ความเชื่อ! ประเพณีบูชาพระธาตุประจำปีเกิด

ความเชื่ออย่างหนึ่งของชาวล้านนา เชื่อกันว่าก่อนจะมาปฏิสนธิ ดวงวิญญาณจะกลายสภาพเป็นดาวก่อนแล้วร่วงลงสู่โลก เมื่อเห็นดาวตก จะมีการห้ามว่ามิให้ใช้มือชี้ เพราะจะทำให้ดวงวิญญาณนั้นไม่ได้เกิด
ดาวแห่งดวงวิญญาณเมื่อร่วงลงมาจะไปสถิต ณ พระเจดีย์ ประจำปีเกิดระยะหนึ่ง แล้วไปอยู่เหนือกระหม่อมของบิดา จากนั้นจึงเคลื่อนสู่ครรภ์มารดาเป็นการปฏิสนธิ พระเจดีย์ประจำปีเกิดชาวล้านนาเรียกว่า พระธาตุ ซึ่งระบุไว้ ดังนี้
1. พระธาตุจอมทอง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ สำหรับคนเกิดปีชวด
2. พระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง สำหรับคนเกิดปีฉลู
3. พระธาตุช่อเเฮ อ.เมือง จ.แพร่ สำหรับคนเกิดปีขาล
4. พระธาตุแช่เเห้ง อ.เมือง จ.น่าน สำหรับคนเกิดปีเถาะ
5. พระธาตุพระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สำหรับคนเกิดปีมะโรง
6. พระเจดีย์มหาโพธิ์ ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย สำหรับคนเกิดปีมะเส็ง
7. พระธาตุตะโก้ง (ชะเวดากอง) ประเทศพม่า สำหรับคนเกิดปีมะเมีย
8. พระธาตุดอยสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สำหรับคนเกิดปีมะเเม
9. พระธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม สำหรับคนเกิดปีวอก
10. พระธาตุหริภุญไชย อ.เมือง จ.ลำพูน สำหรับคนเกิดปีระกา
11. พระธาตุเกศแก้วจุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ สำหรับคนเกิดปีจอ
12. พระธาตุดอยตุง อ.เเม่สาย จ.เชียงราย สำหรับคนเกิดปีกุน

พระธาตุต่าง ๆ ดังกล่าว นอกจากจะเป็นสถานที่สถิตของดวงวิญญาณแล้ว ยังเชื่อกันว่าเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำตัว ครั้งคราวใดที่ชีวิตตกอับหรือเคราะห์ร้าย หากได้ไปกราบไหว้สักการบูชาพระธาตุประจำปีเกิด แม้เพียงครั้งเดียว ก็เชื่อว่าจะสามารถพ้นจากภาวะวิกฤตของชีวิตเลยทีเดียว

ดังนั้นผู้คนจึงนิยมหาโอกาสไปกราบไหว้สักการะบูชาอย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิต แต่เนื่องจากบางแห่งอาจอยู่ไกลหรือสุดวิสัยที่จะเดินทางไปได้ ก็จะไปบูชาพระเจดีย์ในวัดที่มีลักษณะ ใกล้เคียงแทน เช่น ไปบูชาพระเจดีย์วัดเจ็ดยอด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ แทนพระเจดีย์มหาโพธิ์ ณ พุทธคยา เพราะรูปทรงพระเจดีย์ได้ต้นแบบมาจากอินเดีย หรือไปไหว้พระเจดีย์วัดเกตุ อ.เมือง จ.เชียงใหม่แทนพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะมีชื่อพ้องเสียงกัน

อย่างไรก็ตาม ทุกคนคงไม่สามารถไปบูชาพระธาตุได้เหมือนกันหมด จึงมีการวาดรูปพระธาตุเจดีย์ต่างๆ บรรจุกรอบกระจกจำหน่ายอย่างแพร่หลาย ชาวบ้านต่างนิยมซื้อไปแขวนไว้ในบ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัว ตามความเชื่อที่มีมาแต่ดั้งเดิม
ที่มา: เฟซบุ๊กแฟนเพจ ล้านนาสาระ
โดย อ.สนั่น ธรรมธิ
(ภาพเขียนจากงานของ สุใจ เรือนงาม โดยความอนุเคราะห์จาก ผศ. วิลักษณ์ ศรีป่าซาง)

ร่วมแสดงความคิดเห็น