จาก “โรงเรียนสตรีในคุ้มเจ้าหลวง” สู่ “โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ”

โรงเรียนสตรีในความอุปการะของเจ้าอินวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 8 เปิดทำการสอน ณ คุ้มเจ้าเรือนคำ ถนนแม่ข่า เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2449 มีนางเชย เป็นครูใหญ่คนแรก ต่อมาในปี พ.ศ.2457 ขุนอุปกรณ์ศิลปสาตร์ ธรรมการมณฑลพายัพ ดำเนินการให้เปิดทำการสอน ณ บริเวณบ้านพักธรรมการจังหวัดใกล้วัดดอกเอื้อง ต่อจากนั้นหลวงอนุภาณสิศยานุสรรค์ ธรรมการมณฑลคนต่อมาดำเนินการต่อ โดยมีนางจำรัส หงสกุล เป็นครูใหญ่
ปี พ.ศ.2458 ได้มีการตั้งโรงเรียนชายขึ้น ณ คุ้มหลวงข้างวัดดวงดี แล้วจึงย้ายไปบริเวณที่ตั้งโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยปัจจุบัน โรงเรียนสตรีจึงได้ย้ายไปแทนที่โรงเรียนชาย เปิดทำการสอนครั้งแรกในวันที่ 1 พฤษภาคม 2459 ตามคำสั่งมณฑลพายัพ สมัยขุนเชิดวิชาครูเป็นธรรมการใช้ชื่อว่า โรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพ “ยุพราชวิทยาลัย”ปี พ.ศ.2460 ได้รื้ออาคารเรียนที่วัดดวงดีไปสร้างใหม่ในที่ดินของอำมาตย์ตรีเจ้าราชบุตร เสนาคลัง บริเวณถนนพระปกเกล้าเป็นเจ้า (ถนนพระปกเกล้า) ตำบลศรีภูมิปัจจุบันคือวิทยาลัยอาชีวศึกษา โดยได้เปิดทำการสอนครั้งแรกในวันที่ 1 พฤษภาคม 2461จากนั้นในวันที่ 1 กรกฎาคม 2464 ได้ยกฐานะเป็น “โรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพ” มีนางเพิ่ม วิสณฑ์ดรุณการ รักษาการครูใหญ่ รับนักเรียนสตรีตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 1 และรับนักเรียนชายอายุไม่เกิน 12 ปีเต็มวันที่ 7 มกราคม 2471 สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้ทรงพระราชทานนามโรงเรียนชื่อ “วัฒโนทัย” และเสด็จพระราชดำเนินเปิดป้ายนามโรงเรียน พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้า กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินทรการศึกษาของโรงเรียนเจริญขึ้น แผนกสามัญจัดการสอนถึงชั้นประโยคบริบูรณ์หญิง แผนกฝึกหัดครูรับนักเรียนประจำเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรจังหวัด (ป.) และประกาศนียบัตรครูประถม (ป.ป.) ปี พ.ศ.2474 ธรรมการมณฑลให้รวมโรงเรียนสตรีประจำมณฑลและโรงเรียนสตรีประจำจังหวัด (โรงเรียนคำเที่ยงอนุสสรณ์ปัจจุบัน : ตั้งเมื่อ พ.ศ.2468) เริ่มรับนักเรียนประจำเข้าเรียนในแผนกสามัญต่อมาในปี พ.ศ.2476 ทางราชการเปลี่ยนแปลงระเบียบการปกครองส่วนภูมิภาค มีการยกเลิกการปกครองแบบมณฑล ยุบกองธรรมการมณฑล โรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพ “วัฒโนทัยพายัพ” จึงเป็น “โรงเรียนสตรีวัฒโนทัยพายัพ” แผนกสามัญเปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมปีที่ 8 เมื่อมีนักเรียนมากขึ้น บริเวณโรงเรียนคับแคบจึงได้ย้ายมาตั้ง ณ ที่ปัจจุบัน ซึ่งเดิมเป็นวัดร้างชื่อ “วัดสีเสียด” โดยเริ่มก่อสร้างตึกเรียนเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2481 ประกอบพิธีเปิดโรงเรียน ในวันที่ 21 มกราคม 2482 ระหว่างปี พ.ศ.2484 – 2488 เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ 2) โรงเรียนสตรีวัฒโนทัยพายัพ ถูกใช้เป็นสถานที่พักของทหารญี่ปุ่น โรงเรียนจึงต้องย้ายไปทำการสอนที่โรงเรียนฮั่วเอง โรงเรียนฮั่วเคี้ยว ถนนช้างคลานและโรงเรียนวัดพระนอนหนองผึ้ง (จันทราราษฎร์ประสาท) ตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี หลังเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ได้ย้ายกลับมาสอนยังที่เดิม จนกระทั่งวันที่ 8 กรกฎาคม 2517 จึงได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น “โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ” มาจนถึงปัจจุบัน

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น