ธุรกิจป้ายเชียงใหม่วูบ !! หลังสื่อดิจิทัลมีบทบาทมากยิ่งขึ้น

ผู้ประกอบการป้ายโฆษณา เมืองเชียงใหม่ (ย่านคชสาร-ช้างคลาน) กล่าวว่าตั้งแต่ต้นปีนี้ ลูกค้าที่เคยใช้บริการป้ายนอกบ้าน หรือป้ายบิลบอร์ด โดยเฉพาะกลุ่มบ้านจัดสรร หายไปเยอะมาก ส่วนหนึ่งหันไปเจาะตลาดผ่านสื่อออนไลน์ และงานพิมพ์ไว้แจกลูกค้า ช่วงจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายตามจุดต่าง ๆ บางส่วนใช้วิธีติดป้ายตามข้างทางแบบป้ายผี พอมีหน่วยงานแขวงการทางไล่เก็บ ก็หายไปพักใหญ่ ๆ
ด้านผู้บริหารท้องถิ่นนครเชียงใหม่ ยอมรับว่า มาตรการเข้มงวด ในเรื่องโครงสร้างป้าย ที่ต้องมั่นคง แข็งแรง แทนที่จะเป็นโครงไม้ไผ่ ติดตามจุดแยก ทางสัญจรทั่ว ๆ ไป เพราะหากมีลมพายุฝนพัดล้ม ก็จะมีผู้คนได้รับผลกระทบเดือดร้อนซึ่งจะเสียหายกว่า การใช้บริการติดป้ายตามจุดบริการ ก็น่าจะเป็นอีกเหตุผลทีทำให้ป้ายโฆษณาธุรกิจต่าง ๆ ลดน้อยไป ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ จัดเก็บภาษีป้ายโดยรวมในเขตรับผิดชอบ
รายงานจากสมาคมโฆษณาดิจิทัล ประเทศไทย ระบุช่วงปี 55-60 จากมูลค่าธุรกิจสื่อโฆษณาทุกรูปแบบ พบว่าสื่อดิจิทัล เติบโตต่อเนื่องหลักพันล้านเติบโตกว่า 31% มูลค่า ในปี 60 ร่วม ๆ 12,402 ล้านบาท ปี 61 พุ่งเป็น 14,973 ล้านบาท

ปี 2562 สื่อทีวียังครองเม็ดเงินโฆษณาสูงสุด ที่ 49,686 ล้านบาท ตามด้วยสื่ออินเทอร์เน็ตมูลค่า 17,518 ล้านบาท สื่อโฆษณานอกบ้าน 12,498 ล้านบาท หนังสือพิมพ์ 4,402 ล้านบาท วิทยุ 4,163 ล้านบาท สื่อในโรงภาพยนตร์ 2,325 ล้านบาท นิตยสาร 838 ล้านบาท
สำหรับ สื่อนอกบ้าน โดยเฉพาะป้ายโฆษณา ซึ่งเป็นสื่อยอดนิยมในการหาเสียงลดน้อยลงกว่าที่คาดในปีนี้ และกลุ่มธุรกิจที่เคยยึดหัวหาดป้ายแบบนี้ไม่ว่าจะเป็น ยานยนต์, โครงการบ้านจัดสรร ต่างหันไปใช้บริการสื่อออนไลน์ มีการเปิดเว็บไซต์เจาะตลาดผ่านสื่อสังคม ทั้งเฟซบุ๊ก, ไลน์, ยูทูป, อินสตราแกรมเพิ่มมากขึ้น

ผู้ประกอบการธุรกิจสื่อโฆษณารายใหญ่ในเชียงใหม่ กล่าวว่า ยุคสมัยเปลี่ยนไป ก็ต้องปรับกลยุทธ์ ให้มีบริการที่หลากหลายขึ้น นอกจากป้ายโฆษณาที่ไม่ทำกำไร มีต้นทุนสูง ก็ขยับไปสู่รูปแบบ ป้ายดิจิทัล ซึ่งติดตั้งกระจายทั่วเมือง แต่ปัญหาค่าเหมาจ่ายในแต่ละเดือนยังผูกขาดราคาไม่กี่กลุ่มทุน ทำให้ทุนท้องถิ่นรายเล็ก ๆ ค่อยหายไปจากวงการ หรือหวนไปสู่จุดเริ่มต้นธุรกิจคือ รถแห่ ประคองตัวให้อยู่รอด หรือไม่ก็เลิกกิจการไปเลย

ร่วมแสดงความคิดเห็น