เรื่องราวความลี้ลับของผียักษ์ “ปู่แสะย่าแสะ”

ความเชื่อของบรรพบุรุษชาวลัวะในการฆ่าควายเลี้ยงผียักษ์ “ปู่แสะย่าแสะ” ที่ได้ถ่ายทอดมาสู่ลูกหลานถือได้ว่าเป็นความเชื่อที่ฝังรากลึกอยู่ในความรู้สึกของชาวลัวะทุกคนมาช้านาน ก่อให้เกิดเป็นประเพณีที่แปลกพิศดารและว่ากันว่าเป็นประเพณีเดียวของเมืองเชียงใหม่ที่ยังคงสืบทอดรูปแบบดั้งเดิมเอาไว้ จนต้องนำเรื่องราวมาถ่ายทอดเล่าสู่ผู้ที่ชื่นชอบการผจญภัยและสิ่งลี้ลับเช่นนี้
แต่เดิม “ลัวะ” หรือ “ละว้า” เป็นกลุ่มชนพื้นเมืองเดิม ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณอาณาจักรล้านนาโบราณ ก่อนที่พญามังรายจะมาสร้างเมืองเชียงใหม่ ละว้าจัดอยู่ในกลุ่มภาษาออสโตร-เอเชียติก กลุ่มย่อยมอญ-เขมร นักวิชาการให้ความเห็นว่าชาวลัวะหรือละว้าซึ่งอาศัยอยู่ในแหลมสุวรรณภูมิเป็นกลุ่มเดียวกับชาวลัวะที่อาศัยอยู่ในดินแดนล้านนาไทย ชาวลัวะจะเรียกตัวเองว่า “ละเวือะ” ชาวไทยภาคเหนือจะเรียกว่า “ลัวะ” อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่านและตาก
ลัวะเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่เขตเชียงใหม่เมื่อประมาณ 900 ปีมาแล้ว พวกลัวะเชื่อว่าบรรพบุรุษของพวกเขาเคยอาศัยอยู่ในเชียงใหม่และเป็นผู้สร้างเจดีย์หลวง ประวัติศาสตร์ของลัวะสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.1200 ในสมัยของขุนหลวงวิรังคะ ซึ่งหลงรักพระนางจามเทวี กษัตริย์แห่งแคว้นหริภุญไชย แต่พระนางจามเทวีไม่สนพระทัยเกิดท้าทายอำนาจจนถึงขั้นทำสงคราม ขุนหลวงวิรังคะได้พุ่งหอกสะเน่าไปยังเมืองลำพูนเพื่อแสดงแสนยานุภาพแต่ท้ายที่สุดขุนหลวงวิรังคะก็พ่ายแพ้แก่พลศึกของพระนางจามเทวี ลัวะบางส่วนหลบหนีขึ้นไปอยู่บนภูเขา บางส่วนยังอยู่แถบลุ่มแม่น้ำปิงและถูกผสมกลมกลืนไปในวัฒนธรรมของชนพื้นราบ ส่วนลัวะที่อยู่บนดอยยังคงรักษาเอกลักษณ์ประเพณีของเผ่าสืบมาจนถึงปัจจุบัน
มีเรื่องเล่าเก่ยวกับผีลัวะว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพ พระองค์ทรงจินตนาการว่าถ้าหากพระองค์ทรงปรินิพพานไปจากโลกนี้แล้ว บ่วงมนุษย์ที่ยังไม่รู้แจ้งในธรรมะ จะประสบเคราะห์กรรมตกอยู่ในบ่วงกิเลสทั้งหลาย พระองค์จึงทรงอยากจะปลดปล่อยเขาเหล่านั้นให้หลุดพ้นจากหายนะ จึงได้นำพระภิกษุอรหันต์พร้อมด้วยพระอินทร์มุ่งสู่ทิสเหนือ เมื่อทรงเห็นว่าบ้านเมืองโตที่มีประชาชนยังมีความหนาด้วยกิเลส ก็จะหยุดนำหลักธรรมคำสอนมาขัดเกลากิเลสให้ เมื่อประชาชนเคารพ เลื่อมใส ศรัทธา ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์แล้วก็จักประทับรอยพระบาทและจะเนรมิตพระธาตุประดิษฐานไว้ ณ ที่นั้น พระองค์เสด็จจนมาถึงเมืองบุรพนคร แล้วจึงเสด็จถึงพระธาตุดอยคำซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของดอยอ้อยช้างหรือดอยสุเทพ ที่นั่นมียักษ์อาศัยอยู่ 3 ตน ยักษ์ผู้ผัว มีนามว่า “จิคำ” ยักษ์เมียนามว่า
“ตาเขียว” และลูกยักษ์ โดยยักษ์ทั้งสามยังชีพด้วยการจับมนุษย์และสัตว์กินเป็นอาหาร เมื่อยักษ์ทั้งสามเห็นพระพุทธองค์และสาวกเสด็จมาจึงคิดที่จะจับกินเป็นอาหาร พระพุทธองค์ทรงทราบในวิสัยจึงทรงแผ่เมตตาห้ามจิตที่มากด้วยกิเลสให้อ่อนลง ด้วยบุญญาธิการของพระองค์
ยักษ์ทั้งสามเกรงขามในพระบารมีจึงได้ก้มลงกราบแทบพระบาทของพระองค์ พระพุทธเจ้าทรงเอ็นดูและพระเมตตาจึงกล่าวแก่ยักษ์ทั้งสาม ปรากฏว่ายักษ์ผู้เป็นบุตรสามารถรับปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ได้เป็นอย่างดี จึงทรงเทศนาสั่งสอนให่แก่ยักษ์ทั้งสาม และปรากฏว่ายักษ์ผู้เป็นบุตรนั้นสามารถรับปฏิบัติศีลห้าได้ตลอด เว้นแต่ยักษ์ผู้ผัวและยักษ์ผู้เมียเท่านั้น โดยยังร้องขอกินเนื้อมนุษย์ปีละ 2 คน พระพุทธองค์ทรงไม่อนุญาต ยักษ์ทั้งสองจึงต่อรองขอกินเนื้อสัตว์แทน ตั้งแต่นั้นมาจึงมีพิธีฆ่าโคเผือกเขาเพียงหู ให้ปู่แสะ(ยักษ์จิคำ) และพิธีฆ่าโคดำเขาเพียงหูให้ย่าแสะ(ยักษ์ตาเขียว) โดยกระทำพิธีคนละแห่ง ต่อมาได้รวมพิธีกรรมมาไว้ในสถานที่เดียวกัน ณ บริเวณป่าเชิงวัดพระธาตุดอยคำทางทิศตะวันออก

ประเพณีเลี้ยงดง หรือ ปู่แสะย่าแสะ ของชาวลัวะในเชียงใหม่ยังคงมีการสืบทอดมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน พิธีดังกล่าวเป็นความเชื่อที่ถูกถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษของชาวลัวะ ซึ่งพวกเขาถือว่าจะต้องกระทำพิธีเลี้ยงผีขึ้นทุกปี โดยจะถือเอาวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 เหนือ ซึ่งปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน 2562 เป็นวันประกอบพิธี พิธีนี้มีชื่อเรียกตามภาษาชาวบ้านระแวกนี้ว่า “พิธีเลี้ยงดง” ซึ่งหมายถึงการเซ่นสรวงดวงวิญญาณผีในป่า
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น