสนาะขึ้นชั่วคราว
วัดบ้านปางเป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน สร้างขึ้นมาเมื่อประมาณร้อยปีก่อน คือเริ่มสร้างวัดเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2444 จนเมื่อครูบาศรีวิชัยอายุได้ 24 ปี ท่านได้นำพระเณรและศรัทธาชาวบ้านร่วมกันสร้างวัดขึ้นโดยได้ขอให้นายควาย โยมบิดาเป็นผู้แผ้วถางเป็นปฐมฤกษ์ให้เกิดความเป็นสิริมงคล ต่อจากนั้นพระเณรและศรัทธาชาวบ้านได้ร่วมแรงร่วมใจกันปรับสถานที่บนเนินเขาให้เป็นที่ราบ ในการสร้างและบูรณะวัดบ้านปางในสมัยนั้นเป็นไปอย่างล่าช้า ยากลำบากเพราะขาดเครื่องมือที่จำเป็น
หลังจากนั้นครูบาศรีวิชัยและศรัทธาญาติโยมทั้งหลาย จึงได้ช่วยกันก่อสร้างวิหาร กุฏิ พระเจดีย์ โดยเฉพาะพระเจดีย์วัดบ้านปางนั้น ครูบาศรีวิชัยได้ไปเห็นพระธาตุหลวงลำพูน ก็คือ พระธาตุหริภุญชัย แล้วอาศัยจำแบบมาก่อสร้างเจดีย์วัดบ้านปาง นอกจากนั้นเมื่อท่านได้จาริกไปบูรณะวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือครูบาศรีวิชัยก็ได้ไปสร้างเจดีย์วัดต่าง ๆ ตามแบบของพระธาตุหริภุญชัย ซึ่งอาจเป็นคติในเชิงความหมายว่า ท่านต้องการให้พระธาตุหริภุญชัยเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่พุทธศาสนาออกไปทั่วภาคเหนือ อีกความหมายหนึ่งก็อาจเป็นการประกาศให้รู้ว่าตัวครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้นเป็นพระจากเมืองลำพูน
กระทั่งเมื่อสร้างวัดเสร็จแล้วพระเณรบางส่วนจึงได้ย้ายขึ้นไปอยู่บนวัดใหม่แห่งนี้ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “วัดจ๋อมศะหรีทรายมูลบุญเรือง” แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่จะเรียกว่า “วัดบ้านปาง” ซึ่งวัดนี้มีอาณาบริเวณพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 160 ไร่ ในบริเวณเขตพุทธาวาสจะมีกำแพงก่อด้วยหินล้อมรอบถึง 4 ชั้น ซึ่งเป็นความคิดของครูบาศรีวิชัยที่พยายามจะจัดให้วัดนี้เป็นอรัญวาสี (วัดป่า) โดยครูบาศรีวิชัยได้แนวคิดมาจากที่ได้เห็นพระฤาษีก่อกำแพงหินล้อมรอบอาศรม ซึ่งปัจจุบันคือ ม่อนฤาษี ซึ่งอยู่ได้ห่างจากวัดบ้านปาง และที่สำคัญท่านไม่ต้องการที่จะทำลายธรรมชาติ จึงได้ให้ชาวบ้านนำหินมาตั้งเรียงซ้อนกันจนเป็นแนวกำแพง
วัดจามเทวี เดิมวัดนี้ชื่อ วัดสังฆาราม แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดกู่กุด ต่อมาหลังรัชสมัยของพระเจ้ามหันตยศวัดกู่กุดได้ร้างลงจนถึง พ.ศ.2469 พระยาดำรงราชานุภาพได้เสด็จมาภาคเหนือและได้สำรวจวัดกู่กุด สืบถามความเป็นมาของผู้สร้างจนทราบนาม จึงได้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่ว่า “วัดจามเทวีวงศ์” ปี พ.ศ.2479 เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ผู้ครองนครลำพูน ได้ไปนิมนต์ท่านครูเจ้าบาศรีวิชัย ช่วยบูรณะวัดจามเทวีการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2480 และนับเป็นวัดสุดท้ายที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยบูรณะ

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น