การปกครองเชียงใหม่ในอดีต จาก “เจ้าหลวง” สู่ “ข้าหลวงมณฑล”

การปกครองของนครเชียงใหม่ในอดีต เป็นการปกครองในระบบ “เค้าสนามหลวง” อันหมายถึงที่ประชุมเสนาอำมาตย์ เป็นหน่วยบริหารราชการ ประกอบด้วยสมาชิก 32 คน อันมีเจ้าหลวง เจ้านายชั้นรองและขุนนางที่แต่งตั้งโดยเจ้าห้าขัน มีหน้าที่ตัดสินคดีความ จัดเก็บภาษี และต้อนรับแขกเมืองซึ่งเป็นการปกครองตามจารีตล้านนาที่มีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 1
ในสมัยนั้น “เจ้าหลวง” มีฐานะเป็นเจ้าชีวิตของคนทั่วไป มีรูปแบบที่ใกล้เคียงกับชีวิตกษัตริย์ ตำแหน่งเจ้าหลวงในเชียงใหม่เริ่มขึ้นในสมัยพญาจ่าบ้าน (บุญมา) หลังจากที่พญาจ่าบ้านได้ร่วมกับพระเจ้ากาวิละขับไล่พวกพม่าพ้นไปจากล้านนาแล้ว พระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสถาปนาพญาจ่าบ้านเป็นพระยาเชียงใหม่ ซึ่งนับเป็นเจ้าหลวงองค์แรกแห่งนครเชียงใหม่
การปกครองในระบบเจ้าหลวงที่มีอำนาจสิทธิ์ขาดเต็มที่ดำเนินสืบต่อมาจนถึงสมัยเจ้าหลวงอินทวิชยานนท์ เมื่อราชสำนักกรุงเทพฯ ได้ปฏิรูปการปกครอง รวมหัวเมืองประเทศราชล้านนาไทยขึ้นเป็นมณฑลพายัพ อำนาจของเจ้าหลวงเชียงใหม่ก็เริ่มถูกลิดรอน มีการแต่งตั้งข้าหลวงจากส่วนกลางขึ้นไปปรับปรุงระบบการปกครองและให้คำปรึกษาด้านราชการแก่เจ้าหลวง
ข้าหลวงคนแรกที่ทางราชสำนักสยามส่งขึ้นมาปกครองหัวเมืองล้านนาได้แก่ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร จากนั้นพระเจ้าอินทวโรรส เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 8 และพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงยกที่ดินซึ่งเป็นมรดกของพระองค์ให้แก่ทางราชการเพื่อสร้างศาลารัฐบาลมณฑล เพื่อใช้เป็นที่ทำการของข้าหลวงประจำมณฑลพายัพขึ้นเมื่อ พ.ศ.2462
ปีพ.ศ.2437 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้พระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิริยะศิริ) ภายหลังเป็นพระยามหาอำมายตยาธิบดี ปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย จัดการปกครองหัวเมืองมณฑลพายัพขึ้นเป็นครั้งแรก พระยาศรีสหเทพ ได้ร่างข้อบังคับสำหรับที่ว่าการเมือง จัดให้มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในแต่ละแคว้นขึ้นกับเมือง เรียกว่า “เจ้าเมือง” เจ้าเมืองขึ้นกับบริเวณ เรียกว่า “ข้าหลวงบริเวณ” และข้าหลวงบริเวณขึ้นต่อเค้าสนามหลวง มีการจัดเก็บเงินค่าแรงแทนเกณฑ์ เรียกว่า “เงิน
รัชชูปการ” เก็บคนละ 4 รูปี ต่อปี กระทั่งในที่สุดได้จัดทำตราเป็นพระราชบัญญัติ เรียกว่า “พระราชบัญญัติจัดตั้งมณฑลพายัพ”

กระทั่ง เจ้าหลวงอินทวิชยานนท์ถึงแก่พิราลัยในปีพ.ศ.2440 รัฐบาลส่วนกลางก็ยกเลิกอำนาจการปกครองของเจ้าหลวง ให้ข้าหลวงประจำเมืองทำหน้าที่แทน แต่ยังคงดำรงตำแหน่ง “เจ้าหลวง” เอาไว้เป็นเจ้าผู้ครองนครในล้านนาต่อไป ในที่สุดเมื่อสยามประเทศจัดรูปแบบการปกครองส่วนภูมิภาคเป็นแบบเทศาภิบาล คือรวมหัวเมืองหลายเมืองเข้าเป็นมณฑล ยกเลิกหัวเมืองประเทศราช เชียงใหม่และหัวเมืองต่าง ๆ ในล้านนาจึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพระราชอาณาจักรไทย และเมื่อเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์สุดท้ายถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ.2482 รัฐบาลกรุงเทพจึงได้ยกเลิกตำแหน่งเจ้าหลวง ถือเป็นการสิ้นสุดอำนาจการปกครองของเจ้าผู้ครองนคร หรือ “เจ้าหลวง” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น