“ดอยแม่สลอง” ฐานที่มั่นสุดท้ายของจีนกู้ชาติ กองพล 93

ความสูงชันของเทือกดอยผนวกกับความคดเคี้ยวของถนนเบื้องหน้าไม่อาจเป็นอุปสรรคขวางกั้นการเดินทางของผู้คนนับร้อยพันที่ต้องการขึ้นไปค้นหาแง่งามให้กับชีวิตที่ยอดดอยแม่สลอง แดนดินถิ่นที่อยู่ของต้นซากุระแห่งเดียวในเมืองไทย
ดอยแม่สลองนับได้ว่าเป็นดอยที่มีความสูงสุดแห่งหนึ่ง เพราะอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 1,350 เมตร ในช่วงฤดูหนาวเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์อากาศจะหนาวเย็นมาก อุณหภูมิเฉลี่ย 3-6 อาศาเซลเซียส ถ้าปีไหนหนาวหนาวนาน ดอกซากุระหรือนางพญาเสือโคร่งก็จะบานยืดยาวตามไปด้วย ในช่วงเวลาปกติบนดอยแม่สลองจะมีอุณหภูมิเฉลี่ย 28 องศาเซลเซียส จึงทำให้ที่นี่มีฤดูใบไม้ผลิตลอดทั้งปี ผู้คนที่อาศัยอยู่บนดอยแม่สลองประกอบด้วยชาวเขาหลายเผ่า นอกจากนั้นมีชาวจีนยูนนานและชาวไทย ส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพด้านการเกษตร ปลูกผักและผลไม้เมืองหนาวที่ขึ้นชื่อได้แก่การปลูกชา
แม่สลองในวันนี้มีนักเดินทางขึ้นไปเยือนปีละหลายหมื่นคน ด้วยเสน่ห์แห่งป่าเขา สายหมอกและวัฒนธรรมของชาวจีน จึงตรึงตาต้องใจให้ที่นี่กลายเป็น “ปลายทาง” ของนักเดินทางเดินทางมาเยือนอย่างไม่ขาดสาย
ทิวดอยที่เห็นทอดตัวยาวอยู่เบื้องหน้าซุกซ่อนเรื่องราวความเป็นปริศนามานานกว่าครึ่งศตวรรษ ในอดีตที่แห่งนี้เป็นถิ่นฐานที่อยู่ของผู้อพยพชาวจีน ซึ่งอพยพหนีคอมมิวนิตส์มาเมื่อ 70-80 ปีที่แล้ว ภายใต้การนำของนายพลต้วน ซี เหวินและนายพลหลี่ เหวิน ฝาน อดีตแม่ทัพ 5 กองพล 93 (ก๊กมินตั๋ง) ซึ่งเป็นกองทัพของรัฐบาลจีน ของจอมพลเจียง ไค เช็ก ซึ่งเป็นตัวแทนของฝ่ายรัฐบาลจีนที่ส่งมารักษาชายแดนจีน-พม่า การต่อสู้ระหว่างรัฐบาลจีนกับกองทัพทหารพรรคคอมมิวนิสต์ของเหมา เจ๋อ ตุง ทำให้เจียง ไค เช็ก พ่ายแพ้และหนีไปอยู่ไต้หวัน กองพล 93 ก็เลยกลายเป็นทหารไร้สังกัด หนีการกวาดล้างของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ก็มาตั้งหลักอยู่ที่เมืองเชียงลับ ในเขตประเทศพม่า โดยมีอาสาสมัครและครอบครัวลี้ภัยตามออกมาสมทบมากมาย จนได้จัดเป็นกองทัพได้ 5 กองทัพ ภายใต้คำบัญชาการของนายพล หลี่ หมี

 

ปี พ.ศ.2504 รัฐบาลพม่าดำเนินการปราบปรามกองกำลังทหารจีนพลัดถิ่นเหล่านี้อย่างจริงจัง ทำให้กองกำลังของนายพลหลี่ หมี พ่ายแพ้ และกองทัพที่ 1, 2 และ 4 จำนวน 4,349 คน ได้ถูกส่งตัวไปไต้หวัน คงเหลือแต่กองทัพที่ 3 ของนายพลหลี่ เหวิน ฝาน และกองทัพที่ 5 ของนายพลต้วน ซี เหวิน ที่ไม่ต้องการไปไต้หวันและได้นำกำลังอพยพหนีการกวาดล้างของพม่าเข้าสู่ภาคเหนือของประเทศไทย โดยไต้หวันประกาศจะไม่สนับสนุนช่วยเหลือกองกำลังที่ตกค้างเหล่านี้อีก ในที่สุดกองทัพที่ 3 ก็มาถึงอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และกองทัพที่ 5 มาปักหลักอยู่ที่ดอยแม่สลอง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย โดยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้มอบหมายให้พลทหารเอกทวี จุลทรัพย์ และ พลโทเกรียงศักดิ์ ชนะนันทน์ เป็นผู้เจรจากับไต้หวันแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จนในปี 2513 อเมริกาก็ได้ตกลงเข้ามาช่วย รัฐบาลไทยจึงอนุญาตให้กองทหารจีนอยู่ได้ในฐานะผู้อพยพ เพื่อเป็นกองกำลังกันชนตามแนวชายแดน ป้องกันการแทรกซึมของ ผกค.และพลอากาศเอก ทวี ได้ตั้งชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่าบ้านสันติคีรี หมายถึงหมู่บ้านในขุนเขาที่สงบสุข ในขณะที่คนจีนเรียกว่าเรียกดอยนี้ว่า “เหมย ซือ
เล่อ” อันเป็นความหมายเดียวกันว่า “ดินแดนที่มีความสุข”

หลังจากนั้น กองกำลังทหารจีนของนายพลต้วน ซึ่งภายหลังได้ชื่อว่ากองทหารจีนคณะชาติก็ได้เป็นกำลังสำคัญร่วมต่อสู้ต่อต้าน ผกค. ในแถบจังหวัดเชียงรายหลายครั้ง โดยสามารถลดอิทธิพล ผกค.บนดอยหลวง ดอยยาว และดอยผาหม่นลงได้มาก รวมถึงสมรภูมิเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ อันเป็นภาระกิจสุดท้ายก่อนปลดอาวุธให้รัฐบาลไทย
ดอยแม่สลองได้พลิกฟื้นจากตำนานการต่อสู้ เพื่อถิ่นฐานกลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของจังหวัดเชียงรายในฐานะที่เป็นพื้นที่ที่มีการปลูกชาที่ดีที่สุดของประเทศ จึงไม่แปลกนักหากจะเห็นผู้คนเดินทางหลั่งไหลขึ้นไปจิบชาคละเคล้ากับบรรยากาศที่จำลองเมืองจีน ขนาดย่อม ๆ มาไว้ที่นี่ ดังนั้น “ชา” จึงนับเป็นสินค้าขึ้นชื่อของดอยแม่สลองที่ส่งไปขายถึงกรุงเทพฯและพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทยและไปไกลถึงประเทศไตหวัน จีน อเมริกาและยุโรป ที่แม่สลองเราจึงเห็นร้านขายชาผุดขึ้นเป็นจำนวนมากขนาบอยู่สองข้างทางตลอดสาย

การปลูกชาที่ดอยแม่สลองจะนิยมปลูกตามไหล่เขา มีทั้งพันธุ์พื้นเมืองและชารสดีที่นำพันธุ์มาจากไตหวัน ที่ขึ้นชื่อได้แก่ พันธุ์อู่หลง ว่ากันว่าชากว่าครึ่งในท้องตลาดบ้านเราล้วนแล้วมาจากดอยแม่สลองทั้งสิ้น ความมหัศจรรย์ของดอยแม่สลองไม่ได้ขึ้นชื่อในฐานะที่เป็นแดนดินที่ปลูกชาดีที่สุดเท่านั้น หากแต่ที่นี่ยังเป็นดินแดนแห่งซากุระหรือนางพญาเสือโคร่งที่สวยงามแห่งเดียวในประเทศไทย ทุกปีเมื่อถึงช่วงต้นเดือนมกราคม จนถึงปลายเดือนมีนาคม ตามริมสองข้างทางขึ้นดอยแม่สลองจะเต็มไปด้วยดอกซากุระ ผลิดอกออกใบชูช่อล้อลมหนาว เนื่องด้วยที่นี่มีสภาพอากาศที่หนาวเย็นและเอื้ออำนวยแก่การปลูกพืชดอกและพืชผลเมืองหนาว กระทั่งแม่สลองได้ชื่อว่าเป็น “ดินแดนแห่งฤดูใบไม้ผลิตลอดทั้งปี”
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น