กรมอุทยานฯ แนะกู้ภัยเก็บหลักฐานช่วยชาวบ้านจับงู หลังมีเหตุถูกตำรวจจับข้อหา มีสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครอง ขณะกำลังนำไปปล่อย

กรมอุทยานแห่งชาติฯ แนะนำอาสากู้ภัยสามารถช่วยเหลือชาวบ้านจับงู หรือสัตว์ป่าคุ้มครองได้ แต่ต้องบันทึกหลักฐาน หรือนำส่งหน่วยงานกรมอุทยานแห่งชาติแต่ละพื้นที่ ดูแลและปล่อยสัตว์แต่ละชนิดอย่างถูกต้อง

หลังจากสมาชิกเฟซบุ๊ก แชร์เรื่องราวของอาสากู้ภัย ในพื้นที่ จ.สระบุรี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมขณะกำลังขับรถผ่านด่านตรวจ ด้วยมีงูเหลือม สัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครอง โดยระบุว่าเป็นงูที่ไปช่วยชาวบ้านจับมา ไม่ใช่งูที่จับมาจากป่าธรรมชาติ และกำลังจะนำไปปล่อยคืนธรรมชาติ แต่ถูกจับกุมเสียก่อน

นายสมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า หากประชาชนมีปัญหาพบสัตว์ป่า งู ตัวเงินตัวทอง หรือสัตว์อื่นที่อันตราย ส่วนใหญ่จะแจ้งเจ้าหน้าที่กู้ภัย หรืออาสาหน่วยต่างๆมาช่วยเหลือ ซึ่งเจ้าหน้าที่เหล่านี้ ทำหน้าที่เสมือนผู้ช่วยราชการ สามารถดำเนินการจับสัตว์ช่วยเหลือประชาชนได้

อย่างไรก็ตาม จะต้องมีมาตรฐานที่ถูกต้อง ในการปฏิบัติหน้าที่ ควรมีการบันทึกหลักฐานทั้งข้อมูล และภาพถ่ายเอาไว้ด้วย เพื่อให้เกิดความชัดเจน จึงสามารถนำสัตว์เหล่านั้น ไปปล่อยอย่างถูกต้อง ทั้งนี้จะเหมาะสมที่สุด ควรจะส่งมอบสัตว์ป่าที่จับได้ ให้กับหน่วยงานของกรมอุทยานแห่งชาติฯที่อยู่ใกล้เคียง หรือสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติประจำจังหวัด ซึ่งมีสถานที่และสัตวแพทย์ดูแลสัตว์ป่าที่ถูกจับมาได้ หรือหน่วยงานราชการ สถานีตำรวจใกล้เคียง ก็จะส่งต่อยังหน่วยงานกรมอุทยานแห่งชาติได้อีกทางหนึ่ง

สัตวแพทย์หญิงสุนิตา วิงวอน นายสัตวแพทย์ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า แต่ละเดือนกรมอุทยานแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร กลุ่มจัดการสุขภาพสัตว์ป่า จะรับมอบสัตว์ป่าจากหน่วยงานกู้ภัย ประเภทงูเหลือม ตัวเงินตัวทอง มาส่งประมาน 100 ตัว จากนั้นจะลงบันทึกใบรับมอบ ระบุชนิด และจำนวนที่รับมอบ จากนั้นจะนำไปพักในกรงดูอาการเพื่อตรวจโรค หากตัวมีแผลบาดเจ็บจะทำการรักษา และอนุบาลต่อประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นจะส่งสัตว์แต่ละชนิดไปยังสถานีเพาะเลี้ยงที่เหมาสม โดยงูและตัวเงินตัวทอง จะส่งไปที่สถานีเพาะเลี้ยงเขาสน จ.ราชบุรี ซึ่งมีสภาพที่เหมาะสม มีจุดพักเลียนแบบธรรมชาติ จากนั้นจึงนำปล่อยคืนสู่ธรรมชาติต่อไปโฆษกกรมอุทยานแห่งชาติ บอกอีกว่า หากมีปัญหาพบสัตว์ป่า หรือมีสัตว์ป่า งู ตัวเงินตัวทอง หรือสัตว์อื่นๆ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ผ่านสายด่วน 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะส่งเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ หรือ ประสานเครือข่ายให้เข้าช่วยเหลือได้อย่างทันการณ์ ทั้งนี้แนะนำประชาชนหากเจอสัตว์ป่าที่อันตราย ควรป้องกันตัวเองหลีกหนีจากจุดที่สัตว์อยู่ และให้ผู้เชี่ยวชาญดำเนินการจับออกไป หากไม่สุดวิสัยไม่ควรทำร้ายสัตว์ หรือไม่จับมาเลี้ยงเอง เนื่องจากมีความผิดตามกฎหมาย

ร่วมแสดงความคิดเห็น